เศรษฐกิจ / ท่องเที่ยวอันดามันครวญ ไกลฝั่งคืนชีพ อัดรัฐ…ซอฟต์โลนเหมาเข่ง เกาไม่ถูกที่คัน

เศรษฐกิจ

 

ท่องเที่ยวอันดามันครวญ

ไกลฝั่งคืนชีพ

อัดรัฐ…ซอฟต์โลนเหมาเข่ง

เกาไม่ถูกที่คัน

 

เศรษฐกิจภาคใต้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนักหนาไม่แพ้ภาคอื่นๆ และเป็นอีกภาคที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคนท้องถิ่น

จากการเปิดเผย 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ระบุว่านักท่องเที่ยวต่างชาติหายกว่า 90% สูญรายได้กว่า 4 แสนล้านบาทแล้ว

ช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐและเอกชนทำทุกอย่าง โหมมาตรการลด แลก แจก แถม หวังดึงคนไทยเที่ยวไทย ก็ไม่เป็นผล เรียกว่าห่างเป้าก็ว่าได้

เนื่องจากคนในประเทศระมัดระวังการใช้จ่าย และความกังวลหลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย ยังเถียงเรื่องความปลอดภัยของคนในประเทศ คนในท้องถิ่น และวัดไม่ได้ชัดว่าการนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (เอสทีวี) จากจีนเข้ามาแล้ว 200 คน กลุ่มนี้จะปลอดเชื้อจริง ก่อนนำไปสู่การพิจารณาเปิดรับนักท่องเที่ยวในระยะต่อไป

ดังนั้น ความคาดหวังเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่และจัดประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่จังหวัดภูเก็ต จึงจับจ้องถึงมติ ครม.จะได้เห็นอะไรบ้าง

อย่างลดวันกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มพิเศษ จาก 14 วัน เหลือ 10 วัน ก็ไม่มีในวาระครั้งนี้ อ้างต้องเข้าพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กลางเดือนพฤศจิกายนอีกครั้งก่อน

 

ก่อน ครม.ลงพื้นที่นั้น วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ ระบุว่า ภาคธุรกิจได้รวบรวมปัญหาและเสนอแนวทางช่วยเหลือเยียวยาต่อรัฐบาล เพื่อพยุงธุรกิจไม่ให้ล้มหากไม่ได้รับช่วยเหลือที่ตรงสุดภายในปี 2564 จะเกิดโดมิโนของธุรกิจคนไทย และอาจถูกผูกขาดด้วยทุนต่างชาติได้

ซึ่งข้อเสนอหลักขอให้เยียวยาและช่วยเหลือ คือ ขอรัฐพักชำระหนี้เงินต้นแต่คงจ่ายดอกเบี้ยอัตราไม่เกิน 2% ต่อเนื่อง 3 ปี และตั้งกองทุน 1 แสนล้านบาทช่วยเหลือภาคท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยวเป็นกรณีพิเศษเฉพาะฝั่งอันดามัน ซึ่งรับปากว่าธุรกิจจะไม่เลิกจ้างพนักงาน รวมถึงแผนพัฒนาและลงทุนโครงการพื้นฐานอีก 4-5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้เสนอประเด็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อที่ประชุม ครม.สัญจร ขอให้ภาครัฐขับเคลื่อนไทยแลนด์ กรีนรับเบอร์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยางไทยสู่สากล เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางยาพาราโลก และการเร่งผลักดันยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมมารีน่า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล อาทิ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% การแก้ไขประกาศกรมศุลกากร ให้เรือสำราญพำนักอยู่ในประเทศไทย สามารถจอดเรือได้เป็นระยะเวลา 3 ปี รวมถึงเรือที่เจ้าของเรือไม่ได้เข้ามาด้วย

ซึ่งไม่เกินคาด!!

บางเรื่องรัฐบาลได้รับไว้ และนายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับดำเนินการโดยด่วน หลักๆ ก็เน้นรับลูกการช่วยเหลือเกษตรกรและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามที่ได้อนุมัติไว้

 

อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยมติ ครม.สัญจรครั้งนี้ว่า รัฐรับข้อเสนอเกี่ยวกับการเยียวยาฟื้นฟูเป็นหลัก รวมถึงเรื่องการนำพาการท่องเที่ยวกลับสู่สภาพปกติและให้นักท่องเที่ยวได้กลับมาสู่พื้นที่จังหวัดอันดามัน เพราะถือเป็นความต้องการอย่างมากขณะนี้ และต่างชาติพร้อมเข้ามา

ดังนั้น มาตรการช่วยดำเนินการไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบสถานที่กักกันหรือการดูแลผู้ที่เข้ามาแล้วช่วง 14 วัน ต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่ได้ในประเทศไทยโดยที่ไม่มีปัญหาและไม่สร้างความกังวลให้กับคนไทยโดยรวม ถือเป็นเรื่องสำคัญ

อีกเรื่องสำคัญคือการเกษตร การพัฒนาคุณภาพชีวิต การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานและเรื่องอื่นๆ ที่ต้องดำเนินการ

โดยให้ดูว่าจะดำเนินการอย่างไรให้มีมาตรการออกมาเพื่อให้ทุกจังหวัดสามารถมองเห็นมาตรการที่รัฐบาลให้ความสำคัญโดยเฉพาะการลงพื้นที่เยี่ยมจังหวัดเพื่อฟื้นฟูทั่วประเทศ

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาเผยมาตรการด้านการเงินและด้านภาษี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยว ตามมติคณะรัฐมนตรีคือเห็นชอบแก้ไขปัญหาข้อติดขัดและขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างทั่วถึง และมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้

หลักๆ คือ

  1. ปรับเพิ่มวงเงินสินเชื่อต่อรายโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องของธนาคารออมสิน จากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย เป็นไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อต่อให้ผู้ประกอบการ ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี และขยายรับคำขอสินเชื่อถึง 30 มิถุนายน 2564
  2. ขยายขอบเขตคุณสมบัติของเอสเอ็มอีภายใต้โครงการ PGS Soft Loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยว ตามข้อหนึ่ง แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตามมาตรการดังกล่าว จากเดิม บสย.ค้ำประกันให้เฉพาะกับเอสเอ็มอีที่ได้รับสินเชื่อตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) เท่านั้น ทั้งนี้ บสย.คิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี ค้ำประกัน 8 ปี โดยเริ่มค้ำประกันต้นปีที่ 3 นับจากวันได้รับสินเชื่อ
  3. ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อ Soft loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท ออกไปถึง 30 มิถุนายน 2564 โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยว วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะกู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี

และ 4. ขยายรับคำขอสินเชื่อ Extra cash วงเงิน 10,000 ล้านบาท ถึง 30 มิถุนายน 2564 โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ปล่อยสินเชื่อรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นๆ วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะกู้ 5 ปี

โดยกระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการด้านการเงินและมาตรการด้านภาษี ช่วยเหลือภาคธุรกิจท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงและเพียงพอ

 

จากมติดังกล่าวก็ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเหมือนเดิม โดยเฉพาะการออกมาตรการแบบเหมาเข่ง ทุกธุรกิจทุกพื้นที่ได้เหมือนกัน ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดเอกชนเสนอว่าสิ่งที่รัฐทำไม่ตอบโจทย์และล่าช้าเกิน! โดยเฉพาะหอใต้มองว่าซอฟต์โลนจะได้ผลจริง ต้องเป็นกองทุนเฉพาะ ที่ไม่ได้อิงบน พ.ร.ก.เดิมๆ ที่ใช้อยู่ ดูจากที่ผ่านมา พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 4 แสนล้านบาทของรัฐบาลก็ปล่อยได้จริงแค่ 1.19 แสนล้านบาทเท่านั้น

      ก็ต้องดูว่าแนวคิด “ต่ออายุมาตรการแบบเหมาเข่ง” อีกครั้ง จะปั๊มหัวใจยื้อชีวิตธุรกิจภาคใต้ได้แค่ไหน ต้องติดตามตอนต่อไป