“ดัชนีความสุข” กับประชาธิปไตย

Elementary school students and others take shelter during an evacuation drill in Oga, Aomori prefecture, northern Japan Friday, March 17, 2017. For the first time the Japanese government held an emergency drill aimed at protecting its citizens in case a ballistic missile is launched toward Japan. Over 100 residents and schoolchildren of the coastal city of Oga in Northern Japan participated in the Friday drill which lasted about half an hour. (Jun Hirata/Kyodo News via AP)

ช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนที่ผ่านมา มีรายงานน่าสนใจ 2-3 ชิ้นที่เกี่ยวข้องกับ “ความสุข” ความพึงพอใจของประชาชนในประเทศต่างๆ

ชิ้นแรกเป็นรายงาน “ความสุขโลกประจำปี 2560” ของเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีเอสเอ็น) ภายใต้สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งเผยแพร่ทุกวันที่ 20 มีนาคม ของทุกปีอันเป็นวันแห่งความสุขสากล

ผลการจัดอันดับปี 2560 จากทั้งหมด 155 ประเทศนั้น ประเทศที่คว้าตำแหน่งสุขที่สุด 10 อันดับแรก แทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย อาจเพียงแค่สลับตำแหน่งกันไปมา

และที่น่าสังเกตคือกระจุกตัวอยู่ในประเทศยุโรป โดยเฉพาะประเทศสแกนดิเนเวีย ดังนี้ อันดับ 1 นอร์เวย์ อันดับ 2 เดนมาร์ก (ปีที่แล้วอันดับ 1) อันดับ 3 ไอซ์แลนด์ 4 สวิตเซอร์แลนด์ 5 ฟินแลนด์ 6 เนเธอร์แลนด์ 7 แคนาดา 8 นิวซีแลนด์ 9 สวีเดน 10 ออสเตรเลีย

ส่วนประเทศยักษ์ใหญ่มหาอำนาจมีความสุขน้อยลงไป อาทิ สหรัฐอเมริกา อันดับที่ 14 เยอรมนี อันดับ 16 สหราชอาณาจักร อันดับ 19 ฝรั่งเศส อันดับ 31 ญี่ปุ่น อันดับ 51 เกาหลีใต้ อันดับ 56 จีน อันดับ 79 อินเดีย อันดับ 122

ขณะที่ประเทศไทยนั้น น่าสนใจไม่น้อยเพราะอยู่อันดับ 32 ของโลก ขยับขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งอยู่อันดับ 33

ซึ่งหากเทียบกับเอเชียด้วยกัน ไทยเป็นที่ 3 รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (อันดับ 21) และสิงคโปร์ (อันดับ 26)

และเมื่อเทียบกับชาติอาเซียน ไทยอยู่อันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ และยังติดอันดับที่ 19 ของโลก ในฐานะประเทศที่มีความสุขเพิ่มขึ้นมากที่สุด

ส่วนเพื่อนบ้านของไทย อันดับห่างจากเรามากโข กล่าวคือ มาเลเซีย อันดับ 42 ฟิลิปปินส์ อันดับ 72 อินโดนีเซีย อันดับ 81 เวียดนาม อันดับ 94 พม่า อันดับ 114 และกัมพูชา อันดับ 129

เจฟฟรีย์ แซกส์ ผู้อำนวยการเอสดีเอสเอ็น และที่ปรึกษาพิเศษของสำนักงานเลขาธิการยูเอ็น กล่าวว่า ประเทศที่มีความสุขวัดจากความสมดุลระหว่างความมั่งคั่ง ทุนทางสังคมที่หมายถึงการมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคมสูง ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง

และมีความเชื่อมั่นในรัฐบาล

เมื่อดูจากรายงานนี้แล้ว สิ่งที่บอกได้ชัดคือประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย คว้าแชมป์ความสุขในอันดับต้นๆ

แต่มีข้อยกเว้นและข้อน่าสังเกตด้วยเช่นกันว่า ประชาธิปไตยไม่ได้รับรองความสุขเสมอไป

เพราะไทยซึ่งอยู่ในช่วงเว้นวรรคประชาธิปไตยกลับมีความสุขเพิ่มขึ้นและอยู่ในอันดับรองจากฝรั่งเศส (31) เท่านั้น

ยิ่งเมื่อเทียบกับเอเชียด้วยกัน ไทยนำห่างประเทศประชาธิปไตยซึ่งมีฐานะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว อย่างญี่ปุ่น (อันดับ 51) และเกาหลีใต้ (อันดับ 56)

ส่วนจีนซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบบสังคมนิยม ก็กลับมีความสุขมากกว่าอินเดีย โดยจีนอยู่อันดับ 79 ขณะที่อินเดียประเทศประชาธิปไตยใหญ่สุดในโลกกลับอยู่อันดับ 122 แย่กว่าพม่า

ในอาเซียนด้วยกัน ไทยซึ่งมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจต่ำที่สุด ไม่ว่าจะเทียบกับมาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แต่กลับมีความสุขมากกว่า

ผลสำรวจนี้ยังสอดคล้องกับการจัดอันดับประเทศที่มีดัชนีทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก พูดอีกอย่างก็คือมีความสุขมากที่สุดในโลก ซึ่งจัดทำโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ก็ปรากฏว่าไทยคว้าอันดับ 1 ในฐานะทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก 3 ปีติดต่อกัน (2558-2560) รองลงมาคือสิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น โดยเกณฑ์ที่ใช้วัดคืออัตราการว่างงานต่ำ เงินเฟ้อไม่สูง

นอกจากนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ได้เผยแพร่ผลการสำรวจความพึงพอใจในชีวิตของเด็กวัยรุ่นวัย 15 ปีจำนวน 5.4 แสนคน ใน 72 ประเทศ

พบว่า เด็กญี่ปุ่นมีผลการเรียนทุกด้านสูงกว่าเฉลี่ยของโออีซีดีหรือดีที่สุดเหนือทุกประเทศ

แต่กลับมีความพึงพอใจชีวิตน้อยกว่าประเทศอื่นๆ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโออีซีดี

ส่วนเด็กไทยนั้นแม้ผลการเรียนจะตกต่ำลงทุกด้าน แต่กลับมีความพึงพอใจชีวิตและมีความสุขในโรงเรียนมากกว่าเด็กญี่ปุ่น

สาเหตุที่เด็กญี่ปุ่นมีความเครียดเป็นเพราะสังคมที่แข่งขันสูงตลอดเวลา เผชิญกับการกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียน ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างนักเรียนชายและหญิง

ส่วนเด็กไทยนั้นมีความสุขเพราะรู้สึกว่าชีวิตไม่ทุกข์ร้อนอะไร การกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียนมีน้อยกว่า และสิ่งสำคัญที่โออีซีดียกให้เป็นจุดเด่นของไทยคือมาตรฐานที่ดีเรื่อง “ความเท่าเทียม” ระหว่างนักเรียนชาย-หญิง ไม่ว่าจะมีภูมิหลังทางสังคมหรือฐานะอย่างไร

เด็กไทยค่อนข้างจะเท่าเทียมกันเมื่ออยู่ในโรงเรียน

ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ซึ่งล้วนเป็นประเทศประชาธิปไตยและมีระดับเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว มีความน่าสนใจอยู่ตรงที่ความผิดฝาผิดตัว

เพราะความมั่งคั่งและประชาธิปไตย ไม่ได้นำมาซึ่งความสุขในชีวิต ที่สำคัญสองประเทศนี้ครองแชมป์ฆ่าตัวตายมากที่สุดในโลก อันดับ 1 และ 2 มาโดยตลอด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเป็นเพราะความทุ่มเททำงาน ขยัน หวังผลเลิศ ทำให้พวกเขาเจริญทางวัตถุ ดังนั้น ในเสียก็มีดี ในดีก็มีเสีย

ปีที่แล้วมีผลสำรวจคนเกาหลีใต้ พบว่าคนในวัย 20-30 ปี เกือบร้อยละ 80 และคนวัย 40-50 ปี ร้อยละ 72.6 อยากย้ายไปอยู่ประเทศอื่น ด้วยปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่การแข่งขันที่สูงมากจนเกิดความเครียด ชีวิตการกินอยู่ที่แย่ เศรษฐกิจไม่เสมอภาค รัฐบาลไม่สามารถดูแลประชาชน

ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่คนไทยเมื่อมองจากภายนอกเข้าไป จะรู้สึกชื่นชม อยากไปอยู่ ไปเที่ยว โดยเฉพาะใครที่เป็นติ่งเกาหลีนั้นก็มักจะหลงภาพผิวเผินที่เห็นผ่านซีรี่ส์หรือเคป๊อป

ทว่า เมื่อมองไส้ในแล้วผู้คนส่วนใหญ่ก็ไร้ความสุข เพราะนอกจากเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมแล้ว ทั้งสองประเทศยังมีวัฒนธรรมบางอย่างที่เป็น “กรอบ” แข็งแกร่งแต่มองไม่เห็น ทว่า ก็ไม่มีใครกล้าฝ่าออกไป

จึงเกิดความเครียด

ทั้งเกาหลีและญี่ปุ่น มีระบบอาวุโสที่เข้มข้น รวมทั้งค่านิยมบางอย่างที่สร้างความเครียดในสังคมการทำงานมาก สวนทางกับความเป็นประเทศประชาธิปไตย อย่างที่เรามักได้อ่านข่าวบ่อยๆ ว่าคนญี่ปุ่นทำงานจนตัวตาย (ทั้งฆ่าตัวตายและตายเพราะเครียดจนร่างกายพัง) เพราะกฎหมายแรงงานมีความศักดิ์สิทธิ์น้อยกว่าวัฒนธรรมในองค์กร แม้จะถึงเวลาเลิกงานแล้วแต่ไม่มีใครกล้าลุกกลับบ้านก่อนเพราะกลัวถูกมองว่าไม่ทุ่มเท

ยิ่งเป็นผู้หญิงทำงานในออฟฟิศญี่ปุ่นยิ่งแล้วใหญ่ เพราะถูกคาดหวังให้อาโนเนะเรียบร้อยตลอดเวลา

การแต่งตัวประหลาดๆ ที่เรียกว่าคอสเพลย์ของคนญี่ปุ่นในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ฮาราจูกุ เป็นหนึ่งในหนทางระบายความเครียดของคนญี่ปุ่น (บางทีดูแล้วก็น่าสงสารมากกว่า)

มีบางคนพูดว่าญี่ปุ่นนั้นยิ่งพัฒนา ยิ่งนับวันจะกลืนกินตัวเอง จากประเทศที่เป็น “ความสำเร็จแห่งเอเชีย” พลิกผันมาสู่ประเทศที่เจอกับ “กับดักเงินฝืด” ร่วมสองทศวรรษ เพราะคนไม่กล้าจับจ่ายเนื่องจากหวาดกลัวอนาคต นักศึกษาที่เรียนจบรู้สึกสิ้นหวังในการหางานทำ คนสูงอายุถูกลูกหลานทอดทิ้ง จำนวนคนแก่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว ขณะที่มีเด็กเกิดใหม่น้อยมาก สุดท้ายปัญหาตอนนี้คือขาดแคลนแรงงานมากขึ้นถึงขั้นวิกฤต

ดังนั้น สำหรับประเทศไทยที่กำลังตั้งเข็มทิศจะเป็นประเทศที่หลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งมุ่งหน้าสู่ประเทศรวย จำเป็นต้องพินิจพิเคราะห์รักษาสมดุลระหว่างความมั่งคั่งกับความสุข เพื่อไม่ให้การพัฒนานั้นกลืนกินตัวเอง