นักวิชาการ ชี้ ประกาศภาวะฉุกเฉิน ยิ่งเพิ่มระดับความปรปักษ์ระหว่างรัฐบาลกับปชช.

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะประธาน ครป. แสดงความเห็นกรณี รัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สลายการชุมนุม ระบุว่า

รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินประมาณตีสี่ และใช้กำลังสลายการชุมนุมตามมา แกนนำผู้ชุมนุมประกาศยุติการชุมนุม และนัดชุมนุมต่อที่ราชประสงค์ในวันที่ 15 ตุลาคม ส่วนแกนนำหลายคนถูกจับตัว

สถานการณ์ความขัดแย้งพัฒนาไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยการเปรียบเทียบในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่ารัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินค่อนข้างเร็ว

การประกาศภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลคิดว่าไม่สามารถใช้อำนาจธรรมดาในการจัดการกับการชุมนุม และนำอำนาจในภาวะฉุกเฉินมาใช้

แม้ว่าอำนาจฉุกเฉินเป็นอำนาจที่อนุญาตและรองรับการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมได้

แต่ผลสืบเนื่องหลังใช้มาตรการเหล่านั้นมีอย่างน้อยสามทางคือ 1. อาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว และไม่กล้าออกมาชุมนุมอีกต่อไป 2.อาจทำให้ประชาชนเกิดความขุ่นเคืองและไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้น และการชุมนุมขยายตัวออกไป 3. รัฐบาลที่ประกาศภาวะฉุกเฉินและใช้ความรุนแรงกับประชาชนมักอยู่ในอำนาจต่อไปได้ไม่นาน บางรัฐบาลยุบสภา บางรัฐบาลถูกรัฐประหาร และบางรัฐบาลลาออก

และนัยของการประกาศภาวะฉุกเฉินอีกอย่างหนึ่งที่คือการเพิ่มขึ้นของระดับความเป็นปรปักษ์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน