จักรกฤษณ์ สิริริน : “อินโด” โชว์ Unicorn “ไทย” มีแต่ “ม้าป่วย”

ในโลกตะวันออก “จีน” เป็นชนชาติที่ใช้สัญลักษณ์ “ม้า” (? ออกเสียง “หม่า”) แสดงถึงความกล้าหาญ ขยัน อดทน ว่องไว พละกำลังมหาศาล

“ม้า” อุดมด้วยพลังหยาง มีธาตุไฟเป็นเรือน เป็นสัตว์ลำดับที่ 7 ในนักษัตรจีน (มะเมีย) ทิศประจำปีม้าคือทิศใต้

“ม้า” ถือเป็นสัญลักษณ์ของขุนนางและชนชั้นสูง หรือคนผู้มีชีวิตสุขสบาย

ทุกวันนี้การวัดอัตรากำลังวิ่งของรถยนต์ก็ยังดูกันที่ “แรงม้า” ซึ่งสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยที่ม้ายังเป็นพาหนะหลักของมนุษย์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถม้า 1 ตัวเท่ากับ 1 แรงม้า 8 ตัวก็เท่ากับ 8 แรงม้า

“จีน” จึงนิยมชมชอบ “ม้า” มาก มีภาพเขียนม้าและรูปปั้นม้ามากมาย ที่เชื่อกันว่าหากนำเข้ามาอยู่ในบ้านแล้วจะช่วยเสริมความกล้าหาญ ขยัน อดทน ว่องไว พละกำลังมหาศาล

 

ม้า 1 ตัว เปรียบเสมือน “ผู้นำ” เก่งกล้าสามารถ เป็นนักบริหารที่หาตัวจับได้ยาก

ม้าคู่ หรือม้า 2 ตัว หมายถึง สามี-ภรรยา พี่-น้อง หรือเพื่อนร่วมสาบาน เป็นอำนาจคู่ที่ช่วยประคับประคองกันและกัน

ม้า 3 ตัว เปรียบเสมือนกงสี ครอบครัวใหญ่ ที่ต้องร่วมแรงร่วมใจ พ่อ-แม่อาจสร้างบรรยากาศให้เกิดการแข่งขันกันเองในที

ม้า 5 ตัว คือการทำงานเป็นทีม ดุจองค์กรขนาดกลาง มีจ่าฝูง มีลูกน้อง มีบริวาร ที่ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ม้า 8 ตัว บรรษัทขนาดใหญ่ หรือระบบราชการ ที่ต้องการความสำเร็จจากทั้ง 8 ทิศ ดั่งกองทัพม้าที่มีพละกำลังล้นพ้น

คนจีนจึงนิยมนำภาพม้า 8 ตัว หรือรูปปั้น 8 ม้าเข้ามาในบ้าน หรือในกิจการ ร้านค้า เพื่อสื่อนัยถึงความกล้าหาญ ขยัน อดทน ว่องไว พละกำลังมหาศาล

ปรารถนาความสำเร็จอันยิ่งใหญ่

 

ส่วน “ม้า” ในโลกตะวันตกเป็นอีกความหมายหนึ่ง โดยเฉพาะ Unicorn

Unicorn ในความเชื่อของชาวยุโรป คือสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง และความงดงาม

Unicorn คือม้าสีขาว มีเขาเกลียว งอกออกมาจากหน้าผาก Unicorn โตเต็มที่ มีลักษณะสง่างาม

ส่วนลูก Unicorn ตอนแรกเกิดจะมีขนสีทอง และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเงิน ก่อนที่จะโตเต็มวัยด้วยขนที่ขาว

มีความเชื่อกันว่า เกลียวเขาของ Unicorn รวมถึงโลหิตและขนของ Unicorn คุณสมบัติทางเวทมนตร์สูง

Unicorn ก็เหมือนกับสัตว์ป่าทั่วไป รักสันโดษ และดุร้าย มีเพียงแม่มดเท่านั้นที่สามารถเข้าใกล้ Unicorn ได้ ส่วนมนุษย์ทั่วไปยากที่จะได้พบ Unicorn

ความที่ Unicorn เคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วว่องไว จึงยากที่คนธรรมดาจะจับมันได้

จึงมีเรื่องเล่าของชาวยุโรปเหนือ ที่ระบุว่า การจับ Unicorn นั้น ต้องใช้สาวพรหมจรรย์เป็นผู้จับ Unicorn

เพราะเมื่อมันได้กลิ่นสาวพรหมจรรย์ Unicorn จะลืมสัญชาตญาณป่าไปโดยชั่วคราวนั่นเอง

Unicorn สัตว์ลึกลับในตำนาน จึงถูกนำไปใช้เป็นภาพบนธง และตราสัญลักษณ์มากมายในยุโรป

โดยเฉพาะในราชสำนักต่างๆ ตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ มาจนกระทั่งยุคกลาง (คริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 15) และปรากฏมากในยุคเรอเนสซองซ์ (คริสต์ศตวรรษที่ 14 ถึง 17)

สรุปก็คือ ชาวตะวันตกถือว่า Unicorn เป็นสิ่งวิเศษ ซึ่งหากใครก็ตามได้รับยกย่องเปรียบเปรยจากคนอื่นว่าเขาหรือเธอคือ Unicorn ก็หมายถึงว่า ผู้นั้นกำลังอยู่ในช่วงแห่งความรุ่งโรจน์

 

ตามความหมายนี้ มีการอุปมาอุปไมย Unicorn ในหลากหลายวงการ ทั้งแวดวงศิลปะ ไปจนถึงสื่อสารมวลชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการธุรกิจ

มีการเรียกธุรกิจ Start-up ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์อเมริกาขึ้นไปว่า Unicorn

เกณฑ์การดูธุรกิจ Unicorn นอกจากสินทรัพย์ที่เกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว สามารถพิจารณาได้จาก

1. Consumer e-Commerce ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ให้บริการสินค้าอุปโภคและบริโภค

2. Consumer Audience ธุรกิจออนไลน์ที่บริการฟรี โดยผู้ประกอบการหารายได้จากการโฆษณาด้วยตนเอง

3. Software-as-a-Service ธุรกิจให้บริการซอฟต์แวร์เพื่ออำนวยความสะดวกในวิถีชีวิตสมัยใหม่

4. Enterprise Software ธุรกิจให้บริการระบบซอฟต์แวร์สำหรับการบริหารองค์กรขนาดใหญ่แบบครบวงจร

ในทวีปต่างๆ ทั้งยุโรป ออสเตรเลีย เอเชีย ละตินอเมริกา กระทั่งแอฟริกา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐ มี Unicorn เกิดขึ้นมากมาย

ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, YouTube, Twitter, Uber, Airbnb, Dropbox, Pinterest, Tumblr, LinkedIn, Evernote, Zynga ฯลฯ

 

แต่หากจะโฟกัสมาที่อาเซียนบ้านเราแล้ว มี Unicorn ไม่มากนัก

หนึ่งในนั้นคือ “อินโดนีเซีย”

ซึ่งถือเป็นข่าวใหญ่พอสมควรในช่วงที่ผ่านมา เมื่อ “อินโดนีเซีย” เปิดตัว 5 ธุรกิจ Start-up ระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หรือ 5 Unicorn

ประกอบไปด้วย

1. Gojek ธุรกิจบริการหลากหลาย Platform ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงิน Digital ศูนย์บริการทางโทรศัพท์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการจัดส่งพัสดุ และบริการรถส่งของ

2. Traveloka ผู้นำด้านธุรกิจรับจองเที่ยวบิน โรงแรมที่พัก และภัตตาคารร้านอาหาร ผ่านระบบ Online

3. Tokopedia บริษัท e-Commerce เหมือน Lazada Shopee Alibaba คู่แข่งตัวฉกาจของ Bukalapak

4. Bukalapak บริษัท e-Commerce เช่นเดียวกับ Tokopedia แต่ Bukalapak เป็นองค์กรเบอร์หนึ่งซึ่งใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย

5. OVO ธุรกิจบริการคล้าย Gojek แต่ OVO เน้น Platform การชำระเงิน Digital เป็นหลัก

 

การที่ 5 Unicorn ของ “อินโดนีเซีย” ได้รับความสนใจมากก็เนื่องมาจากปัจจัยสถานะของประเทศ “อินโดนีเซีย” เอง

ที่ถูกตรึงให้อยู่ในกลุ่ม “ประเทศกำลังพัฒนา” มานานหลายสิบปี

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการเป็น “ประเทศกำลังพัฒนา” นั้น ความหมายอีกนัยก็คือ การเป็นประเทศ “ผู้ใช้เทคโนโลยี”

ไม่ใช่ประเทศ “ผู้สร้างเทคโนโลยี” เหมือนชาติตะวันตก ที่เป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว”

เพราะชาติตะวันตกเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับการเป็น “ผู้สร้าง”

ดังนั้น ธุรกิจใดที่มีลักษณะ Pilot หรือ “ผู้บุกเบิก” ถากถางเส้นทางเดินให้กับผู้คน จะได้รับการยกย่องเสมอ

ชาติตะวันตกมักให้ความสำคัญกับ “ประโยชน์” หรือ Useful ที่ “ธุรกิจ” ได้สร้างให้กับสังคม ที่ไม่ใช่เฉพาะ “ในแง่ธุรกิจ”

หากแต่เป็น “ประโยชน์” ต่อวิถีชีวิตของผู้คน

โดยนัยของการเป็นประเทศ “ผู้สร้างเทคโนโลยี” คือ “ผู้สร้างนวัตกรรม” หรือ “สินค้า”

ดังนั้น มุมมองที่โลกมีต่อ “ประเทศกำลังพัฒนา” นอกจากการเป็นประเทศ “ผู้ใช้เทคโนโลยี” แล้วก็คือ ความโดดเด่นใน “ภาคบริการ”

เห็นได้ชัดเลยว่า 5 Unicorn ของ “อินโดนีเซีย” ไม่ว่าจะเป็น Gojek Traveloka Tokopedia Bukalapak หรือ OVO ล้วนเป็น “ธุรกิจภาคบริการ”

 

การ “พลิกมุมคิด” ครั้งใหญ่ของ “อินโดนีเซีย” ที่ผลักดัน “ธุรกิจภาคบริการ” ในยุค Digital ให้ทะยานไกลในระดับโลก กับ 5 Unicorn แบบนี้

ถ้าลงไปดูในรายละเอียด จะพบว่า “รัฐ” ให้การสนับสนุนแบบทุ่มทุนสร้าง ใจเกินร้อย

พลิกโฉม “ธุรกิจบริการ” ที่หลายคนดูถูก ให้กลายเป็น 5 Unicorn ธุรกิจ Start-up ระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หากนับเฉพาะภูมิภาคอาเซียน จากกรณี 5 Unicorn ของ “อินโดนีเซีย”

จะเห็นได้ว่า “อินโดนีเซีย” ได้ “ทะลุเพดาน” หรือสามารถพูดได้ว่า เขาใกล้จะหลุดจากกับดัก “ประเทศกำลังพัฒนา” ไปสู่สถานะ “ประเทศพัฒนาแล้ว”

ตามหลังสิงคโปร์ มาเลเซีย อาจรวมถึงเวียดนาม เผลอๆ ฟิลิปปินส์ และพม่าด้วยในอนาคต!

ปล่อยให้ “พี่ไทย” วนเวียนอยู่ในวังวน หรือ “วงเวียนชีวิต” เดิมๆ มาเกือบ 15 ปี นับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

เกาะกลุ่มอยู่กับ “อินโดจีน” เพื่อนตายมาหลายปี!

สภาพตอนนี้ อย่าว่าแต่ Unicorn เอาแค่ “ม้า” ในภาพวาดจีน ก็ยังเป็นไม่ได้

เพราะ “ม้าป่วย” นั้น ยากเยียวยาครับ!