“ชวน” เชื่อเปิดสมัยวิสามัญไม่รุนแรง “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ห่วงรัฐบาลโยนบาป-สุมไฟใส่ม็อบ

วันที่ 24 ตุลาคม 2563 นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการรักษาความปลอดภัยของรัฐสภาในระหว่างการประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภาวันที่ 26-27 ตุลาคม ว่า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภามองว่ารัฐสภาเป็นสถานที่ที่ตัวแทนของประชาชนเข้ามาทำงาน จึงเชื่อมั่นว่าประชาชนจะมองว่าตัวแทนของพวกเขากำลังเข้ามาแก้ปัญหาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นายชวนได้ส่งสัญญาณให้รัฐบาลว่า ควรจะยกเลิก เพราะจะทำให้กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนลดน้อยลง โดยให้รัฐบาลทำเรื่องขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญมายังสภาฯ ซึ่งรัฐบาลก็ทำเรื่องขอมา ทำให้ภาพลักษณ์ที่ออกมาดูดีกว่าการให้ส.ส.ขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญเสียเอง ดังนั้น เชื่อว่า ผู้ชุมนุมน่าจะเข้าใจว่า พวกเรากำลังทำงานให้กับประชาชน จึงไม่จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันเข้มข้นเข้มงวดเหมือนกับค่ายทหาร

สำหรับการรักษาความปลอดภัยภายนอกเป็นเรื่องของหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งอาจจะมีการจัดกำลังตำรวจมาที่รัฐสภา แต่ไม่เกี่ยวกับสภา เพียงแต่ได้ขอร้องว่าให้แจ้งให้สภาได้รับทราบด้วย ขณะที่มาตราการสำหรับกรณีที่ต้องอพยพต่างๆนั้น ฝ่ายความมั่นคงก็มีการวางมาตรการการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางบกและทางน้ำ

“ก้าวไกล” ซัดรัฐบาลใช้สภาสุมไฟปลุกม็อบชนม็อบ

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า การแบ่งเวลาอภิปรายให้พรรคร่วมฝ่ายค้านเพียง 8 ชั่วโมง ขณะที่ รัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และส.ว. ได้เวลารวม 15 ชั่วโมงนั้น ตนเกรงว่ารัฐบาลอาจจะใช้เวทีนี้เพื่อแก้ตัว เติมเชื้อไฟ ปลุกคนอีกกลุ่มขึ้นมา และอาจจะเป็นการพยายามขุดหลุมของฝ่ายรัฐบาลด้วยซ้ำ จากท่าทีการแสดงออกของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ไม่เห็นว่าจะรับข้อเสนอของผู้ชุมนุม และตั้งใจแก้ไขปัญหาเชิงลึกที่แท้จริง ตนจึงเกรงว่า การพูดคุยรอบนี้จะไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา อีกทั้งเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็เห็นว่ากำลังจะย้อนรอยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

“ชลน่าน” ห่วงรัฐบาลโยนปัญหาไปให้ม็อบ ไม่โทษตัวบริหารเหลว

เช่นเดียวกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย(พท.) และ.ส.ส.น่าน ให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 26-27 ต.ค.นี้ เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 156 ว่า เจตนารมย์ดูเหมือนจะเป็นทางออกเพื่อแก้วิกฤต มีรัฐสภาเป็นเวที พูดถึงปัญหาและ ฝ่ายบริหารนำปัญหาไปแก้ ก็จะเป็นทางออก แต่เมื่อตอนได้เห็นญัตติที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)เสนอมา แทบไม่หวังอะไรเลย แม้จะเป็นญัตติที่ทางครม.เห็นว่าเป็นปัญหาต่อการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ว่ามันเป็นปัญหาที่เกิดจากการชุมนุม เนื้อหาของญัตติจึงเขียนไปทำนองว่าปัญหาทุกอย่างเกิดขึ้นจากคนมาชุมนุม ไม่ได้เกิดขึ้นจากการบริหารงานของฝ่ายครม. ซึ่งเป็นการที่มองต่างมุมกัน ถ้าดูตามเนื้อหาในญัตติแล้วเหมือนกับการไปฟอกขาว เพราะว่าเวลาที่จะอภิปรายมาทั้งหมด 23 ชั่วโมง แต่ฝ่ายค้านได้เพียง 8 ชั่วโมง ครม. 5 ชั่วโมง ส.ว. 5 ชั่วโมง รัฐบาล 5 ชั่วโมง พูดง่าย 15 ต่อ 8 ชั่วโมง แทนที่จะเสนอแนวทางออกให้กับรัฐบาลว่าปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของคุณคืออะไรและเสนอการแก้ให้ แต่มันกับกลายเป็นว่าปัญหาในขนาดนี้เกิดจากการชุมนุมผู้ชุมนุมไปรบกวนขบวนเสด็จไปขยายความขัดแย้งว่าผู้ชุมนุมทำให้ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง มองประเด็นแล้ว แทนที่จะเป็นทางออกแต่กับกลายเป็นว่าไม่ใช่