เพ็ญสุภา สุขคตะ / อารักษ์ล้านนา : เจ้าหลวงคำแดง ณ ดอยหลวงเชียงดาว ตำนานสวมความเชื่อ หรือความเชื่อสวมตำนาน? (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เจ้าหลวงคำแดง ศูนย์รวมใจ
ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทขึน?

อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ นักวิชาการด้านล้านนาศึกษา ได้ตั้งคำถามว่า เหตุไฉนกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ถูกพระญากาวิละเกณฑ์มาจากรัฐทางตอนเหนือนอกแผ่นดินล้านนา กอปรด้วย ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทขึน ฯลฯ ให้มาเป็นประชากรใหม่กลุ่มใหญ่ในดินแดนล้านนา

ไยคนเหล่านี้จึงยอมรับนับถือ “เจ้าหลวงคำแดง” เป็นเทพารักษ์ของพวกตนอย่างรวดเร็ว แนบแน่น ไร้ข้อแม้

มีความผูกพันต่อเรื่องเล่าของเจ้าหลวงคำแดงดำดิ่งลึกซึ้งเสียยิ่งกว่ากลุ่มคนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมเสียอีก อันได้แก่ ชาวเม็ง ลัวะ กะเหรี่ยง และไทยวน

ราวประหนึ่งว่า เจ้าหลวงคำแดงเคยเป็นอารักษ์สำคัญของกลุ่มชนเหล่านั้นมาก่อนแล้วด้วยซ้ำ

ข้อสงสัยนี้ ทำให้อาจารย์เกริกตั้งประเด็นนำเสนอในที่ประชุม 2 ข้อ

ประเด็นแรก การที่พระญากาวิละตั้งใจยก “เจ้าหลวงคำแดง” ขึ้นมาเป็นเทพารักษ์หมายเลขหนึ่งของล้านนา ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นศูนย์รวมจิตใจกลุ่มคนที่เพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ใหม่ ใช่หรือไม่ เพื่อช่วยกันฟื้นฟูล้านนา ด้วยเหตุที่กลุ่มชนเหล่านี้ต่างมีอารักษ์ของตนมาก่อนแล้ว และจำนวนไม่น้อยมีชื่อว่า “เจ้าหลวงคำแดง” หรือชื่อในทำนองเดียวกัน

ประเด็นที่สอง น่าแปลกทีเดียว ที่ความเชื่อเรื่อง “เจ้าหลวงคำแดง” จากจุดเริ่มต้น มีกำเนิดมาจาก “ท้าวคำแดง” เมืองพะเยา มีสถานะเป็นถึงโอรสของพระญางำเมือง

แต่ชาวไทโยน (ไทยวน) และลัวะในล้านนากลับไม่ได้รู้สึกผูกพันต่อเจ้าหลวงคำแดงมากมายเท่ากับชาวไทลื้อ ไทใหญ่ ไทขึน?

 

การช่วงชิงพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
ระหว่างสองราชวงศ์

ประเด็นที่น่าสงสัยยิ่งไปกว่า และไม่ได้มีการหยิบยกมาถกภิปรายในเวทีเสวนาวันที่ 19 กันยายน ก็คือคำถามที่คาใจว่า ทำไมตำนานทุกฉบับที่เขียนเรื่องเจ้าหลวงคำแดง จึงไม่ใช้ชื่อ “พระญางำเมือง” ตรงๆ ไปเลย ในเมื่อต้องการจะสื่อถึงกษัตริย์เมืองพะเยาผู้เป็นพระราชบิดาของ “ท้าวคำแดง” แต่กลับใช้ “พระญาโจรณี”?

พระญางำเมืองเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ทั้งอายุสมัยของพระองค์และโอรสที่ชื่อ “ท้าวคำแดง” ก็ถือว่าร่วมสมัยกับประวัติศาสตร์หน้าแรกของการสร้างเมืองเชียงใหม่ ตามเนื้อหาที่ปรากฏในตำนานสุวัณณะคำแดงได้อยู่

แต่ตำนานกลับเลือกที่จะใช้คำว่า “โจรณี” ซึ่งมีความหมายในเชิงลบ

ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร วิทยากรอีกท่านในเวทีเสวนา ถอดความไว้ว่าหมายถึง “กษัตริย์ที่เคยเป็นโจรมาก่อนในอดีตชาติ”

ทำไมต้องจงใจใช้คำที่ส่อถึงการประณามหยามเหยียดกษัตริย์พระองค์นี้?

หรือ “เจ้าหลวงคำแดงแห่งเมืองพะเยา” องค์ที่มาตามกวางแถวดอยหลวงเชียงดาวนี้ จะไม่ใช่ “ท้าวคำแดง” ราชบุตรของพระญางำเมือง?

ประวัติศาสตร์กระแสหลักมิได้บันทึกถึงความสำคัญของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ระหว่างเชียงใหม่-เชียงราย-รัฐฉาน-จีน ผืนนี้ ว่าเคยมีการช่วงชิงดอยหลวงเชียงดาวกัน ระหว่างราชวงศ์ของพระญามังรายกับราชวงศ์ของพระญางำเมือง แบบตรงไปตรงมา หรือไม่อย่างไร

ทว่าสิ่งที่เราเห็นคือ การที่พระญาไชยสงคราม โอรสของพระญามังราย (ครองราชย์ 1860-1867) ได้เดินทางมาสักการะทำพิธีบวงสรวงเทวดาอารักษ์ที่สถิตยังขุนเขา ณ ดอยหลวงเชียงดาว

อีกทั้งชายาของพระองค์ยังประสูติราชกุมารชื่อ “ท้าวแสนภู” ที่นี่อีกด้วย

ต่อมากลายเป็น “พระญาแสนภู” (1867-870) กษัตริย์ล้านนาองค์สำคัญ พระองค์จำต้องประทับอยู่ที่เชียงแสนตลอดรัชกาล (แทนที่จะประทับในราชธานีเชียงใหม่) ทั้งนี้ก็เพื่อคอยปราบเสี้ยนหนามกับฝ่ายรัชทายาทสายราชวงศ์งำเมือง

สงครามระหว่างเชียงแสน-พะเยายุติลงในรัชสมัยของพระญาคำฟู (โอรสของพระญาแสนภู) ที่สามารถยึดพะเยาและบางส่วนของน่านให้มาอยู่ใต้อาณัติล้านนาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ประวัติศาสตร์สมัยล้านนาหน้าต้นๆ นี้ สะท้อนถึงความพยายามของราชวงศ์สองสายคือทั้งสายพระญางำเมือง (ผ่านโอรสนามท้าวคำแดง) และสายพระญามังราย (ผ่านโอรสนามพระญาไชยสงคราม) ที่ต่างก็มะรุมมะตุ้ม มีความคิดที่จะยึดครองขุนเขาที่ชื่อ “ดอยหลวงเชียงดาว” นี้ให้จงได้

และเชื่อว่าสายของพระญางำเมืองโดยโอรสชื่อท้าวคำแดงคงยึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญนี้ได้ก่อน

แต่ในที่สุดสายราชวงศ์มังรายเข้มแข็งกว่า น่าจะเป็นเหตุให้ลูกหลานของเจ้าหลวงคำแดง สายเมืองพะเยาต้องอพยพออกไปนอกดินแดนล้านนา

การที่ดวงวิญญาณของผู้วายชนม์ จักได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “เสื้อเมือง” “ผีอารักษ์” หรือ “นัต” ในวัฒนธรรมพม่าได้นั้น เกือบทั้งหมดต้องเสียชีวิตแบบกะทันหันไม่ทันตั้งตัว

ดวงวิญญาณของเจ้าหลวงคำแดงก็เฉกเดียวกัน หากท่านคือบุคคลคนเดียวกันกับโอรสของพระยางำเมืองจริง แล้วสามารถยึดครองดอยหลวงเชียงดาวได้ แต่ต่อมาถูกสายราชวงศ์มังรายขับไล่ไป คำเล่าขานเรื่องอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ คงกระจายตัวออกไปสู่การรับรู้ของกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ นอกดินแดนล้านนาอย่างกว้างขวาง

สู่รัฐฉาน อาหม สิบสองปันนา ล้านช้างบางส่วน และในที่สุดกลุ่มชนเหล่านี้เมื่อถูกพระญากาวิละเกณฑ์มาเป็นประชากรฟื้นล้านนาหลังจากที่ตกเป็นเมืองขึ้นพม่านานกว่า 217 ปี พวกเขาจึงได้นำเอาตำนานเรื่องเจ้าหลวงคำแดงหลากหลายเวอร์ชั่นที่แตกต่างกันไปในจุดปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ กลับคืนมาสู่ดินแดนล้านนาอีกครั้ง

ข้อมูลที่ยืนยันถึงความสำคัญของดอยหลวงเชียงดาวต่อการรับรู้ของกลุ่มชนต่างๆ ผู้อพยพมาอยู่ใหม่ในล้านนา ว่าพวกเขาได้ยินกิตติศัพท์ของเจ้าหลวงคำแดงมาก่อนหน้านั้นแล้ว และยินดีที่จะนำอารักษ์ของพวกตนมาร่วมเป็นภาคหนึ่งหรือบริวารของเจ้าหลวงคำแดง

หนังสือประวัติตำนานการค้นพบถ้ำหลวงเชียงดาว เขียนโดยพ่อครู “แสงทอง ริกา” ปราชญ์เมืองเชียงดาว บันทึกในปี 2491 เล่าว่า

“นายอุยอดชาวบ้านป่ามาน (ไทขึน) ที่อพยพมาจากเชียงตุงเล่าว่า เจ้าหลวงคำแดงได้เข้าสิงคนเชียงตุง โดยประกาศว่าบัดนี้เทพารักษ์ตามศาลต่างๆ ทั่วไปได้มาประชุมกันที่ดอยหลวงเชียงดาวหมดแล้ว จำนวนเทพที่ดอยหลวงเชียงดาวมีมากกว่า 140 ล้านตนเศษ”

นอกจากนี้ ยังมีฤๅษีอุคันธะ ชาวไทใหญ่ เดินธุดงค์มาจากเมืองจักกาย (สกาย-สะแคง) ในพม่า ได้มาวิปัสสนาที่ถ้ำหลวงเชียงดาวเมื่อปี 2456 ฤๅษีได้บันทึกไว้ว่า ถ้ำแห่งนี้เต็มไปด้วยเก้ง กวาง มีนักล่าสัตว์เที่ยวไล่ยิงโดยไม่ฟังเสียงเตือนของฤๅษี ฤๅษีจึงหนีไปอยู่ที่เมืองปายและไม่กลับมาอีก

ข้อความนี้สะท้อนถึงสัญลักษณ์เรื่องกวางคำ หรือเนื้อทรายทอง ที่เจ้าสุวัณณะคำแดงเคยไล่ล่าติดตามหานั้น ยังมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ณ ดอยลูกนี้

 

ธรรมนูญใหม่
ดอยหลวงเชียงดาว

จุดยุทธศาสตร์อันดับ 1

อาจารย์เกริกอธิบายว่า เมื่อ 500 ปีก่อนในยุคของพระเมืองแก้ว พ.ศ.2060 “โคลงนิราศหริภุญไชย” กล่าวถึง “อารักษ์ล้านนา” องค์สำคัญว่ามี “พระญามังราย” ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ เป็นวีรบุรุษที่อยู่ในความทรงจำของประชาชน โดยไม่มีการกล่าวถึงอารักษ์ที่ชื่อ “เจ้าหลวงคำแดง” แต่อย่างใดเลย กวีได้พรรณนาว่า

 

เห็นหอมังราชเจ้า สูงศักดิ์

ยังบ่ลืมอารักษ์ ราชไหว้

อังเชิญช่วยพิทักษ์ เทียมที่ คะนึงรา

ยามม่อนมัวแกมใกล้ ร่วมเร้าไชยบาล

อารักษ์อาราธน์เรื้อง มังราย ราชแฮ

เชิญส่งศรีทิพนาย หนึ่งร้า

เทียนทุงทีปจักถวาย เป็นส่วน บุญเอ่

จูงจ่องเมือเมืองฟ้า เสพสร้างสุราลัย

 

ทุกวันนี้ สถานะด้านอารักษ์เมืองเชียงใหม่ของพระญามังรายกลับถูกลดความสำคัญลงมาเป็นอันดับสาม รองจากอันดับแรกคือ เจ้าหลวงคำแดง และอันดับที่สองคือ เจ้าหลวงเมืองแกน (บริเวณอำเภอแม่แตง)

อาจารย์เกริกมองว่า บุคคลที่จักมีความกล้าหาญชาญชัยจัดระเบียบผีอารักษ์ของล้านนาใหม่ได้ทั้งหมด ก็คือพระญากาวิละเพียงองค์เดียวเท่านั้น

และมิใช่ว่าจู่ๆ พระญากาวิละนึกจะลุกขึ้นมาจัดระเบียบผีอารักษ์ล้านนาอย่างไร้เหตุผลไร้ขื่อแปก็หาไม่

แต่พระองค์ทำไปตามบริบทความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

เนื่องจากราว 200 กว่าปีก่อน พระญากาวิละได้เกณฑ์กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เข้ามาอาศัยกระจายอยู่ตามบ้านเล็กเมืองน้อยทั่วล้านนา

คนร้อยพ่อพันแม่ ต่างนับถือผีบรรพบุรุษและเทพารักษ์ประจำเผ่าตระกูลกันอย่างหลากหลาย

หากปล่อยให้ต่างคนต่างใหญ่ ไม่มีการจัดระเบียบเรียงลำดับ วันข้างหน้าก็อาจข่มเหงกัน

จึงจำเป็นต้องสร้าง “ธรรมนูญใหม่” หรือ “ธรรมนูญร่วม” กับคนหลากเผ่าหลายพันธุ์ที่ต่างก็มี “ผีอารักษ์” หรือ “เทพารักษ์” มาแต่เดิม

อาทิ บางเผ่ามีคติบูชา “เสาใจบ้าน” (อ่านเสาใจ๋บ้าน) ที่ผูกหลักไว้ 5 ต้น (โอกาสหน้าจักได้ขยายความเรื่องเสาใจ๋บ้าน เสาสะก้าง เสาอินทขีล อย่างละเอียดต่อไป) หรือบางกลุ่มเช่นชาวไทยอง นับถือ “เทวบุตรหลวง 4 ตน” ที่รักษาพระธาตุจอมยอง ก็นำแนวคิดการบูชาเทวบุตรหลวงเข้ามาด้วย เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเราเข้าไปตามหมู่บ้านต่างๆ ทั่วล้านนา จักเห็นบางแห่งตั้งเสาใจบ้าน บางแห่งมีแค่ “หอผี” “หิ้งผี” บางแห่งทำรูปปั้นผีปู่ย่าประจำตระกูล ส่วนในวัดพบหอท้าวทั้ง 4 โล่งๆ บางแห่งตั้งศาลเทวบุตร ที่มีตัวมีตน

การยกเอา “เจ้าหลวงคำแดง” ขึ้นเป็นประมุขของผีอารักษ์ทั้งมวล เป็นการให้คุณค่าแก่ดอยลูกที่สูงเป็นอันดับสามของล้านนาขึ้นมานี้ (คือไม่เลือกดอยอินทนนท์ ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 แต่อยู่ทางใต้ หรือดอยผ้าห่มปก สูงเป็นอันดับ 2) อาจารย์เกริกมองว่ามีมูลเหตุ 2 ประการ

ประการแรก ดอยหลวงเชียงดาวมีตำนานพระเจ้าเลียบโลกที่กล่าวถึง “อ่างสลุง” อันศักดิ์สิทธิ์มาแต่เดิมรองรับอยู่แล้ว อย่างน้อยตำนานนี้เขียนขึ้นราว 500-600 ปีก่อน ตำนานฉบับนี้มีความเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดชาวลัวะ ตรัสพยากรณ์ถึงบุคคลชื่อ “พระยาธรรมิกราชา” ผู้มีบุญญาบารมีว่าจะมาบังเกิดในดินแดนนี้ (หลายท่านเชื่อว่า หมายถึงพระญากือนา เนื่องจากสร้อยของท่านคือ ธรรมิกราชา)

ประการที่สอง ดอยหลวงเชียงดาว เป็นเทือกเขาสูงต้นกำเนิดแม่ปิงหรือแม่ระมิงค์ เป็นปราการด่านสำคัญที่แข็งแกร่งด้านทิศเหนือคอยปกป้องคุ้มครองเมืองเชียงใหม่ ซึ่งการยกทัพมารุกรานของพม่าหลายต่อหลายครั้ง มักเข้ามาทางฝางมากกว่าขึ้นมาจากเส้นจอมทอง-อินทนนท์

พระญากาวิละจึงมองเห็นความสำคัญของดอยหลวงเชียงดาวในเชิงต้านทัพพม่าด้วย

อารักษ์ล้านนาลำดับที่สอง อยู่ที่เมืองแกน (แม่แตง) ซึ่งตามภูมิศาสตร์แล้ว บริเวณนี้ยังขนานกับน้ำแม่ปิงก่อนไหลเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ เปรียบเสมือนปราการด่านที่สอง ชั้นรองถัดลงมาจากเชียงดาว

และหากมีภัยประชิดติดกลางเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาจริงๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ ก็จะมีอารักษ์องค์สำคัญคือพระญามังราย ผู้แข็งแกร่งคอยพิทักษ์ดูแลอีกชั้นหนึ่งที่ใจกลางเวียง

กล่าวโดยสรุป อาจารย์เกริกเชื่อว่า พระญากาวิละเป็นผู้ขมวดรวมเอาว่า “เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ” ของชาวล้านนา นอกเหนือไปจากพระรัตนตรัยแล้วนั้น อารักษ์ตนสำคัญที่สุดที่ควรได้รับการยกย่องให้ขึ้นเป็นประมุขก็คือ “เจ้าหลวงคำแดง” นั่นเอง

ดังนั้น การจัดสร้างศาลรูปเคารพเจ้าหลวงคำแดงที่กระจายตัวตามกลุ่มชนไทลื้อ ไทใหญ่ ไทขึน รวมทั้งไทยวน ในหลายพื้นที่จึงไม่ใช่เรื่องแปลก

แม้ต่างแยกกันนับถือรวมถึงอาจมีเรื่องเล่าที่ผิดเพี้ยนกันไปเล็กๆ น้อยๆ แต่ศูนย์รวมความศรัทธาทั้งหมดยังคงถูกตอกตรึงอยู่ที่ดอยหลวงเชียงดาว