In the mi[d]st of pale breathe บันทึกห้วงขณะธรรมดาสามัญรอบตัวด้วยภาพเรืองแสง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
นิทรรศการ In the mi(d)st of pale breath

เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจ

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า In the mi(d)st of pale breathe

โดยวิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์ ศิลปินชาวกรุงเทพฯ ผู้จบการศึกษาจากคณะศิลปกรรม สาขาศิลปะภาพถ่าย มหาวิทยาลัยรังสิต และสถาบัน ?cole Nationale Sup?rieure d”Arts Paris-Cergy ปารีส ฝรั่งเศส

เขาเคยร่วมแสดงผลงานนิทรรศการเดี่ยวและกลุ่มในระดับนานาชาติทั้งในฝรั่งเศส, ไอร์แลนด์, แอฟริกาใต้, เดนมาร์ก, สิงคโปร์ และพนมเปญ เป็นต้น

นิทรรศการในครั้งนี้ของเขานำเสนอผลงานภาพถ่ายที่จัดแสดงในรูปแบบอันแปลกตา

คือแทนที่จะจัดแสดงผลงานภาพถ่ายในห้องแสดงงานที่มีแสงสว่างกระจ่างแจ้งให้เห็นชัดถนัดตา เหมือนในนิทรรศการภาพถ่ายที่เราเห็นทั่วๆ ไป

นิทรรศการ In the mi(d)st of pale breath

นิทรรศการของวิริยะกลับจัดแสงภายในห้องแสดงงานให้มืดสลัวรางเลือน และใช้เทคนิคพิเศษในการจัดแสดงให้มีแสงสาดส่องเฉพาะจุด

รวมถึงมีแสงเรื่อเรืองออกมาจากภาพถ่ายให้ผู้ชมมองเห็น ราวกับเป็นภาพเรืองแสงในห้องมืด

“งาม ง่าย ลึกลับ” สามคุณศัพท์ที่นักวิจารณ์ฝรั่งเศสใช้ประมวลผลงานชุดหนึ่งของวิริยะ

เขานำเสนอเรื่องราวธรรมดาสามัญรอบๆ ตัว ทั่วๆ ไป ด้วยมุมมองอันเปี่ยมเอกลักษณ์ โลกในภาพถ่ายของวิริยะไม่มีความหวือหวาหรือกระตุ้นเร้าผู้ชมด้วยเรื่องราวและประเด็นอันใหญ่โตอลังการ

หากแต่เป็นโลกธรรมดาสามัญอันสันโดษ นิ่งเงียบ จนแทบจะไร้สุ้มเสียง

แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความธรรมดาสามัญที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์เฉพาะตัว ลึกลับ พิศวง และน่าค้นหา

“ผมได้โจทย์ในการเริ่มต้นทำนิทรรศการนี้ในช่วงที่กักตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ตอนนั้นออกไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่กับบ้าน อยู่แต่ในสวน ก็เลยเริ่มสังเกตสิ่งรอบๆ ตัวแล้วก็ถ่ายภาพเอาไว้ หลังจากนั้นก็ออกมาเป็นนิทรรศการนี้ ผลงานชุดนี้เป็นเรื่องของวัตถุสิ่งของและปรากฏการณ์ทั่วๆ ไปที่เราเห็นทุกวัน แสงแดดที่ตกกระทบยอดตึก กำแพงแตกจนแสงอาทิตย์ส่องทะลุเข้ามา, วินาทีที่หนังยางลอยน้ำมาอยู่กึ่งกลางระหว่างกิ่งไม้กับเงาสะท้อนบนผิวน้ำ หรือแสงสว่างตกกระทบด้ามไม้กวาดที่วางพิงผนัง บางครั้งปรากฏการณ์ธรรมดาเหล่านี้ก็สามารถเปลี่ยนการรับรู้ของคนได้”

วิริยะเล่าถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้ของเขา

carrying softness#2 (2020)

“ตอนจัดวางผลงานในสภาพแวดล้อมของห้องแสดงงาน ผมนึกถึงประสบการณ์เวลาที่เราเข้าไปในลิฟต์แล้วทุกคนจะมีความรู้สึกว่าเราต้องเงียบกว่าปกติ รวมถึงความเป็นพื้นที่แคบๆ และมีแสงสลัวในนั้น ผมก็เอาไอเดียนี้มาเป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบบรรยากาศและการติดตั้งจัดวางผลงานในนิทรรศการ ให้มีความนิ่ง สงบเงียบ มืดสลัว สร้างพื้นที่ที่ทำให้คนมีสมาธิกับการดูงาน โดยไม่มีเนื้อหาประกอบภาพถ่ายอื่นใด เพื่อปล่อยให้ผู้ชมได้ใช้จินตนาการอย่างเต็มที่”

6 DEGREES BELOW HORIZON (2017)

“ถ้าเข้ามาดูผลงานในนิทรรศการนี้ จะสังเกตเห็นเลยว่าเป็นภาพถ่ายเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเราทั้งนั้น และส่วนใหญ่เป็นสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นชั่วคราว ถ้าเราไม่ทันสังเกตก็จะสูญหายไป การถ่ายภาพเป็นการบันทึกห้วงขณะอันชั่วคราวเหล่านั้นเอาไว้”

ส่วนชื่อนิทรรศการอย่าง In the mi(d)st of pale breathe นั่น มีที่มาจากภาพถ่ายที่วิริยะบันทึกภาพสิ่งที่ปกติไม่อาจมองเห็น แต่มีอยู่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อย่าง “ลมหายใจ” ของเขา

My breath #1 (2006)

“ภาพชุดนี้ชื่อ My breath (2006) ตอนนั้นผมอาศัยและเรียนอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวจัด ช่วงนั้นผมทดลองถ่ายภาพตอนกลางคืนด้วยฟิล์มสไลด์ และใช้แฟลชแรงๆ ภาพสองภาพนี้เคยเป็นภาพที่ผมโยนทิ้งไปเพราะคิดว่าใช้ไม่ได้”

“แต่พอกลับมาเพ่งพินิจมันอีกครั้งก็พบว่า สองภาพนี้ผมถ่ายติดลมหายใจของตัวเอง เพราะตอนนั้นอากาศหนาวมาก ผมถ่ายภาพไปก็หายใจไปด้วย พอยิงแฟลชสาดไปก็ติดอะไรขาวๆ ซึ่งก็คือหมอกควันของไอน้ำที่เราหายใจออกมา ผมก็รู้สึกว่า นี่แหละคือสิ่งที่เป็นหลักฐานว่าตัวเราเคยอยู่ตรงนั้นมาก่อน”

“การถ่ายภาพนี้ด้วยฟิล์มสไลด์ ซึ่งเป็นฟิล์มที่มีคุณสมบัติในการมองเห็นภาพได้ทันทีหลังจากล้างฟิล์มโดยไม่ต้องอัดรูป มีนัยยะถึงห้วงขณะอันฉับพลันนั้น และตัวฟิล์มสไลด์เองก็เป็นสิ่งที่กำลังจะหายสาบสูญไปตามยุคสมัยในปัจจุบันด้วย”

“ตัวนิทรรศการนี้พูดถึงสิ่งที่เบาบางเหมือนลมหายใจ ที่ใช้คำว่า “breathe” เพราะอยากให้รู้สึกถึงสภาวะของลมหายใจที่กำลังเข้า-ออกอยู่”

สิ่งที่น่าสนใจในนิทรรศการนี้ นอกจากผลงานภาพถ่ายสิ่งของและปรากฏการณ์ธรรมดาสามัญรอบๆ ตัวด้วยมุมมองอันแปลกตาน่าพิศวงแล้ว วิธีการจัดแสดงผลงานภาพถ่ายก็เป็นอะไรที่แปลกใหม่และน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

centre of reflection (2019)

ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งภาพถ่ายบนพื้นผิวของแท่นทรงกระบอกผ่าครึ่งและแผ่นไม้ดัดคล้ายท่อครึ่งวงกลมขนาดเขื่อง ที่มีรูปทรงเหมือนกับจะประกบเข้าหากันได้อย่างพอดิบพอดี ราวกับเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เก็บเอาห้วงขณะของเวลาอันแสนสั้นในรูปของภาพถ่ายไว้ภายใน

ภาพถ่ายบางภาพถูกจัดแสดงอยู่ในกรอบไร้ขอบ จนดูราวกับว่ามันกำลังล่องลอยอยู่บนผนังสลัวราง บางภาพถูกจัดแสดงในช่องสี่เหลี่ยมหรุบลึกเข้าไปในผนัง ส่องแสงเรืองรองราวกับเป็นหน้าต่างเปิดออกไปเห็นภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมภายนอก บางภาพถูกจัดแสดงอยู่บนพื้น ฝังอยู่ภายในก้อนพลาสติกใส ราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ติดดักอยู่ในก้อนอำพันที่ถูกแช่แข็งไว้ในกาลเวลา

“การจัดแสดงภาพถ่ายในลักษณะนี้ เกิดจากการทดลองในรูปแบบต่างๆ อย่างภาพชุด Fuel Spills (2019) ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของน้ำมันที่อยู่บนผิวน้ำ ที่ติดอยู่บนแท่นครึ่งวงกลมและแผ่นไม้ทรงโค้ง เกิดจากการที่ผมเอากระดาษชุบน้ำมันแล้วปล่อยให้มันแห้ง กระดาษภาพถ่ายก็ทำปฏิกิริยาจนโค้งงอตัวขึ้นมา ทำให้ผมรู้สึกเหมือนว่าธรรมชาติของกระดาษมันยังชีวิตอยู่ เลยตัดสินใจนำเสนอในรูปแบบนี้”

Fuel Spills#4 (2019)

“หรือการติดตั้งภาพถ่ายบนผนัง ผมจัดแสดงให้สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของพื้นที่แสดงงานที่มีความเป็นห้องสี่เหลี่ยมมืดสลัว เหมือนกับบรรยากาศภายในลิฟต์ ผมจึงจัดแสดงภาพถ่ายให้มีความวับๆ แวมๆ มีลักษณะที่เหมือนกับซ่อนตัวอยู่ในโครงสร้างสถาปัตยกรรมภายในห้อง การฝังภาพถ่ายลึกลงไปในผนังห้อง”

“ผมต้องการเปลี่ยนมุมมองการรับรู้ของผู้ชมให้รู้สึกถึงเรื่องของเวลา เพราะภาพถ่ายเหล่านี้เป็นการบันทึกภาพอดีต ก็ไม่ควรอยู่ในระนาบเดียวกับผนังห้อง”

นอกจากภาพถ่ายที่เป็นภาพนิ่งแล้ว ในนิทรรศการนี้ยังมีผลงานภาพเคลื่อนไหว ที่วิริยะตั้งกล้องบันทึกปรากฏการณ์ธรรมชาติ (และปรากฏการณ์จากกิจวัตรประจำวันของมนุษย์) จากสภาพแวดล้อมของสวนในบ้านของเขาในแต่ละช่วงเวลา ด้วยมุมกล้องแน่นิ่ง เนิบนาบ ปล่อยให้เหตุการณ์หน้ากล้องเคลื่อนไหวไปอย่างเชื่องช้า เรียบง่าย สามัญ หากแต่งดงาม

Garden surrounding (2016 -2020)

“งานวิดีโอจัดวางชิ้นนี้มีชื่อว่า Garden surrounding (2016-2020) ผมถ่ายภาพเคลื่อนไหวบันทึกเหตุการณ์ในสี่ช่วงเวลาของวัน อย่างช่วงเวลาที่แสงหักเหตกกระทบลงบนผิวน้ำสะท้อนขึ้นไปบนใบกล้วย, สายรุ้งที่เกิดจากการรดน้ำต้นไม้ หรือช่วงเวลาที่แมลงหวี่เริ่มบินออกมาใช้ชีวิต และใบไม้บนใยแมงมุมที่กำลังจะร่วงหล่นหายไป”

“สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ธรรมดาจนถ้าไม่สังเกตเราก็จะไม่มีโอกาสเห็นมัน งานชุดนี้จะมีเสียงประกอบที่หลานของผม (กฤติน สวัสดิ์ธนวณิชย์) ที่เป็นนักดนตรี กับเพื่อน (กันติทัต แช่มเกษม) มาช่วยทำดนตรีประกอบด้วยเสียงที่ดึงมาจากสภาพแวดล้อมในกรุงเทพฯ ผสมทำเป็นสุ้มเสียงและจังหวะใหม่ๆ ขึ้นมา”

จริงๆ ยังมีรายละเอียดของผลงานอีกหลายชิ้นที่เรายังไม่ได้เอ่ยถึง เพราะอยากให้ไปดูกันด้วยตาของคุณเองมากกว่า ดังคำกล่าวที่ว่า “ภาพบางภาพ แทนคำนับพันคำ” ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องบอกอะไรให้มากความไปกว่านี้ จริงไหมครับท่านผู้อ่าน?

นิทรรศการ In the mi(d)st of pale breathe โดยวิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน – 24 ตุลาคม 2020 ที่หอศิลป์เว่อร์ (Gallery VER), N22 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 22 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook @galleryver, อีเมล [email protected] หรือโทร 0-2120-6098

ขอบคุณภาพ/ข้อมูลจากหอศิลป์เว่อร์ บทความประกอบนิทรรศการโดยสายัณห์ แดงกลม