การถ่ายทอดวิทยาการคือทางรอดของมนุษย์

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

คนตะวันตกและคนตะวันออกมีแนวคิดเรื่องการถ่ายทอดความรู้ต่างกัน

คนตะวันตกมักเขียนเป็นตำรา ส่วนคนตะวันออกใช้วิธีสอนกันแบบตัวต่อตัว

ตามทฤษฎีแล้ว การใช้ตำราย่อมขยายความรู้ได้มากกว่า ตำราเล่มเดียว คนอ่านเป็นแสนเป็นล้านก็ได้ การสอนแบบตัวต่อตัว หนึ่งต่อหนึ่ง ครั้งแรกได้สองคน คนสองคนสอนต่อก็ได้สี่คน จากสี่ก็เป็นแปด

สมมุติว่าเป็นการทำหมี่กรอบแบบโบราณที่ไม่ทอดหมี่พองฟู เห็นมีให้ซื้อหาได้อยู่สองแห่ง (ถ้าไม่นับตามบ้าน) คือหมีกรอบสูตรรัชกาลที่ 5 แถวตลาดพลู และหมี่กรอบ อาจารย์วิไลกุล ก็ไม่ทราบว่ามีการถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังหรือไม่ รุ่นลูกหลานเราอีกห้าสิบปี จะมีหมี่กรอบแบบนี้กินไหม

แต่ผู้เขียนเชื่อว่าอีกสองร้อยปีก็ยังจะมีแมคโดนัลด์และเคเอฟซีให้กินกัน

ก็ไม่ใช่เพราะอะไร มันคือการถ่ายทอดอย่างเป็นระบบของสังคมตะวันตกนั่นเอง

ที่จังหวัดน่าน มีการทอผ้าลายน้ำไหลโดยชาวไทยลื้อ ถามศิลปินทอผ้าว่ามีการจดไว้ไหมว่าทอลายอย่างไร ขึ้นบนลงล่าง ทางยืน ทางขวาง

ศิลปินหญิงอายุ 60 ที่ยังดูสาวกว่าอายุ พูดยิ้มๆ ว่าทำไปคิดไป ไม่ได้จดเอาไว้ ใครอยากได้ของแท้จากศิลปินท่านนี้ก็ต้องรีบจับจองเอาไว้ เพราะจะไม่มีอีกแล้ว เธอไม่ได้สอนลูกหลานไว้

การถ่ายทอดแบบตะวันตก เริ่มจากการค้นคว้าทดลองสูตร และวิธีการจนลงตัว เรียกว่า Best Practice เสร็จแล้วก็บันทึกไว้ เพื่อเผยแพร่ต่อไป องค์กรต่างๆ ก็นำไปใช้ เกิดมาตรฐานที่ดีขึ้นกว่าเก่า โลกใบนี้ก็ดีขึ้น เก่งขึ้น ฉลาดเร็วขึ้นแบบประหยัดเวลา

มารดาผู้เขียนชอบพูดในเรื่องการทำอาหารว่า ไม่มีใครสอนแม่ แม่ก็ทำแล้วก็รู้เอง จนได้ดี ลูกก็ต้องลองทำไป คุณแม่ขา ขอให้ลูกเรียนลัดหน่อยไม่ได้หรือ

แต่ก็นั่นแหละค่ะ อ้อนหน่อยเดี๋ยวเขาก็สอนให้

ฮาร์วาร์ด บิสเนส สกูล ที่โด่งดังเรื่องการสอนเรื่องธุรกิจ จะเอาความรู้มาจากไหน ถ้าไม่ใช่จากกรณีศึกษาที่เขาทำมาดีแล้ว จดเป็นตำราไว้ ให้คนมาเรียนรู้ด้วยการถกเถียงแล้วต่อยอด แล้วเก็บเงินคนเรียนแพงลิบลิ่ว

เมื่อครั้งกระโน้น ห้าสิบปีที่แล้ว เมืองไทยเคยมีไอศกรีมที่ผลิตในประเทศแค่ยี่ห้อเดียวคือโฟร์โมส ต่อมาหัวเรือใหญ่ยูนิลีเวอร์ที่เป็นคนไทยคนแรก คุณวิโรจน์ ภู่ตระกูล ได้บุกเบิกทำไอศกรีมยี่ห้อที่สอง คือ วอลล์ สำเร็จ ซึ่งฮาร์วาร์ด บิสเนส สกูล ก็เอาไปทำเป็นกรณีศึกษาว่าจะทำไอศกรีมยี่ห้อที่สองในตลาดที่มีผู้ครองตลาดอยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร

และฮาร์วาร์ด บิสเนส สกูล อีกเหมือนกันที่เกิดความทึ่งกับการส่งอาหารกลางวันในเมืองใหญ่ในอินเดียแบบที่เราเห็นในภาพยนตร์เรื่อง Lunchbox ว่าทำได้อย่างไร มีระบบโลจิสติกส์อย่างไรจึงสามารถรับอาหารจากพันๆ หมื่นๆ บ้านที่เมียทำปิ่นโตให้คนส่งอาหารที่เรียกว่า Tappawala ไปส่งถึงที่ทำงานของสามีในที่ไกลๆ ได้ตรงตามเวลา และไม่สลับปิ่นโตกัน มันเป็นเรื่องอัศจรรย์จนฮาร์วาร์ดฯ ต้องทำกรณีศึกษาไว้

แต่เรื่องนี้ไทยก็คงเอามาใช้ไม่ได้ เพราะภรรยาไทยก็ต้องทำงานนอกบ้านเหมือนกัน

และ street food มีมากมายให้รับประทานช่วงพักกลางวัน ไม่ต้องทำจากบ้าน

เรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เรื่องการย้อมผ้าด้วยวัสดุธรรมชาตินั้น คราวหนึ่งผู้เขียนค้นคว้าเรื่องนี้ ว่าเขาย้อมเขาทำอย่างไรไม่ให้สีตก หาตำราอ่าน ก็มีแต่ฝรั่งบันทึกไว้อย่างละเอียดลออ และพิมพ์อย่างง่ายๆ รูปเล่มไม่สวยงาม ไม่มีการจัดหน้าแบบที่ต้องใช้ art director หรือ designer แต่ก็เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มาก

คนไทยมีการทอผ้า และมีการย้อมผ้าแทบจะทุกหมู่บ้าน ในทุกภาค แต่ไม่มีคนไทยบันทึกความรู้ไว้ มีแต่ฝรั่งที่เข้าไปดูและบันทึกไว้

งานศิลปะเป็นเรื่องที่ถ่ายทอดยากกว่าวิทยาการสาขาอื่น แต่เป็นสิ่งที่ประเล้าประโลมใจให้มนุษย์มีความสุข ยิ่งนับวันงานศิลปะก็ยิ่งหย่อนความงามลงไป ด้วยความรีบเร่งของกาลเวลา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงอุทิศเวลาด้วยความอุตสาหะก่อตั้งศูนย์ศิลปาชีพ อบรมวิชาช่าง สถาบันแห่งนี้จะมีอนาคตเช่นไรต่อไป

กลับมาที่เรื่องอาหารและเรื่องสถาบัน เราเคยได้ยินชื่อ กอร์ดอง เบลอ (Gordon Blue) สถาบันสอนอาหารระดับโลกที่สืบทอดศิลปะการทำอาหารแบบฝรั่งเศส แม้แต่คนไทยก็ยังต้องเสียเงินเป็นล้านส่งลูกหลานไปเรียนกัน

แล้วอาหารไทยที่เป็นเลิศของโลกเล่า ไม่มีสถาบันเผยแพร่การทำอาหารไทยหรือ หรือว่าคนไทยหวงตำรา???

กอร์ดอง เบลอ ทำให้คนรู้จักวัฒนธรรมการกินแบบฝรั่งเศส คิดไปแล้ว นี่ก็ทำให้ไวน์ และเครื่องปรุงอาหารฝรั่งทั้งหลายทั้งปวง เช่น ชีส แฮม ก็ขายดีตามไปด้วย ถ้าไปดูตามซูเปอร์มาร์เก็ตระดับไฮเอนด์ในเมืองไทย แผนกอาหารต่างชาติเฟื่องฟูท่วมท้นมากมาย นี่ก็เป็นเพราะวัฒนธรรมการกินแบบตะวันตกที่ถ่ายทอดกันมา

ถ้ามีโรงเรียนสอนอาหารไทย เครื่องปรุงของไทยก็ย่อมจะขายดีตามไปด้วย

อาหารไทยคือพลังของเศรษฐกิจไทย และการถ่ายทอดภูมิปัญญาก็คือการต่อยอดให้มีพลังมากยิ่งขึ้น รัฐบาลไม่ทำ เอกชนทำเลยค่ะ แต่ขอให้เป็นสถาบันขนาดใหญ่ไปเลยถึงจะเติบโตได้เร็วแบบกอร์ดอง เบลอ