“ทีม” นิสิตจุฬาฯ คนรุ่นใหม่ ปรารถนาเปลี่ยนแปลงโลกโสมม ให้น่าอยู่มากขึ้นกว่านี้

“ถึงคนที่บอกว่าประเทศเราดีอยู่แล้วจะเปลี่ยนอะไรอีก คุณจะต้องออกจากกะลาของคุณก่อน แล้วเปิดโลกให้กว้าง ว่าไม่ได้มีแค่เพียงพวกคุณที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้ ยังมีคนอีกหลายล้านคนที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการเมืองระบบเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันนี้เลย”

คำตอบจากทีม-ธีรภัทร อรุณรัตน์ นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปี 4 ที่มีต่อคนที่คัดค้านไม่อยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเทศ โดยมักอ้างว่าที่เป็นอยู่นี้ก็ดีอยู่แล้ว

ธีรภัทรในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านความคิดและเคลื่อนไหวทางสังคมในห้วงที่ผ่านมาอีกคนหนึ่ง มองสภาพสังคมที่มีคนที่มีแนวคิดดังว่ามันเหมือนกับหนังเรื่อง Parasite (ชนชั้นปรสิต)

ที่บอกว่า “ดี” ต้องถามกลับว่า คำว่าดีนี้มันดีกับใคร?

สมมุติว่าเกิดเหตุฝนตกขึ้นมา ชนชั้นบนก็จะบอกว่าอากาศดี มีลมพัด จะได้ตั้งแคมป์ที่สนามหญ้าหน้าบ้าน

แต่ขณะที่อีกชนชั้นหนึ่ง ต้องทนทุกข์น้ำท่วม หรือต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น

ฉะนั้น เวลาใครมาบอกว่าเวลานี้บ้านเมืองดีอยู่แล้ว ต้องถามไปให้ชัดว่า ดีกับใคร คนไหนได้ประโยชน์ ชนชั้นไหนได้ ชนชั้นไหนเสีย

“ผมว่านี่แหละคือแก่นของความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจ เมื่อชนชั้นหนึ่งที่ได้อยู่มากมาย แต่อีกชนชั้นกลับต้องถูกกดค่าแรงขั้นต่ำ เงินไม่พอกิน คุณภาพชีวิตไม่มี โหนรถเมล์ไปวันๆ ยิ่งอยู่พื้นที่ห่างไกลไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาที่ดี ไม่ได้เข้าถึงการรักษาสุขภาพที่ดี เจ็บไข้ได้ป่วยเดินทางยากลำบาก”

เมื่อถามว่าเราต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมนี้บ้าง

ทีมยกความจากกวีบทหนึ่ง ที่แต่งโดยผู้ใช้นามว่า Homo erectus เขียนรำลึกถึงการเสียชีวิตของไม้หนึ่ง ก.กุนที ท่อนหนึ่งเขียนไว้ว่า

เมื่อสถาบันประชาชนสถาปนา

ต่างรู้ว่าประชาชนคือคนนี้

ผู้ทุกข์ยากมากมายในปฐพี

ล้วนสร้างโลกอัปรีย์ให้โสภา

ทีมอธิบายว่า วรรคสุดท้ายมันคือใจกลางหลักของการต่อสู้ทั้งหมด รวมทั้งเป้าหมายของตัวเอง ที่อยากทำให้โลกโสมมนี้ มันน่าอยู่ขึ้น

ถ้าเรามีการศึกษาดี มีขนส่งสาธารณะที่ดี มีเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ถ้าเรามีระบบประกันสุขภาพที่กว้างขวางครอบคลุมการรักษาโรค คุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นกว่านี้ เข้าถึงได้หมด ผมคิดว่า นั่นแหละคือสิ่งอยากจะเปลี่ยนโลกที่มันไม่ดี ให้มันน่าอยู่มากขึ้นกว่านี้

นี่คือเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงสังคม ทำประเทศเราให้เป็นประชาธิปไตย สร้างให้มันเกิดเสรีภาพทั้งการเมืองและการแสดงออกเพื่อนำไปสู่ความเท่าเทียม

เป็นความปรารถนาส่วนตัว ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

“ในชีวิตผมมีอยู่ 3 จุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมสนใจการเมืองและอยากเคลื่อนไหว”

ทีมบอก ประการแรก ผมเองเป็นคนสงขลา ดินแดนแห่งอนุรักษนิยมเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่ช่วงประถมขึ้นมามัธยม เป็นคนที่ขยันเรียนดีคนหนึ่ง คงไม่ต่างจากเด็กคนอื่นๆ ที่ต้องปลอดจากการเมือง คิดว่าต้องขยันเรียนให้จบทำงานดีๆ มีครอบครัวหาเลี้ยงชีพ แล้วก็บังคับให้ตัวเองเรียนหนัก

จนกระทั่งมีเพื่อนมาถามว่าเรียนหนักไปเพื่ออะไร มันเป็นคำถามที่ย้อนใจผมมากๆ ว่า สุดท้ายแล้วจะหักโหมไปทำไม พอถามกับตัวเองอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่เหมือนเดิม

ประกอบกับผมเองเคยได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศไปสาธารณรัฐเช็ก (ซึ่งนี่ก็ถือเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่งเพราะที่บ้านก็พอมีเงินส่งไป) ซึ่งมันต้องใช้เงินพอสมควร พอไปถึงที่นั่นแล้วก็ได้สัมผัสกับอีกโลกหนึ่งว่าทำไมที่นั่นนักเรียนเขาอ่านข่าว ระหว่างรออาจารย์สอน ทุกคนมี iPad ไถ อ่านข่าวดู CNN BBC มันก็ได้มีโอกาสซึมซับอะไรหลายๆ อย่างจากที่นั่นมา

พอกลับมาที่ไทยมาเรียน ม.6 ก็เปลี่ยนนิสัย แล้วก็ตัดสินใจมาเรียนรัฐศาสตร์สาขาระหว่างประเทศ เพราะต้องการจะเชื่อมตัวเองกับโลก

ประการที่สอง คือการตาสว่างจากการอ่านหนังสือของอาจารย์ณัฐพงศ์ ใจจริง : ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ พอผมอ่านแล้วมันโล่งทุกอย่างเลย

ในอดีตผมเคยเรียนประวัติศาสตร์-เศรษฐกิจ-การเมือง ที่เราไม่เคยมีโอกาสศึกษาอีกด้านหนึ่ง นั่นคือความเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ต่อคณะราษฎร เห็นภาพหลายๆ อย่างชัดว่า ทำไมเราไม่ไปไหน พี่ก็บ่นกันทุกวันเรื่องรถติดน้ำท่วม ระบบราชการมีปัญหาการศึกษาไม่ดี ผมรู้สึกได้เลยว่าอะไรที่มันขัดขวางการพัฒนาบ้านเมืองนี้อยู่ ขัดขวางการที่ประชาชนจะเป็นใหญ่

ประการสุดท้าย คือการได้เรียนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขั้นพื้นฐาน ที่จุฬาฯ ที่มีเนื้อหาพูดถึงอะไรที่ขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย มีการพูดเรื่องของทุนนิยม การกดขี่ขูดรีดแรงงาน เราจะสร้างโลกที่เป็นธรรม โลกที่เท่าเทียมที่มีเสรีภาพมากกว่านี้ได้อย่างไร

นี่เป็น 3 จุดในชีวิตที่รู้สึกว่าพาตัวเองมาอยู่จุดนี้แล้วเห็นภาพอะไรชัดขึ้นหลายอย่างมาก เคลียร์ขึ้น ก็ดีใจที่ตัวเองมาอยู่ในจุดนี้ได้

สําหรับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ทีมบอกว่า ที่ผมสนใจเป็นพิเศษ เพราะผมเองมีโอกาสรับรู้การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงมาตลอดตั้งแต่สมัยที่ยังไม่รู้อะไรเลย ไม่ได้สนใจการเมือง ไม่ได้มีความคิดทางการเมืองของตัวเอง ก็มองมาตลอดว่า พวกนี้เผาบ้านเผาเมือง กลุ่มก่อการร้าย ทักษิณจ้างมา ถูกจัดตั้งมา

พอผมมาติดตามอะไรเยอะขึ้น ก็ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มีจ่านิว รังสิมันต์ โรม หลายครั้ง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพี่น้องคนเสื้อแดงเขามาร่วมชุมนุมด้วย ก็เห็นว่าเขาก็ไม่ได้มีภาพอย่างที่เราถูกปลูกฝังมา

เขาก็เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องหาสังคมที่ดีกว่า

ผมก็เริ่มศึกษาแล้วก็พบว่าประวัติศาสตร์หลายครั้งในบ้านเรามันเป็นรูโบ๋

เขากลับไม่นับขบวนการ 2553 ว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมในตำราประวัติศาสตร์

ด้วยความที่ตัวเองอยากจะหาโมเดลในการขับเคลื่อนผลักดัน ก็เห็นว่า 14 ตุลา มีคนพูดถึงกันเยอะ ทำไมย้อนไปนานจัง ก็มีแว้บหนึ่งที่เราคิดว่าแล้วเสื้อแดงล่ะ? ก็เห็นว่าเขาไม่ได้ต่างอะไรไปจากการต่อสู้ของยุค 14 ตุลาเลย

ที่สำคัญคือการได้ย้อนฟังคำปราศรัยเสียงจากดินถึงฟ้าของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผมรู้สึกว่าโคตรโดนเลย มันเหมือนเป็นการสรุปการต่อสู้ตั้งแต่ 2475 มาว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีเส้น พวกกูไม่มีเส้น เราเป็นแค่คนประชาชนธรรมดา เป็นเศษดินสำหรับเขาด้วยซ้ำไป พูดถึงฟ้าไปก็ไม่ถึง

ทำให้ในกิจกรรมที่นิสิตจุฬาฯ จัดเลยให้เครดิตคนเสื้อแดงและคำปราศรัยของอดีตแกนนำ นปช.ผู้นี้

ย้อนไปไม่นานก่อนคุณณัฐวุฒิเข้าเรือนจำก็ได้มีการให้สัมภาษณ์กับหลายช่อง มีอยู่ตอนหนึ่งที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการแสดงความน้อยอกน้อยใจ อย่างที่ อ.พวงทองเคยวิเคราะห์ว่า การต่อสู้ของพี่น้องเสื้อแดงถ้าเปรียบเทียบกับขบวนการนักศึกษาที่เกิดมาเมื่อต้นปี มันเหมือนกับว่าถูกทำให้ไม่เท่ากัน ในเชิงการมองจากสังคม ทั้งๆ ที่เป้าหมายจุดร่วมก็คือเรื่องเดียวกับที่นักศึกษาเคลื่อนไหวในตอนนี้ด้วยซ้ำ

ปี 2553 เขาต้องการยุบสภา ไม่ได้เรียกร้องอะไรที่เกินไป แต่ทำไมถึงถูกมองว่าคนชนบท คนชนชั้นรากหญ้า โดนกล่าวหาเป็นผู้ก่อการร้ายบ้าง

อีกนัยหนึ่งมันก็รู้สึกเศร้าใจที่มีการฆ่ากันกลางเมือง ไหนบอกว่าประเทศไทยสยามเมืองยิ้ม แต่ฆ่ากัน 99 ศพ ที่จนป่านนี้ไม่ได้รับความยุติธรรม แล้วมันก็จะสมานฉันท์กันไม่ได้ หาภราดรภาพไม่ได้ รู้สึกว่ามันบิดเบี้ยวไปหมด

ทั้งหมดนี้จึงกลับไปสู่คำถามแรกคือ ว่าอยากจะอยู่ในสังคมแบบไหน

คำตอบคือผมไม่อยากอยู่ในสังคมแบบนี้

ต่อมุมมองของคำยอดฮิตที่ว่า “ให้มันจบในรุ่นเรา” ทีมให้ความเห็นว่า มันคือการประกาศศักดาของยุคสมัย ผมคิดว่ามันมากพอแล้ว 88 ปีที่เราถูกกระทำย่ำยีมา เรายืนอยู่บนศพของใครบ้าง ระหว่างทางมีใครเสียชีวิตบ้าง

อีกแง่หนึ่งผมก็สนับสนุนนะ มันมากเกินพอแล้ว เราไม่อยากทนอยู่ในสังคมแบบนี้ อยากเห็นโลกที่มันดีกว่านี้ แต่ส่วนตัวคิดว่ามันไม่มีวันจบหรอก เป็นคนที่มีความหวังแต่ก็ไม่ได้มองโลกในแง่ดีจนเกินไป ซึ่งเรื่องแบบนี้มันสู้กันทั้งชีวิต จะล้มลุกคลุกคลานไปเรื่อย

สุดท้ายแล้วถ้าถามว่าหากเราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย? ผมก็คิดว่ามันก็ต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างสิ

ผมนึกถึงคำว่า พวกคุณพยายามกดเราให้จมดิน แต่เราคือเมล็ดพันธุ์ ผมก็คิดว่ามันอาจจะไม่ได้เห็นผลใน 1-2 ปีนี้ ไม่มีทางจบง่ายๆ อย่างน้อยก็ได้ทำลงไปแล้ว ดีกว่ามองย้อนกลับมาแล้วไม่ได้ทำอะไร อย่างนี้มองกลับมาก็ไม่เสียใจ

หากถูกกำจัด หากจะแพ้ก็ได้ลุกขึ้นสู้แล้ว

เราลุกขึ้นสู้ใหม่ได้อีก

ชมคลิป