ภานุ บุญพิพัฒนาพงศ์ : “โยนีศิลป์” ศิลปินสาวผู้เปลือยร่างกายท้าทายสังคม (ตอน1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ถ้ายังจำกันได้ เมื่อต้นเดือนที่แล้วเคยกล่าวถึง วาเนสซา บีครอฟต์ ศิลปินที่ใช้ร่างกายเปลือยเปล่าของสตรีเพศ (หรือบุรุษบ้างบางที) ในการทำงานศิลปะไปแล้ว

ในคราวนี้จะใคร่ขอกล่าวถึงศิลปินอีกคนที่ใช้ร่างเปลือยในการแสดงออกทางศิลปะ หากเธอไม่ได้ใช้ร่างเปลือยของใครที่ไหน แต่เป็นร่างกายและเนื้อตัวล่อนจ้อนไร้อาภรณ์ของศิลปินเองนั่นแหละ

เธอผู้นี้มีชื่อว่า มิโล มัวเร่ (Milo Moire) ศิลปินแนวคอนเซ็ปชวลสาวชาวสวิส ลูกครึ่งสโลวักและสเปน ผู้เป็นที่รู้จักจากงานศิลปะแสดงสด (Performance Art) ที่ใช้ร่างเปลือยของตนเองเป็นสื่อในการแสดงงานศิลปะ

ปัจจุบันเธอพำนักและทำงานอยู่ในเมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี

ในวัยเด็ก การได้เห็นผลงานของศิลปินอย่าง เอ็ดเวิร์ด มุงก์, เคธี โคลวิตซ์, มาเรีย แลสนิก, ฟรีด้า คาห์โล, ฟรานซิส เบคอน และ เอช อาร์ กีเกอร์

เป็นแรงบันดาลใจให้เธอวาดรูปของตัวเองโดยใช้ร่างกายมนุษย์และความรู้สึกรับรู้ของพวกเขาเป็นหัวข้อหลักในการทำงาน ต่อมาเธอเข้าศึกษาด้านจิตวิทยาที่มหาวิสยาลัยเบิร์น ในสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากจบปริญญาโท

มิโลได้ฟังบทสัมภาษณของศิลปินแสดงสดชื่อดังอย่าง มารีนา อบราโมวิช ทางวิทยุ และประทับใจในความกล้าหาญและพลังอันเปี่ยมล้นในการใช้ร่างกายทำงานศิลปะของเธอ

มิโลจึงตัดสินใจที่จะอุทิศความรู้ทางจิตวิทยาและเรือนร่างของตัวเองเป็นเครื่องมือในการทำงานศิลปะ และเริ่มพัฒนาแนวคิดในการทำงานศิลปะแสดงสดของตัวเองขึ้น

โดยหยิบเอาเนื้อหาอันล่อแหลมของความลามกอนาจารแบบเดียวกับที่พบให้งานของศิลปินอย่าง พอล แม็กคาร์ธี, แคลอรี ชนีมานน์, วาลี เอ็กซ์พอร์ต และการ์ตูน Lost Girls ของ อลัน มัวร์ มาใช้

เธอเล่นกับประเด็นความล่อแหลมทางเพศ ความรู้สึกเป็นอื่นในร่างกายตัวเอง และความหมิ่นเหม่เหลื่อมล้ำของขอบเขตทางศีลธรรมในสังคม

1178179

มิโลเริ่มทำงานศิลปะแสดงสดด้วยร่างเปลือยมาตั้งแต่ปี 2007

แต่เธอเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากผลงานศิลปะแสดงสดในปี 2013 อย่าง The Script System ที่เธอปฏิบัติทางศิลปะด้วยการเดินเปลือยล่อนจ้อนออกจากบ้านไปขึ้นรถเมล์ โดยสารรถไฟ เดินทางร่วมกันฝูงชนขวักไขว่ที่ไปทำงานยามเช้าในเมืองดุสเซลดอร์ฟ โดยบนร่างกายมีเพียงถ้อยคำที่เขียนด้วยตัวหนังสือสีดำเอาไว้ว่า “เสื้อ”, “กางเกง”, “เสื้อนอก”, “ชุดชั้นใน” ฯลฯ

เป็นสัญลักษณ์แทนเสื้อผ้าที่เธอไม่ได้สวมใส่ และบันทึกวิดีโอเอาไว้

ผลงานนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากทฤษฎีทางจิตวิทยาที่กล่าวว่า พฤติกรรมมนุษย์โดยส่วนใหญ่ในสังคมจะมีรูปแบบคล้ายๆ กันราวกับมีบทกำกับเอาไว้ คนส่วนใหญ่ทำกิจกรรมซ้ำๆ เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องแบบเดิมๆ แทบทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินทางไปทำงานตอนเช้า เราทำสิ่งต่างๆ แทบจะเป็นอัตโนมัติ โดยไม่ใส่ใจต่อสิ่งรอบข้าง เราเดินขึ้นรถเมล์ ซื้อตั๋วโดยสาร นั่งรถไฟ

ลองคิดดูว่าถ้ามีผู้หญิงเปลือยล่อนจ้อนเดินเข้ามากลางฝูงชนโดยมีแต่ตัวหนังสือบนร่างกาย มันจะเกิดอะไรขึ้น?

น่าแปลกที่มันไม่ค่อยมีอะไรเกิดขึ้นเท่าไหร่ ไม่มีใครสนใจไยดีเธอ ทุกคนมองผ่านเธอไปราวกับการเปลือยกายของเธอสร้างเกราะป้องกันที่มองไม่เห็นขึ้นมา และทำให้ตัวเธอกลายเป็นมนุษย์ล่องหนไปในที่สุด

ความบอดใบ้ในชีวิตประจำวันเช่นนี้นี่เองที่เป็นสิ่งที่มิโลต้องการทะลุทะลวงมันด้วยการใช้งานศิลปะเปลือยๆ เป็นตัวกระตุ้นคนให้ฉุกคิดและเกิดคำถามขึ้น

ในปี 2014 เธอทำงานแสดงสดแบบเดียวกันนี้อีกครั้ง โดยการเปลือยกายล่อนจ้อนเหลือแต่ตัวหนังสือบนร่าง เดินทางไปงานนิทรรศการศิลปะที่เมืองบาเซิล (Art Basel) ที่สวิตเซอร์แลนด์

แต่เธอกลับถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปในงาน และไล่ตะเพิดให้กลับไปสวมเสื้อผ้ามาก่อน ถึงจะเข้าได้ (ใจร้ายว่ะ!)

1178175

มิโลกล่าวว่า การละทิ้งเปลือกนอกอย่างเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ห่มคลุม ทำให้ร่างกายมนุษย์เรียกคืนศักยภาพตามธรรมชาติดั้งเดิมในการสื่อสาร โดยเป็นอิสระจากสิ่งรบกวนอย่างฐานะ เงินทอง แฟชั่น อุดมการณ์ หรือแม้แต่เวลา ประสบการณ์ของผู้ชมงานศิลปะในที่สาธารณะที่มีปฏิกิริยาโต้ตอบหรือเพิกเฉยกับการแสดง เป็นองค์ประกอบอันสำคัญที่ขาดไม่ได้ในศิลปะแสดงสดของเธอ

เธอมองร่างกายอันเปลือยเปล่าของมนุษย์เป็นผืนผ้าใบและความเป็นไปได้ในการเข้าถึงตัวตน ด้วยการให้โอกาสตัวเองสัมผัสกับความเปราะบางและความแปลกแยก

เธอทำศิลปะแสดงสดด้วยร่างกายเปลือยเปล่าเพื่อมอบประสบการณ์อันจริงแท้และไร้การประนีประนอมให้เหล่าผู้ชมทั้งกลาย (ที่ในขณะเดียวกันก็เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของการแสดงด้วย)

1178176