ต่างประเทศอินโดจีน : คนยากจนแห่ง “ฮลาย ทายา”

ในปริมณฑลของเมืองใหญ่ระดับนคร, มหานครทุกแห่ง ต้องมีส่วนเสี้ยวที่ยากจนที่สุดของเมืองเจือปนอยู่ มากหรือน้อยเป็นอีกเรื่องนี้

ในกรณีของ “ย่างกุ้ง” ส่วนเสี้ยวที่ยากจนที่สุดของนครใหญ่ที่สุดในเมียนมาแห่งนี้ คือ “ฮลาย ทายา”

ในยามเศรษฐกิจย่างกุ้งรุ่งเรือง ฮลาย ทายา ย่อมพอมีกินมีใช้ แต่แน่นอนในยามที่ทุกอย่างทรุดตัว จ่อมจมลึกลงไปเรื่อยๆ ท่ามกลางภาวะที่ทุกอย่างชะงักงันไปจนหมด ฮลาย ทายา ย่อมจมก่อนและจมลึกกว่าพื้นที่อื่นๆ ของย่างกุ้ง

โควิด-19 ก่อให้เกิดสถานการณ์ที่ว่านั้นขึ้นกับผู้คนแห่งฮลาย ทายา

แม้ก่อนหน้าการแพร่ระบาด ประชากร 53 ล้านคนของเมียนมาก็ถูกตั้งข้อสังเกตไว้ค่อนไปในทางยุ่งยากลำบากอย่างยิ่งยวด

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจประเมินเอาไว้ว่า ราว 1 ใน 3 ของชาวเมียนมา ตกอยู่ในสภาพ “เสี่ยงสูง” อย่างยิ่งที่จะตกลงสู่สถานะ “ยากจน”

เมื่อเกิดการแพร่ระบาด “โอนาว เมียนมา” ทำโพลทั่วประเทศเมื่อเดือนเมษายน พบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรจำเป็นต้องหยุดงาน

ไม่ใช่ไม่อยากทำ ไม่ต้องการทำ แต่จำเป็นต้องหยุด เพราะไม่มีงานให้ทำ

อีก 25 เปอร์เซ็นต์จำเป็นต้อง “กู้ยืม” เพื่อให้มีเงินซื้อหาอาหารมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตนเองและครอบครัว

นั่นเป็นเพียงผลลัพธ์จากการแพร่ระบาดระลอกแรก ที่เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคม

 

ตอนนี้เมียนมากำลังเผชิญหน้ากับการระบาดรอบที่สอง ปริมาณผู้ติดเชื้อสะสมปาเข้าไปกว่า 40,000 คน

ที่ถูกโควิดคร่าชีวิตไป มีไม่น้อยกว่า 1,000 คน

สถานการณ์หนักกว่าระลอกแรกหลายเท่าตัว

รัฐบาลเมียนมา “เยียวยา” เหยื่อโควิดเป็น 2 รูปแบบ

แบบแรก คือการให้ความช่วยเหลือด้านอาหารการกิน ครั้งเดียวเลิก

อีกแบบที่ให้พร้อมๆ กันคือ เงินช่วยเหลือให้เปล่า คนละราว 15 ดอลลาร์ หรือแค่ 450 บาท รวม 3 ครั้งด้วยกัน

ความช่วยเหลือทั้งสองประการ ไม่เพียงแต่มีไม่พอสำหรับทุกคนเท่านั้น ยังไม่ทั่วถึงอีกด้วย

ที่ฮลาย ทายา แหล่งชุมชนยากจนที่สุดของย่างกุ้ง มีเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ได้รับความช่วยเหลือที่ไม่เพียงพอที่ว่านั้น

 

เมื่อมีนาคม ตอนเกิดการแพร่ระบาดระลอกแรก หม่า ซู แม่ค้าสลัดที่ตลาดฮลาย ทายา ต้องปิดแผง ยุติกิจการไปโดยสิ้นเชิงตามคำสั่งของทางการ

เธอแก้ปัญหารายได้ ด้วยการนำสร้อยทองและเครื่องประดับอื่นๆ เข้าโรงรับจำนำ

แต่พอการระบาดระลอกสองมาถึง พร้อมกับคำสั่งให้อยู่แต่กับบ้านอีกครั้งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หม่า ซู ต้องปิดแผงอีกครั้ง

คราวนี้เธอขายทุกอย่างที่มี ตั้งแต่เสื้อผ้าที่พอขายได้ จานชามและหม้อ

ระลอกนี้นานกว่า หนักกว่าครั้งแรกมากนัก ผลก็คือ เมื่อหมดเงินสำหรับซื้อหาอาหาร สามีคนงานก่อสร้างที่ไร้งานทำของหม่า ซู ก็ต้องทำอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน

นั่นคือ ด้อมๆ มองๆ หาสารพัดสัตว์ที่เคลื่อนไหวได้ในคูคลองระบายน้ำละแวกบ้าน มาทำเป็นอาหารยาไส้

หม่า ซู บอกว่า ไม่ใช่ว่าครอบครัวของเธอเพียงครอบครัวเดียวเท่านั้นที่ทำอย่างนี้

“ทุกคนพากันกินทุกอย่าง หนูเอย งูเอย” เธอว่า “เมื่อไม่มีเงินก็จำเป็นต้องหาทุกอย่างที่พอกินได้ จับมาใช้เป็นอาหารให้กับลูกๆ”

 

ยามนี้ ตกค่ำขึ้นมา ชาวบ้านในย่านฮลาย ทายา พากันออกมาส่องไฟฉายไปตามคูคลองระบายน้ำ หรือตามใต้ถุนบ้าน หาอะไรก็ได้ที่ช่วยลดทอนความหิวโหยของคนในบ้านลง

หนู กบ งู หรือแมลง เป็นอาหารที่คุ้นเคยกันในแถบหมู่บ้านชนบท

หม่า ซู ไม่เคยคิดมาก่อนว่า ถึงตอนนี้แม้เมื่อใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ก็จำเป็นต้องเสาะหามาใส่ท้อง ไม่สนใจว่าจะสะอาดหรือไม่ หรือสกปรกอย่างไร

ขอแค่ให้มีอะไรแก้หิว ให้สารอาหารกับตนเองและคนในครอบครัวก็เพียงพอแล้ว