E-DUANG :​​​ฝ่ายหนึ่ง ต่อสู้ หวนหาไปสู่อดีต ​​​อีกฝ่าย ต้องการก้าวหาอนาคต

เมื่อเผชิญกับปรากฏการณ์”เยาวชนปลดแอก” มีความพยายามที่จะจัดตั้งกลุ่มและองค์กรมวลชนจากอีกฝ่ายเพื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้

ไม่ว่าจะเรียกตนเองว่า”ทิศทางไทย” ไม่ว่าจะเรียกตนเองว่า”ไทยภักดี”

เด่นชัดว่า หากไม่เป็นกลุ่มบุคคลที่เคยแสดงบทบาทในยุคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ต้องเป็นกลุ่มบุคคลที่เคยแสดงบทบาทในยุคมวลมหาประชาชนกปปส.

กระนั้น เมื่อกลุ่มเหล่านี้ออกโรงเคลื่อนไหวที่เป็นจริง ณ เบื้องหน้าการชุมนุมของ”เยาวชนปลดแอก”ก็เกิดภาพเปรียบเทียบขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

เพราะกลุ่มที่เคลื่อนไหวเหล่านั้นไม่ว่าจะใช้ชื่อว่า”อาชีวะ” ไม่ว่าจะใช้ชื่อว่า”นักศึกษา”ก็มีความเด่นชัดในเรื่องวัยอันแสดงออกผ่านหน้าตาว่ามิได้เป็น”เยาวชน”

ความไม่สามารถดึงเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษาให้เข้าร่วมจึงกลายเป็นจุดอ่อนอย่างสำคัญ

 

นี่ย่อมตรงกันข้ามกับที่ปรากฏผ่านขบวนการ”เยาวชนปลดแอก” นั่นก็คือไม่เพียงแต่สามารถยื่นมือออกไปทำแนวร่วมกับ”คนเสื้อแดง”ซึ่งเคยเคลื่อนไหวต่อสู้มาก่อน

ดังเห็นได้จากภาพ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 16 สิงหาคม และที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 19-20 กันยายน

หากความน่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือ กรอบของ”เยาวชน”เองก็มิได้จำกัดอยู่แต่เพียงนิสิตและนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยเท่านั้น หากแต่ได้ลงลึกไปต่อ”นักเรียน”ตามโรงเรียนต่างๆ

เสียงร้องตะโกน”ออกไป ออกไป”อันดังกึกก้องในทุกการชุมนุมระยะหลังทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจึงเป็นเสียงร้องของเด็กๆมากกว่าเสียงของผู้ใหญ่

ยิ่งกว่านั้น เด็กๆกลับกลายเป็นผู้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น

คนที่กำหนดเกม กำหนดรายละเอียดในการชุมนุมแต่ละครั้งเป็นการกำหนดมาจากเด็กนักเรียนมากกว่านิสิตนักศึกษาด้วยซ้ำ

 

นับวันภาพการเคลื่อนไหวระหว่างคนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง กับคนที่ต้องรั้งดึงพัฒนาการในทางสังคมก็จะแยกแตกต่างกันอย่างเด่นชัดมากยิ่งขึ้น

เพราะว่าฝ่ายหนึ่งต้องการ”อนาคต”ที่จะต้องดีขึ้น

เพราะว่าอีกฝ่ายหนึ่งต้องการยุดฉุดรั้งให้สังคมถอยหลับไปสู่”อดีต”อันไกลอย่างยิ่ง

จุดต่างนี้กลายเป็น”เส้นแบ่ง”อย่างสำคัญในทาง”ความคิด”