E-DUANG : ​ศึกษา อดีต เดือนตุลาคม 2516 ​เปรียบเทียบ กับ ตุลาคม 2563

เห็นการจับกุม นายอานนท์ นำพา เห็นการจับกุม นายพริษฐ์ ชิวรักษ์ หลายคนอดที่จะหวนนึกถึงการจับกุม นายธีรยุทธ์ บุญมี นึกถึงการจับกุม นายวิสา คัญทัพ

การจับกุมเมื่อเดือนตุลาคม 2516 เพียงเพราะ นายธีรยุทธ์ บุญมี นายวิสา คัญทัพ เดินแจกใบปลิวเรียกร้อง”รัฐธรรมนูญ”

หนังสือพิมพ์ในยุคนั้นจึงสรุปเรียกว่าเป็น “กบฎรัฐธรรมนูญ”

มาถึงสถานการณ์นับแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมาจนถึงเดือนตุลาคม อันเป็นเหตุผลที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งข้อหาอันนำไปสู่การจับกุม

ไม่ว่าจะเป็น นายอานนท์ นำพา ไม่ว่าจะเป็น นายพริษฐ์ ชิว รักษ์ ความผิดอาจจะไม่มีข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนกับที่หยิบยกขึ้นมาในเดือนตุลาคม 2516

แต่ลักษณะ”ร่วม”ระหว่างเดือนตุลาคม 2516 กับเดือนตุลาคม 2563 ก็คือความเรียกร้องต้องการ”รัฐธรรมนูญ”เหมือนกัน

คดีอันเกิดขึ้นก็เป็นคดีที่ดำเนินไปในพื้นที่”คดีการเมือง”

 

เด่นชัดอย่างยิ่งว่า นายอานนท์ นำพา มิได้เป็นอันธพาลสันดานโหด ก่อการเข่นฆ่าต่อผู้ใดผู้หนึ่ง ยิ่ง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ยังเสมอเป็นเพียงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความเรียกร้องต้องการของพวกเขาเป็นความเรียกร้องต้องการ บนพื้นฐานในทางความคิดและในทางการเมือง

เขาไม่เห็นด้วยกับการที่มีการใช้กลไกแห่งอำนาจรัฐไปคุกคามการเคลื่อนไหวของประชาชน เขาไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นไปเพื่อการสืบทอดอำนาจ ไม่เป็นประชาธิปไตย

ในที่สุดแล้วเขาเรียกร้องให้เปลี่ยนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จากที่ร่างเพื่อการสืบทอดอำนาจให้เป็นการร่างเพื่อให้เป็นประ ชาธิปไตยอย่างแท้จริงและสมบูรณ์

แม้ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นไปตามแนวทางระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

นั่นก็คือ ยังอาศัยกลไกของ”รัฐธรรมนูญ”เป็นข้อกำหนด

 

ไม่มีใครตอบได้ว่าชะตากรรมของ นายอานนท์ นำพา ชะตากรรมของ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ จะดำเนินไปอย่างไร

แต่หากศึกษา “บทเรียน” จากประวัติศาสตร์ใน “อดีต”

ไม่ว่าจะเป็นอดีตเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าจะเป็นอดีตเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ก็สามารถได้คำตอบอย่างเด่นชัด

เพียงแต่ประวัติศาสตร์อาจไม่”ซ้ำรอย”ก็เป็นได้