สุจิตต์ วงษ์เทศ/ละครชาวบ้าน วิจารณ์ท้าวพระยามหากษัตริย์

ละครนอกของคณะโขนธรรมศาสตร์ เรื่องสังข์ทอง ตอน "มณฑาลงกระท่อม" ใช้ตัวแสดงเป็นชายทั้งหมด บทเจรจา การแต่งตัวแบบละครในและแต่งฉากให้เหมาะสมกับเป็นละครชาวบ้าน ประกอบการสัมมนาเรื่อง "นาฏศิลป์และดนตรีไทยในชีวิตไทย" จัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2515 (ในภาพ) เจ้าเงาะชูผักผลไม้ถวายนางมณฑาที่เสด็จไปหาถึงกระท่อมปลายนา (จากหนังสือ ลักษณะไทย เล่ม 3 ธนาคารกรุงเทพ จัดพิมพ์ เมื่อ พ.ศ.2551)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ละครชาวบ้าน

วิจารณ์ท้าวพระยามหากษัตริย์

 

ละครนอกสมัยก่อนทำหน้าที่ผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคมและการเมือง ด้วยการวิจารณ์พระเจ้าแผ่นดินผ่านการละเล่นเสียดสีจักรๆ วงศ์ๆ โดยไม่ถือเป็นความผิด

ละครชาวบ้านมีรากเหง้ามาจากการละเล่นเพลงเรื่องของประชาชนทั่วไป ซึ่งมีลักษณะสำคัญอยู่ที่บทวิวาทหรือโต้ตอบระหว่างหญิงกับชายอันเต็มไปด้วยลีลาประชดประชัน เย้ยหยัน ถากถาง ล้อเลียน และเสียดสีอย่างถึงพริกถึงขิง

ครั้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการฟื้นฟูละครในราชสำนัก นอกจากเล่นตามแบบละครหลวงสมัยอยุธยาแล้ว ยังให้เล่นเรื่องของละครชาตรีด้วย แล้วถูกเรียกต่อมาว่า “ละครนอก” (ไม่พบชื่อนี้สมัยอยุธยา) บททะเลาะวิวาทต่างๆ ก็ตามไปด้วย

“ละครนอก” ชื่อนี้ไม่เคยพบหลักฐานสมัยอยุธยา เพิ่งพบสมัยรัตนโกสินทร์ ผมเสนอหลักฐานต่างๆ ไว้ในหนังสือ โขน, ละคร, ลิเก, หมอลำ, เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? (สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2563) เพียงบอกให้รู้ว่าข้อมูลหลักฐานที่ค้นมาเป็นอย่างนั้น แต่ใครไม่เชื่อก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อตามนั้น

 

เย้ยหยันท้าวพระยามหากษัตริย์

ละครนอกมีลักษณะเด่นอย่างหนึ่ง (ในหลายๆ อย่าง) คือเย้ยหยันท้าวพระยามหากษัตริย์หรือเจ้าเมือง (ซึ่งตรงข้ามกับละครในที่ยกย่องท้าวพระยามหากษัตริย์) ดังที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายไว้ในหนังสือ นาฏศิลป์ไทย (ธนาคารกรุงเทพ จำกัด จัดพิมพ์เป็นอภินันทนาการเนื่องในโอกาส ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีอายุครบ 6 รอบ เมื่อ 20 เมษายน 2526 หน้า 18-20) ดังต่อไปนี้

ละครนอกที่ชาวบ้านเขาเล่นดูกันนั้น ท้าวพระยามหากษัตริย์เป็นตัวตลกทั้งสิ้น ไม่มีความดีอะไรเลย ขี้ขลาดตาขาวสารพัด ท้าวสามลในเรื่องสังข์ทองก็เป็นตัวตลก ท้าวเสนากุฏในเรื่องสังข์ศิลป์ชัยก็เป็นตัวตลก ท้าวสันนุราชในเรื่องคาวีก็เป็นตัวตลก ขึ้นชื่อว่าพระเจ้าแผ่นดินแล้วบทละครนอกเขียนให้เป็นตัวตลกหมด

และแม้แต่บทละครนอกซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์รักษาลักษณะของละครนอกไว้ครบถ้วน คือท้าวพระยามหากษัตริย์เป็นคนไม่ดี เป็นคนโลเลไม่แน่นอน เป็นคนตลกเลอะเทอะ

แต่คนดีที่เป็นพระเอกจะเป็นชาวบ้าน เช่น ไกรทอง ที่สามารถปราบตะเข้ตะโขงได้ เจ้าเมืองพิจิตรนั้นตะเข้ตัวเดียวก็ปราบไม่ได้ มืออ่อนเท้าอ่อน ส่วนเศรษฐีใหญ่มีเงินมีทองมากมายก็เอาไปใช้ซื้อลูกสาวจากตะเข้ที่มันคาบเอาไปไม่ได้ ต้องหันไปพึ่งไกรทองผู้เป็นวีรบุรุษใหญ่โต เป็นต้น

ท้าวสามนต์ในบทละครพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง ตอนตีคลี เมื่อพระอินทร์ “นิรมิตเหมือนมนุษย์ชาวพารา” ยกกองทัพ “ไปล้อมพาราท้าวสามนต์” อาการของท้าวสามนต์จะมีต่างๆ กันจนน่าหัวร่อดังต่อไปนี้

 

๏ เมื่อนั้น                                               ท้าวสามนต์ราชนเรนทร์สูร

หลับอยู่ไม่รู้เค้ามูล                                   แว่วเสียงสนมทูลก็ตกใจ

ผวาตื่นฟื้นตัวยังมัวเมีย                             งัวเงียโงกหงับหลับไปใหม่

นางมณฑาตื่นก่อนนอนไว                        หลงใหลทะลึ่งลุกปลุกสามี

ท้าวสามนต์ละเมอเพ้อพำ                         คิดว่าผีอำทำอู้อี้

ลุกขึ้นแก้ฝันขันสิ้นที                                เห็นจะดีหรือร้ายช่วยทายดู

นางมณฑาว่าไฮ้อะไรนั่น                          ยังจะมาแก้ฝันกันอยู่

เสียงคนอึงมี่ที่ประตู                                 เป็นอย่างไรไม่รู้เลยพ่อคุณ

ท้าวสามนต์หวาดหวั่นพรั่นพระทัย             เหลียวมาคว้าได้ดาบญี่ปุ่น

งกเงิ่นเดินด่วนซวนซุน                            เมียรุนหลังส่งตรงออกมา

 

บทท้าวสามนต์จะต้องเอะอะมะเทิ่งเลอะๆ เทอะๆ เงอะๆ งะๆ อยู่ตลอดเวลา ดังกลอนบทละครมักจะมีความคล้ายๆ กันว่า

 

๏ เมื่อนั้น                                               ท้าวสามนต์ตัวสั่นพรั่นนักหนา

ทำหน้าเซียวเหลียวดูนางมณฑา                 หูตาบ้องแบวเหมือนแมวคราว

……….

๏ เมื่อนั้น                                               ท้าวสามนต์เสียใจไม่ได้สิบ

พิไรร่ำโศกาจนตาลิบ                                แต่อุบอิบอู้อี้ขยี้ตา

……….

๏ เมื่อนั้น                                               ท้าวสามนต์ร้องรับให้ดีพ่อ

ตบมืออือเออชะเง้อคอ                              เห็นลูกเขยเป็นต่อหัวร่อคัก

ลุกขึ้นโลดเต้นเขม้นมุ่ง                             พลัดผลุงลงมาขาแทบหัก

มึนเมื่อยเหนื่อยบอบหอบฮัก                     พิงพนักนั่งโยกตะโพกเพลีย

ฉวยคนโทถมยามาดื่มน้ำ                          หกคว่ำสำลักแล้วบ้วนเสีย

หยิบบุหรี่จุดไฟไหม้ลามเลีย                      วัดถูกจมูกเมียไม่รู้ตัว

 

นี่แหละละครนอกสมัยโบราณทำหน้าที่เสียดสีจักรๆ วงศ์ๆ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคมโดยไม่ถือเป็นความผิด แต่ในทางตรงข้ามกลับได้รับยกย่องว่าเล่นดีวิเศษสนุกสนานทำให้ลืมทุกข์ยากจากปัญหาปากท้อง

 

จำอวดละคร ประท้วงขึ้นภาษีผักบุ้ง

สมัยอยุธยา จำอวดละครชาวบ้านเล่นเสียดสีสถานการณ์บ้านเมืองขณะนั้น เช่น ข้าราชการเก็บภาษีขูดรีดราษฎร เป็นต้น

แม้จะเกิดละครของหลวงแล้ว แต่ละครของชาวบ้านก็ไม่ได้ถูกตัดขาดให้ต้องอยู่โดดเดี่ยว เพราะราชสำนักมักเรียกละครชาวบ้านให้ไปเล่นในวังเป็นครั้งคราว มีคำบอกเล่าว่านายแทนกับนายมี เป็นตัวจำอวดละครได้เล่นแทรกประท้วงเรื่องขึ้นภาษีผักบุ้ง

ในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ นายสังมหาดเล็กชาวบ้านคูจามรับผูกภาษี กดราคาซื้อผักบุ้งแต่ถูกๆ แล้วขายขึ้นราคา ราษฎรที่เคยขายซื้อผักบุ้งมาแต่ก่อนก็ได้ความเดือดร้อน พากันไปร้องทุกข์ต่อข้าราชการผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครนำความขึ้นกราบทูลฯ ด้วยนายสังอ้างว่าทำภาษีเก็บเงินเข้าพระคลังหลวง

ครั้นอยู่มาพระเจ้าเอกทัศมีรับสั่งให้หาละครเข้าไปเล่น จะทอดพระเนตรแก้รำคาญพระราชหฤทัย นายแทนกับนายมีเป็นตัวจำอวดละครที่เข้าไปเล่นนั้นมีตอนหนึ่งพูดว่า “จะเอาเงินมาแต่ไหน จนจะตาย แต่เก็บผักบุ้งขายยังมีภาษี” ว่าอย่างนี้ถึงสองหนสามหน พระเจ้าเอกทัศได้ทรงฟังก็หลากพระทัย จึงโปรดให้ไต่ถามจำอวดทั้งสองคนนั้น ครั้นทรงทราบความตามที่เป็นมาก็ทรงพระพิโรธ มีรับสั่งให้เสนาบดีชำระเร่งเงินคืนให้ราษฎร ส่วนตัวนายสังนั้นเดิมมีรับสั่งจะให้เอาไปประหารชีวิตเสีย ต่อมาค่อยคลายพระพิโรธ จึงโปรดให้งดโทษประหารชีวิตไว้

นายแทนกับนายมีที่ว่าเป็น “จำอวด” ก็คือตัวตลกละครชาวบ้าน