‘วิเชียร’ เผยเสียงข้างมากในอนุกมธ. ยันตั้ง ส.ส.ร. ไม่ขัด รธน. และต้องทำประชามติก่อนทูลเกล้าฯ

‘วิเชียร’ เผยเสียงข้างมากในอนุกมธ. ยันตั้ง ส.ส.ร. ไม่ขัด รธน. และต้องทำประชามติก่อนทูลเกล้าฯ ด้านส.ว.ปัดรับสัญญาณไฟเขียว ยันมีศักดิ์ศรี-อิสระ

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่รัฐสภา นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประธานคณะอนุกรรมการธิการ (กมธ.) พิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย ในกมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ กล่าวก่อนการประชุมว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ ทางอนุ กมธ.จะรายงานต่อ กมธ.ชุดใหญ่ โดยเสียงข้างมากในอนุกมธ.เห็นว่าประเด็นมาตรา 256 ไม่ขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะในรัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติใดที่ห้ามการที่จะพิจารณาให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่าง และการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 256 (8) ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญสามารถที่จะดำเนินการแก้ไขได้

โดยหากมีการแก้ไขใน (8) ก็ต้องไปทำประชามติ ซึ่งการออกเสียงประชามติใน (8) บัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งเดิมไม่เคยมี คือหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไปถามประชามติ ซึ่งการดำเนินการได้ดำเนินการให้คล้องกับคำวินิจฉัยที่ 18-22 /2555 ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวินิจฉัยรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ศาลวินิจฉัยว่าการทำประชามติจะทำเพียงในสภาไม่ได้ ต้องไปถามประชาชน เพราะอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ดังนั้นในรัฐธรรมนูญปี 60 เมื่อต้องลงประชามติก็ถือว่าเรากลับไปหาผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเราดำเนินการตามบทบัญญัติในมาตรา 256 ที่มีการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม และการลงประชามติในรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ดำเนินการทำเมื่อผ่านวาระที่ 1, 2 และ 3 แล้ว ก่อนที่นายกฯจะนำร่างรัฐธรรมนูญทูลเกล้าฯ ไม่สามารถดำเนินการก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาก่อนรับหลักการได้

นายวิเชียรกล่าวต่อว่า ส่วนเสียงข้างน้อยในอนุกมธ. ที่เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตั้ง ส.ส.ร. มาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีบทบัญญัติรับรอง และการออกเสียงประชามติ ถ้าวินิจฉัยตามศาลรัฐธรรมนูญก็ควรทำประชามติก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณารับหลักการด้วย โดยการให้รัฐบาลขอเสียงประชามติ ด้วยการจัดรับฟังความเห็นผ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 ซึ่งอนุ กมธ. ก็จะเสนอให้กมธ.ชุดใหญ่รับทราบด้วยเช่นกัน ส่วนการตัดสินใจลงมติ จะขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภา อย่างไรก็ตาม การทำประชามติจะต้องถามคำถามเดียวว่าร่างนี้ประชาชนเห็นเป็นประะการใด ถ้าไม่เห็นด้วยก็ตกไป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการทำประชามติจะไม่ทันกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้น เพราะกฎหมายประชามติยังไม่มีเลย

นายวิเชียรกล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องรายงานอีกอย่างคือ การแก้ไขเพิ่มเติมโดย ส.ส.ร.จะทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมนั้น มีเหตุในกรณีที่ ส.ส.ร.ไปแก้หมวด 1 และหมวด 2 ก็จะมีการรายงานว่า หากส.ส.ร.ไปแก้ก็จะทำให้ร่างนั้นตกไป โดยสภาเป็นผู้วินิจฉัย และสภาพของร่างนั้นตกไป ยังมีผลทำให้ ส.ส.ร.สิ้นสภาพด้วย

ขณะที่ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ในฐานะอนุ กมธ. กล่าวปฏิเสธกระแสข่าวที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ออกมาระบุ ส.ว.เปลี่ยนท่าทีสนับสนุนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2 ญัตติ ที่ให้ตั้ง ส.ส.ร.มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังได้รับสัญญาณจากรัฐบาล โดยยืนยันว่า ส.ว. ยังไม่ได้รับสัญญาณใด ๆ และมีอิสระ และมีศักดิ์ศรีในการทำหน้าที่ให้เป็นกลาง หากใครส่งสัญญาณใด ๆ มา ผู้นั้นก็จะเสียเอง พร้อมยืนยันไม่ได้รับสัญญาณใด ๆ จากใครทั้งสิ้น พร้อมเปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับ ส.ว.ส่วนใหญ่ จะชั่งน้ำหนักความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระหว่างการแก้ กับไม่แก้ แต่จะต้องพิจารณาวิธีการอย่างรอบคอบ