หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘เสือสอน’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ลูกเสือโคร่ง อายุราว 7 เดือน กับแววตาหวาดหวั่นของมัน เป็นช่วงเวลาที่มันเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากแม่ ก่อนออกไปใช้ชีวิตลำพังเมื่ออายุครบสองปี

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘เสือสอน’

สําหรับผม ในป่าคือ “โรงเรียน”

การไปทำงานในป่า ก็ไม่ต่างกับการไปโรงเรียนที่มี “ครู” มากหน้าผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาสอน

และคงไม่ผิดนัก ถ้าจะยกให้สัตว์ผู้ล่าอย่างเสือ อยู่ในตำแหน่งครูใหญ่

ผมโชคดีได้เรียนโดยตรงกับครูใหญ่ เมื่อได้รับโอกาสให้อยู่ในทีมศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง มีหลายครั้งที่ครูใหญ่สอน

ที่ผมนึกถึงบทเรียนนั้นเสมอๆ ไม่ใช่ครั้งที่ “ครู” กระโจนขึ้นคร่อมบนตัว ตีนข้างซ้ายตบเข้าที่แก้ม เพราะนั่นคือการสอนแบบเบาๆ เท่านั้น บาดแผลเย็บแค่สี่เข็ม กับโทษซึ่งก้าวเข้าไปใกล้เกินระยะอนุญาต

โรงเรียนนี้ การให้เกียรติและเคารพในระยะห่างระหว่างครูกับลูกศิษย์จำเป็น

 

แต่ครั้งที่จำได้ดี คือตอนที่ได้เรียนกับเสือโคร่งวัยรุ่นตัวผู้ อายุราว 7 เดือน น้ำหนัก 40 กิโลกรัมตัวหนึ่ง

มันนอนหมอบอยู่ข้างๆ ร่างของแม่ ซึ่งยังนอนเหยียดยาวเพราะฤทธิ์ยาสลบ มันพยายามใช้ตีนหน้าเขี่ยตัวแม่ เมื่อเห็นว่าแม่ไม่ขยับ ก็ก้มหัวลงดันๆ คล้ายจะปลุกให้แม่ตื่น ทำอย่างนี้อยู่นานพอควร จนแม่เริ่มขยับ โงหัวขึ้น และล้มตัวลงนอนอีก

ตอนนั้นเวลาเพิ่งผ่านมาเพียงสองชั่วโมง นับตั้งแต่พวกมันได้รับยาสลบ ต้องใช้เวลาอีกราว 2-3 ชั่วโมงนั้นแหละ แม่จึงจะฟื้นตัวดี และพอจะลุกขึ้นเดินไปจากบริเวณนี้ได้

ผมเดินเข้าไปใกล้ ใช้มือลูบขนนุ่มๆ ตัวแม่เบาๆ ตัวลูกขยับหนีอย่างหวาดระแวง

ผมวางมือบนตัวแม่ นี่เป็นโอกาสเดียวที่จะอยู่ใกล้ชิดเสือ กระทั่งสัมผัสตัวได้

เมื่อพวกมันฟื้นตัวจากฤทธิ์ยา โลกแห่งความเป็นจริงระหว่างเราจะกลับมา

 

แม่เสืออยู่ในสภาพสมบูรณ์ เขี้ยวและฟันแข็งแรง ส่วนลูกชายนั่น ขนาดตีนหน้าใหญ่เกือบเท่าตีนแม่แล้ว บอกให้รู้ว่า ไม่นานมันจะเติบโตเป็นเสือตัวใหญ่สง่างาม

ทุกๆ ครั้งที่ทำงานกับเสือ ขณะที่พวกมันยังไม่ฟื้นจากฤทธิ์ยา ยังช่วยตัวเองไม่ได้ สิ่งที่นักวิจัยคำนึงถึงและระวังอย่างมากคือ ไม่ต้องการให้มีอะไรเกิดขึ้นกับเสือ พวกเขาไม่ยอมให้มีอะไรผิดพลาด

ผมอยู่ในทีมซึ่งจะนั่งเฝ้าจนกระทั่งเสือแข็งแรงพอ และเดินจากไป

ท่ามกลางความมืดมิด สภาพอากาศตอนดึกเริ่มเย็น น้ำค้างหล่นกระทบใบไม้ดังเปาะแปะใกล้ๆ กับที่ผมนั่งอยู่ มีเสือโคร่งแม่-ลูก ซึ่งเริ่มฟื้นจากฤทธิ์ยาสลบ ลูกเสือ คง ยินดี

กลิ่นอายความรัก ความผูกพันที่เสือแสดงให้เห็น ครอบคลุมไปทั่วบริเวณ

 

หลังจากนี้ ลูกเสือตัวนี้จะดำเนินชีวิตไปตามวิถี มันกำลังเริ่มออกล่ากับแม่ เรียนรู้สิ่งต่างๆ เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียน แม้ว่าตอนนี้มันจะยังมีเพียงฟันน้ำนม จนกระทั่งอายุ 11-13 เดือน ฟันเขี้ยวน้ำนมจะถูกแทนที่ด้วยฟันเขี้ยวแท้ จนครบจำนวนเมื่ออายุ 16 เดือน

ช่วงเวลาแห่งการเรียนของมันคือ 2 ปี จากนั้น การออกจากอกแม่เพื่อไปดำเนินชีวิตลำพัง ตามวิถี จะเริ่มต้น

เป็นช่วงเวลาวิกฤตที่สุดของชีวิต ที่มันต้องผ่านพ้นไปให้ได้

บทเรียนที่เสือแม่-ลูกคู่นี้สอนในคืนนั้น ไม่ใช่เพียงความรักความผูกพันของพวกมัน

แต่เป็นแววตาอันหวาดหวั่นของลูกเสือ ตอนที่มันพยายามปลุกแม่

แววตาเช่นนี้ ในเสือที่โตเต็มวัย ย่อมไม่มีใครเห็น

ไม่ใช่เสือซึ่งเติบโตเต็มวัยแล้วจะไม่รู้สึกหวาดหวั่น

เพียงแต่มันรู้วิธีที่จะซ่อนเอาไว้ข้างใน…

 

อีกหนึ่งบทเรียนที่ครูใหญ่สอน และจำได้ดี

เป็นตอนที่นั่งเฝ้าเสือตัวผู้โตเต็มวัย ครั้งแรก ซึ่งมีโอกาสเช่นนั้น ระหว่างผมกับเสือไม่มีอะไรขวางกั้น มีเพียงความเชื่อมั่น อย่างที่นักวิจัยบอกว่า ไม่เคยมีเสือที่เพิ่งฟื้นจากฤทธิ์ยาสลบโจมตีคน

ผ่านไปกว่า 3 ชั่วโมง เสือเริ่มขยับ ลืมตา มันรู้ทันทีว่า ผมอยู่ที่นั่นมัน แสดงให้เห็นว่า รู้โดยอาการแยกเขี้ยว และส่งเสียงขู่

ถ้าจะพูดว่า นาทีนั้นเป็นการ “ฝึกสมาธิ” คงไม่ผิดนัก

ความรู้สึกหนึ่ง คือ เชื่อมั่นว่าเสือคงไม่เข้าโจมตี อีกใจหนึ่ง อยากขยับถอยให้ห่าง

การแยกเขี้ยวขู่ คล้ายจะดุดันมากขึ้น เมื่อมันแข็งแรงมากขึ้น

ผมยังนั่งนิ่งตอนที่เสือยืนมั่นคง

ด้วยอาการจ้องเขม็ง มันค่อยๆ ถอย และเดินจากไป

บทเรียนนี้สอนผมว่า เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ยึดถือในสิ่งที่ตัวเอง “เป็น” สำคัญ

 

ผมใช้คำว่า “เสือสอน” เพราะมีโอกาสดีที่ได้เรียนกับเสือ

บทเรียนของพวกมัน ไม่ได้สอนให้เป็นเสือ

การยึดถือ เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเป็น สำคัญกว่า

สิ่งหนึ่งที่ “เสือสอน”

คือ การ “ซ่อน” ความหวาดหวั่นไว้ข้างใน

บทเรียนนี้จะเข้าใจและทำได้ ก็เมื่อเติบโตเต็มวัยแล้ว