สมชัย ศรีสุทธิยากร | ถึงเวลาปฏิรูป กกต.

สมชัย ศรีสุทธิยากร

กรณีการให้ใบส้มผู้สมัครพรรคเพื่อไทยที่เขต 8 เชียงใหม่ และต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคำพิพากษายกฟ้อง อาจไม่ใช่กรณีแรกและกรณีสุดท้ายที่สังคมตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

กรรมการการเลือกตั้งมิใช่นวัตกรรมใหม่หรือหน่วยงานที่ไร้ประสบการณ์ในการทำงาน เนื่องจากตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 จวบจนปัจจุบันเป็นเวลาถึง 23 ปี

บุคลากรในสำนักงานสมควรเป็นผู้ที่มีความรู้ประสบการณ์ในการจัดเลือกตั้งมาอย่างดี

และจำนวนไม่น้อยที่โอนย้ายมาจากมหาดไทยซึ่งเป็นหน่วยที่เคยจัดการเลือกตั้งในอดีต

ในด้านตัวกรรมการการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ยิ่งคัดกรองบุคคลที่จะมาทำหน้าที่จนเป็นที่กล่าวขานว่าต้องมีคุณสมบัติขั้นมหาเทพ

หนำซ้ำผู้ร่างกฎหมายยังเขียนข้อความการคัดสรรบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ว่า

“มีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม และไม่มีพฤติกรรมยอมตนอยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ รวมทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ” (มาตรา 12 พ.ร.ป.กกต. พ.ศ.2560)

ตลอดจนการให้ กกต.มีเครื่องมือมากมายเพื่อจัดการกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นใบส้ม หรืองบฯ ราชการลับ

แถมอัดเบี้ยประชุมให้ กกต.ทุกครั้งที่มีการประชุมนอกเหนือจากการได้รับเงินเดือนแล้ว

แต่ผลของการทำงานที่ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ก่อให้เกิดคำถามจากสังคม

นับแต่การแบ่งเขตเลือกตั้งที่เอนเอียงจนมีรูปแบบเขตเลือกตั้งที่แสนพิสดาร เช่น กรณี เขต 2 จ.สุโขทัย

การวินิจฉัยเรื่องการระดมทุนจัดเลี้ยงโต๊ะจีนที่มีชื่อหน่วยงานราชการต่างๆ เป็นผู้สนับสนุนแต่ไม่พบความผิด

การมีผู้ตรวจการการเลือกตั้ง เกือบ 600 คน ใช้เงินกว่า 500 ล้านบาทที่ไม่เคยมีผลงานปรากฏ

การจัดการเลือกตั้งที่ขาดความโปร่งใส ไม่มีองค์กรเอกชนเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งแม้แต่เพียงหน่วยเดียว

บัตรเลือกตั้งจากต่างประเทศมาไม่ทัน

การเลือกตั้งเต็มไปด้วยการทุจริตซื้อเสียง แต่ กกต.จับไม่ได้ มองไม่เห็น

การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ปัดเศษที่เอื้อต่อพรรคขนาดจิ๋ว

การส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองที่เงินรายการเงินกู้โดยสร้างบรรทัดฐานเองว่า กู้มากผิด กู้น้อยไม่ผิด จนถึงเรื่องสุดท้ายคือการให้ใบส้มที่ขัดกับคำพิพากษาของศาล

ทั้งหมดจึงกลายเป็นคำถามว่า เหตุใด เมื่อบอกว่ารัฐธรรมนูญออกแบบมาดี แต่กลับกลายว่า ไม่ได้ผลตามปรารถนา การออกแบบผิด หรือคนปฏิบัติแย่กันแน่

เริ่มต้นจากกฎหมายที่ผู้ร่างขาดความเข้าใจ

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นผู้ยกร่าง มีหลายจุดที่ดูเหมือนจะนำไปสู่ปัญหาการทำงานของ กกต.ชุดปัจจุบัน

นับแต่เรื่องการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งหน้าที่เป็นกรรมการการเลือกตั้ง (มาตรา 8) ที่เน้นและเอนเอียงไปในทางให้โอกาสแก่ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งระดับสูง เช่นต้องเป็นหัวหน้าส่วนราชการไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็นศาสตราจารย์ไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นต้น

การให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง (มาตรา 28) ที่เข้ามาทำหน้าที่ในระหว่างที่มีการเลือกตั้ง เพื่อช่วย กกต.ในการสอดส่องดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม

การกำหนดคุณสมบัติขั้นสูงนั้น ทำให้ กกต.ขาดโอกาสที่จะได้คนดีมีฝีมือแต่ไม่ได้รับราชการ หรือรับราชการแล้วไม่ได้มีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ หรือไม่ได้เป็นหัวหน้าส่วนราชการ แต่เข้าใจกลไกของการจัดการเลือกตั้ง เข้าใจปัญหาการเมืองทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค ไม่มีโอกาสเข้ามาทำหน้าที่ในคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ได้เพียงข้าราชการระดับสูงซึ่งมีแนวโน้มของการเป็นข้าราชการที่คิดในกรอบ อยู่ในระบบ มีความเป็นอนุรักษนิยมสูง เข้ามาทำหน้าที่หลังเกษียณจากราชการ

ความริเริ่มใหม่ๆ ความกล้าหาญในการตัดสินใจจึงมีน้อย

 

การให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้งทำหน้าที่แทนคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ยิ่งเป็นความไม่เข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นอย่างยิ่ง

โดยไปคิดเพียงแค่อยากได้คนที่ไม่อยู่ในพื้นที่เพื่อไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองของนักการเมืองในพื้นที่

แต่กลับได้คนที่ไม่สามารถเข้าใจพื้นที่ ไม่รู้จักคน กลายเป็นคนแปลกหน้าแปลกถิ่นที่ไม่สามารถหาแหล่งข่าวใดๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจจับทุจริตได้แม้แต่น้อย

การรายงานเกือบทั้งหมดของผู้ตรวจการการเลือกตั้งคือ “เหตุการณ์ปกติ” ทั้งๆ ที่ชาวบ้านรู้ว่าการซื้อเสียงมีเต็มบ้านเต็มเมือง

กลไกสำนักงานที่ทำงานแบบราชการประจำ

คณะกรรมการการเลือกตั้งมิได้มีเพียงแค่กรรมการ 7 คนตามรัฐธรรมนูญ ยังมีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานกว่า 2,000 คน ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด บุคลากรเหล่านี้มีสถานะเป็นกึ่งราชการ คือเป็นพนักงานขององค์กรอิสระที่เป็นหน่วยงานของรัฐ มีความมั่นคงในตำแหน่งหน้าที่การงานและมีการสั่งสมประสบการณ์การทำงานมานานนับสิบปีตั้งแต่ ปี พ.ศ.2540

ความอยู่นาน ทำให้หน่วยงานมีความเป็นราชการสูง และมีแนวโน้มการทำงานเชิงรับมากกว่าเชิงรุก ไม่ริเริ่ม ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เสี่ยงกับการทำงานที่ตนไม่คุ้นเคย มีทัศนคติแบบทำน้อยผิดน้อย ดีกว่าทำมากมีโอกาสผิดมาก ดังนั้น จึงมุ่งจัดการเลือกตั้งให้เสร็จมากกว่ามุ่งจัดการเลือกตั้งให้ดี

นวัตกรรมหลายอย่างที่เคยริเริ่ม เช่น การเลือกตั้งทางอินเตอร์เน็ตสำหรับคนไทยนอกราชอาณาจักร การใช้เครื่องเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับคนในประเทศในพื้นที่ที่มีความพร้อม การใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อรายงานเหตุทุจริตการเลือกตั้ง และการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ ฯลฯ จึงถูกยกเลิกเพราะเกรงความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ การแจกใบเหลือง ใบแดง จึงมีน้อยในระดับที่เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีเลย

ดังนั้น ความมุ่งหวังว่า กกต.จะทำงานเชิงรุก เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการเมืองจึงเป็นไปได้ยาก หากขาดองค์กรสนับสนุนที่เอาจริงเอาจัง

การแทรกแซงทางการเมือง

ด้วยบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งที่กฎหมายกำหนด กกต.จึงมีบทบาทที่สามารถชี้เป็นชี้ตายในหลายเรื่อง ทั้งการประกาศผลการเลือกตั้ง การพิจารณาคำร้องเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งต่างๆ การวินิจฉัยความผิดของพรรคการเมืองก่อนส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรค บทบาทเหล่านี้หลายครั้งเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองไทย เช่น การเสนอยุบพรรคไทยรักษาชาติ การยุบพรรคอนาคตใหม่ การตัดสิทธิทางการเมืองของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ การไม่ดำเนินการใดๆ ต่อพรรคการเมืองอีก 31 พรรคที่มีการกู้ยืมเงินไม่ต่างจากพรรคอนาคตใหม่โดยให้เหตุผลว่า กู้ยืมในวงเงินที่ไม่ถึง 10 ล้าน ตลอดจนการตัดสินให้ใบเหลืองและใบส้มแก่ผู้สมัครพรรคการเมืองต่างๆ ตามที่ กกต.เห็นสมควร

อำนาจที่แปรผันสถานการณ์ทางการเมืองได้ ทำให้ฝ่ายการเมืองที่ต้องการความได้เปรียบในการเลือกตั้งต้องแทรกแซงการเมือง นับแต่เล่นกลการเขียนรัฐธรรมนูญให้การอยู่ต่อหรือไม่เพียงไรขององค์กรอิสระต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายลูก ซึ่งกลายเป็นว่ามี กกต.เพียงองค์กรเดียวที่ถูกเซ็ตซีโร่

องค์กรอื่นๆ ที่เขียนกฎหมายลูกตามหลังมีข้อยกเว้นสารพัด ทำให้อยู่ต่อจนครบวาระ

บางองค์กร เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากอยู่ครบยังเกินวาระเช่น อายุเกิน 70 ก็ยังอยู่ได้ หรือ ป.ป.ช. แม้จะมีคุณสมบัติต้องห้าม เช่น พ้นจากตำแหน่งการเมืองมาไม่ถึง 10 ปี หรือเคยดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่นมาก่อน ก็ยังดำรงตำแหน่งได้

ผู้เป็นเลขาธิการ กกต.ปัจจุบัน ก็ยังได้รับการคัดเลือกเป็นอันดับต้นๆ ของบัญชีรายชื่อสำรองผู้เป็นสมาชิกวุฒิสภาจากการคัดเลือกของ คสช.

หลายเรื่องที่เกี่ยวกับพรรคร่วมรัฐบาล จึงดูมีไมตรี ในขณะที่หลายเรื่องของพรรคตรงข้ามกลับทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็วยิ่ง จนเป็นที่มาของคำว่า “สองมาตรฐาน”

วันนี้ เสียงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง กกต.จึงดังขึ้น

นับแต่ให้สนใจดูเนื้อหาใน พ.ร.ป.กกต.ที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่

ไปจนถึงเสียงเรียกร้องให้ลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้มีการสรรหาคนใหม่ที่เหมาะสม

ไม่ใช่คนที่มาจากการสนับสนุนของ คสช.

เลือกเอาครับ

จะรักษาประคองอาการ

หรือถึงคราถึงผ่าตัดใหญ่