รัฐบาลนี้หมดเวลาแล้ว ? เปิดใจหมอพรทิพย์ อะไรคือทางออกประเทศ และสิ่งอยากฝากนิสิต นักศึกษา

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภาบอกว่า ตัวเองเป็นคนมองบวก และเลือกงานที่ไม่ได้เป็นงานทำเงิน ตอนนี้อายุ 66 ปีแล้ว ตลอดเวลาที่รู้สึกว่าบ้านเมืองเจอทางตัน แต่ปรากฏว่าก็มีทางออกเสมอมา เพราะฉะนั้น ความเห็นที่จะตอบ เป็นความเห็นในมุมมองที่ว่าเราใช้ชีวิตอย่างไร จะมีทางออกให้ประเทศอย่างไร

มองว่าถ้าทุกคนหยุดมองคนอื่น แล้วมาสำรวจตัวเองก่อนว่าตัวเราคือใคร? แล้วเราอยู่ตรงไหน? สถานการณ์เป็นอย่างไร? สุดท้ายเราจะมองเห็นว่าจะมีทางออกหรือไม่

ก่อนอื่นต้องบอกว่า ทางออกประเทศตรงนี้จากมุมมองของหมอคือ ต้องดูภาพรวมทั่วไปเราจะเห็นว่ามันมีเรื่องของการเมือง ที่มีรัฐบาล มี ส.ส. มี ส.ว. แล้วก็มีประชาชน นี่คือภาพการเมือง

แต่ว่าประเทศไทยมีสิ่งพิเศษ คือมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ทรงปกครองมายาวนาน ต้องมองก่อนว่าทางออกของประเทศมันอยู่ที่เรื่องของรัฐบาล และสภา ส.ส., ส.ว. แล้วก็ประชาชนอยู่ข้างล่าง

3 ส่วนนี้เท่านั้น อย่าเพิ่งไปดึงข้างบนลงมา แล้วเราก็มองดูว่าตัวเราเองอยู่บทบาทตรงไหน มองว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หลักการคือการทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนได้รับสิ่งต่างๆ

สำหรับแก่นของประชาธิปไตยจริงๆ แล้ว ตัวเองได้ฟังจากอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เคยสอนมา มันไม่ใช่รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องเสียงข้างมาก ไม่ใช่เรื่องการปฏิวัติ

แต่แก่นคือเรื่องของความยุติธรรม ที่รัฐต้องอำนวยให้ประชาชนได้รับความยุติธรรม

ต้องอำนวยให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ ทั้งสิทธิและหน้าที่, มีความเท่าเทียมกัน

ถามว่าวันนี้เรามีความเท่าเทียมไหม ไม่

เราก็เห็นความเหลื่อมล้ำเต็มไปหมด

ประการต่อมา คือต้องมีความเป็นมนุษย์ และประการสุดท้ายคือรัฐจะต้องให้บริการด้วยคุณภาพและมาตรฐาน ถ้าเราเข้าใจแบบนี้ทางออกประเทศไทยเราจะมองออก

ฉะนั้น อย่าไปแตะสถาบัน ให้ดูแค่ตรงระดับรัฐบาล ส.ส., ส.ว.

การบริหารอะไรก็ตาม ที่ให้ประชาชนได้เข้าถึง 5 ข้อที่ว่ามา ถามว่ารัฐธรรมนูญช่วยหรือไม่ ดูเรื่องคุณภาพของคน คุณภาพของรัฐบาล คุณภาพ ส.ส.นี้ต่างหากคือฟันเฟืองสำคัญ ที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึง 5 ข้อที่กล่าวมา

วันนี้ถ้าประชาชนมองว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ หมอตอบเลยว่า ไม่ได้ทำให้ได้คนที่ดี อย่าพูดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ได้รัฐบาลที่เป็นคนดี ขอตอบเลยว่า ไม่ต่างจากรัฐบาลชุดอื่นๆ

ถามว่าการแก้ ส.ว.แล้วจะทำให้แก้ปัญหาทั้งหมดหรือไม่

คำตอบก็คือไม่ใช่ เป้าหมายใหญ่คือจะต้องทำอย่างไรว่าเราจะได้การเลือกตั้งที่ได้ตัวแทนที่จะเป็นรัฐบาลที่ดี ก็ต้องบอกว่าประเทศไทยของเราระบบพรรคการเมืองมันเป็นระบบ ที่ไม่ใช่อุดมการณ์ มันกลายเป็นเรื่องของฐานอำนาจและฐานการเงิน พูดถึง ส.ส.ที่เข้ามา จะทำอะไรได้เต็มที่? ก็มีระบบพรรคครอบเอาไว้

วันนี้ทางออกของประเทศจึงยังมองอย่างเดียว คือต้องหยุดให้ใครเขาจูง หรือให้ใครก็บอกว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ เราต้องหยุดใช้อารมณ์แล้วมอง ตัวเราอยู่ตรงไหน

เราก็จะเห็นว่าเรากำลังถูกลากไปผิดทิศ

กลุ่มที่จัดประท้วงชุมนุมแล้วดึงสถาบันลงมา ก็บอกแล้วว่าพวกคุณไม่ได้ตั้งใจให้ได้ประชาธิปไตย แต่ต้องการที่จะทำลายสถาบัน

ซึ่งถามว่าส่วนตัวกังวลหรือไม่

ตอบได้เลยว่าไม่ เพราะว่าเราเป็นเมืองพุทธ เรามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรามีกฎแห่งกรรม สิ่งเหล่านี้มันก็จะคุ้มครอง

แต่เราจะมองเรื่องนี้เรื่องเดียวไม่ได้ เราจะต้องหยุดตั้งสติแล้วหันกลับมามองว่าประเทศจะรอดได้อย่างไร

แน่นอนคำตอบคือต้องไม่พ้นระบอบประชาธิปไตย แล้วก็ต้องมีข้อกฎหมายเรื่องของรัฐธรรมนูญ แล้วก็ต้องมีคนที่ใช้กฎหมายคือ ส.ส.และฝ่ายรัฐบาล

ตัวหลักที่มีปัญหาเลยคือรัฐบาลกับ ส.ส. เพราะ ส.ว.จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีอำนาจ

หมอคิดว่าการที่ ส.ว.จะอยู่หรือไม่อยู่ก็ไม่ได้ช่วยให้พวกเขาดีขึ้น เพียงแต่ว่าพวกเขากำลังตกเป็นเครื่องมือของใคร จากความเกลียดชัง

แล้วส่วนตัวหมอก็มองว่ารัฐบาลและตัวท่านนายกรัฐมนตรีและทีมงานที่มาจากการรัฐประหารนั้น ตามหลักสากลก็ถือว่าไม่มีความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย

ณ เวลานั้นในตอนนั้นท่านอาจจะเข้ามาแก้ปัญหา แต่ท่านก็มีเวลามานานแล้ว 5-6 ปี ท่านจะมาบอกว่าท่านมาถูกต้อง แต่สิ่งที่เป็นภูมิหลังมันยังบอกอยู่ว่าท่านมายังไง

มาถึงวันนี้การเขียนรัฐธรรมนูญมาว่าจะดำเนินการปฏิรูปหรือยุทธศาสตร์ ซึ่งในมุมของหมอก็ต้องบอกว่า ควรจะยอมรับความจริงว่าอาจจะหมดเวลาแล้ว

แต่ไม่ใช่ไล่ ถ้าเรายอมรับความจริงตรงนี้ทุกฝ่าย รัฐบาลก็ต้องมองว่าคุณเองจะต้องเตรียมวางมือ

ถามว่าการเปลี่ยนรัฐบาลจะทำให้สภาพดีขึ้นไหม

ก็ต้องตอบว่า ตัวเลือก ณ ตอนนี้ ไม่มีเลย ถ้าเปลี่ยนโดยการยุบสภาเลือกตั้งใหม่แบบนี้ คำถามคือคนไทยพร้อมที่จะเลือกคนดีหรือไม่? ระบบมันไม่พร้อม กลายเป็นว่าทุกอย่างต้องใช้เงิน การเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดิม เปลี่ยนรัฐบาลแบบยุบสภา ส.ว.ยังอยู่

หันไปดูผู้นำพรรคแต่ละพรรคพร้อมหรือไม่

จึงมองว่าถ้าอยากแก้รัฐธรรมนูญก็แก้ไปเลย ทำไมต้องแก้โดยใช้อารมณ์ แต่มุมส่วนตัวคิดว่าถ้าเขาตั้งใจจะแก้รัฐธรรมนูญจริงก็ต้องขับเคลื่อนให้ถูก มองตรงนั้นให้ออก

ขอเล่าย้อนไปว่า สมัยก่อนที่จะเข้ามาทำงานวันนี้ ตอนที่ยังอยู่สภาปฏิรูปประเทศเราเคยคุยกันถึงขั้นว่าต้องล้างไพ่ทุกพรรคการเมืองให้มีคนใหม่ๆ มีหนุ่ม-สาวเข้ามา

แต่ปรากฏว่าทุกพรรคการเมืองก็เหมือนกันก็คืออ้างความเป็นระบบพรรค สร้างความเป็นนายทุน คือถ้าเกิดเขาเหล่านี้คิดถึงประเทศจริงๆ ก็ไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องลงทุนและต้องบริหารเอง มันไม่มีใครเปลี่ยนแปลงเลย

เพราะฉะนั้น การเลือก ส.ส.ออกมา โดยที่มีนายทุนพรรคการเมือง ก็จะได้การเมืองแบบเดิมๆ แต่เราก็จะเห็นว่ามีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา

ถามหมอแล้วการให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาดีหรือไม่ ก็ดี แต่ถ้าคนรุ่นใหม่เป็นแบบนี้ พูดได้เลยว่าไม่ดี

ถามว่าทำไม ก็เพราะว่าไม่มีสัมมาคารวะ ดูถูกเหยียดหยามชาติ ดูถูกคนรุ่นเก่าซึ่งคุณต้องถามว่าช่วงชีวิตที่คุณเป็นมานี้คุณทำอะไรให้กับแผ่นดิน ทำอะไรให้กับส่วนรวมบ้าง? ไม่ใช่ว่าคุณเหมาเข่งด่าเขาไปหมด คนรุ่นใหม่แบบนี้เราก็ไม่เอา

เราจะให้คนแบบนี้บริหารประเทศหรือ ศาสนาไม่เอา สถาบันไม่เอา แผ่นดินนี้ก็ไม่เอา จะเอาฝรั่งอย่างเดียว นี่คือสิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อม

พวกพรรคการเมืองพรรคเก่าๆ ก็เหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมามันไม่มีโอกาสที่จะได้คนดี

พรรคใหม่ๆ คนรุ่นใหม่ที่มาจากความนิยมที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุน แต่มีความก้าวร้าวก็ไม่เอา

ใครก็ตามที่คิดจะเข้ามาเล่นการเมือง อยากเป็นรัฐบาล คุณต้องมองว่าคุณจะเข้ามาเป็นคนรับใช้ประชาชน เข้ามาเป็นผู้ให้ เป็นผู้ที่สร้าง ไม่ได้เป็นผู้ที่กอบโกย

ทำอย่างไรที่จะให้ได้คนดีแบบนี้ ตอนนี้ก็ยังมองไม่เห็นทางว่าจะมีพรรคการเมืองใดที่สร้างขึ้นมาในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ได้เอาเงินมาลงทุน เอามาถอนทุน ยังไม่เห็นเลย

ส่วนสิ่งที่อยากฝากถึงน้องๆ นิสิต-นักศึกษา ในฐานะที่เราเคยได้ผ่านจังหวะแบบนั้นมาเราเข้าใจดี ไม่ตำหนิ เพียงแต่ว่าจังหวะที่เขาต้องเจอ เขาจะมีวิธีคิดหรือไม่ สำหรับหมอมีวิธีคิดอยากจะฝากเด็กๆ รุ่นใหม่ก็คือ

1. ต้องคิดบวกให้มากๆ เพราะว่าอะไรที่คิดแต่แง่ลบมันจะตีบตัน

2. พยายามคิดนอกกรอบ ไม่ได้คิดไปตามๆ กัน อย่างสมัยหมอเขาก็ประท้วงหยุดเรียนกัน หมอคือคนที่ไม่ได้ไปประท้วง แต่ไม่ใช่ว่าเป็นความเห็นชอบด้วยกับรัฐบาล (ในตอนนั้น) แต่เราหยุดคิดว่ามันเป็นทางออกทางเดียวหรือไม่? มันมีทางอื่นหรือไม่ ตรงนี้คนรุ่นใหม่ต้องใช้เยอะๆ

บวกกับ ข้อ 3. เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบกับความคิดสร้างสรรค์จะทำให้เรามองออกว่าเราจะเลือกเส้นทางเดินอะไร เด็กรุ่นใหม่อาจจะมีความคิดสร้างสรรค์เยอะ มีความคิดนอกกรอบเยอะแต่ขาดประการสำคัญคือไม่ได้มองให้ครบให้รอบด้าน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เวลาเราจะทำอะไรด้วยความที่เราเป็นตัวของตัวเอง เราก็จะมองก่อนว่าทำแล้วจะได้อะไร ก้าวไปแล้วจะเป็นอย่างไร

นี่ไม่ใช่ความกลัวนะ เพราะว่าตลอดชีวิตไม่เคยเป็นเครื่องมือใคร เราก็ไม่เคยก้มหัวให้พวกการเมือง

สถานการณ์ยามนี้ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เรายอมรับกัน ต่อให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง มีปฏิวัติ มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ร่างขึ้นมาให้เขา สลักตัวนี้มันไม่ใช่เรื่องที่ถอดออกได้ง่ายๆ ต้องทำความเข้าใจ

สำคัญที่สุดสำหรับนายกฯ และสังคมทั้งหมดนี้ ถามว่าเราได้นักการเมืองที่เป็นคณะรัฐมนตรีที่ดีหรือไม่ คำตอบคือหน้าเดิมๆ ทั้งนั้น เงินและอำนาจคือตัวที่ทำให้เขาเหล่านี้มานั่งอยู่ในอำนาจ เพื่ออะไรถ้าไม่ใช่เพื่อกอบโกยผลประโยชน์ วันนี้กล้ายืนยันว่าเป็นเช่นนี้ และต่อให้เปลี่ยนรัฐบาลก็ยังจะเป็นแบบนี้อยู่ ประชาชน น้องๆ ต้องคิดให้ดี

ถามว่ามีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์หรือไม่ ก็มองว่าเด็กรุ่นใหม่มีความสนใจใส่ใจบ้านเมืองมากขึ้น ก็คิดว่าในการเลือกตั้งรอบหน้าเขาจะมีส่วนมากขึ้น

แต่การที่เขาแสดงบทบาทเช่นนี้ในปัจจุบันจริงๆ แล้วก็อย่าได้กังวลเรื่องล้มสถาบัน เพราะว่ามันจะเป็นการกระตุ้นให้เสียงเงียบลุกขึ้นมา ต้องอย่าลืมว่าสัดส่วนในปัจจุบันสัดส่วนคนที่มีอายุมากกว่ามีจำนวนเยอะกว่าคนรุ่นใหม่มาก

ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้คุณต้องทบทวนว่าต่อให้มีการเลือกตั้งครั้งหน้า แน่ใจหรือว่าจะได้ เพราะเขาอยู่ในโลกของเขาอาจจะมองไม่เห็นโลกของความจริง ก็เลยไม่รู้สึกว่าหมดหวัง อยากให้ทุกคนถอยกลับมาดูว่าจะเอายังไงต่อ จะดันกันยังไงต่อ

แต่เชื่อว่าทุกอย่างมีทางออก

ชมคลิป