พลานุภาพ “ความคิด”

พลานุภาพ “ความคิด”

ตอนเป็น “นักเรียน”

ชื่อของ “เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล” ก็เป็นที่รู้จักแล้ว

จากการวิจารณ์ระบบการศึกษา และความหมายของเพลงชาติ

สอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันแรกก็เจอการรับน้องครั้งใหญ่

จากเรื่อง “ความคิด” ลามปากไปเรื่อง “หน้าตา”

คนระดับอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ถึงขั้นบอกว่า “ทำให้อัตลักษณ์ของจุฬาฯ เป็นที่เคลือบแคลง”

ทั้งที่ “หน้าตา” ของอาจารย์คนนั้นไม่อยู่ในสถานะที่วิจารณ์ใครได้เลย

และเมื่อเขาได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ

กระแสวิจารณ์ยิ่งรุนแรงมากขึ้น

ที่น่าตกใจก็คือคนระดับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียังกระโดดเข้าร่วมวงด้วย

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไมแค่เด็กหนุ่มคนหนึ่งจึงได้รับความสนใจมากขนาดนี้

คำตอบที่สั้น กระชับ และได้ใจความ ก็คือ…

… “ความคิด”

“เนติวิทย์” มี “ความคิด” ที่ “ขบถ” ต่อแนวคิดดั้งเดิมหลายเรื่อง

ที่สำคัญคือ เขากล้าแสดงความเห็นอย่างกล้าหาญ

และมี “เหตุผล” สนับสนุน “ความเชื่อ” ของเขา

ตามปกติของโลกประชาธิปไตยที่ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

“ความคิด” ของ “เนติวิทย์” ก็เป็นเพียงความคิดหนึ่งที่สามารถถกเถียง คัดค้านกันได้โดยเสรีถ้าไม่เห็นด้วย

แต่ในยุคนี้ที่กระแส “ฝ่ายขวา” มาแรง คนไม่กล้าแสดงความเห็นต่าง

“ความคิด” ที่ “เนติวิทย์” นำเสนอจึงโดดเด่นขึ้นชัดเจน

ที่น่าตกใจยิ่งของ “คนรุ่นเก่า” ที่มีความเห็นแตกต่างจากเด็กหนุ่มอายุแค่ 21 ปีคนนี้ก็คือ “เนติวิทย์” ได้รับเลือกจากคนรุ่นราวคราวเดียวกันให้เป็นตัวแทนคณะรัฐศาสตร์

คณะที่เรียนเกี่ยวกับเรื่องการเมือง การปกครอง

และน่าตกใจกว่านั้น เมื่อเด็กนิสิตปี 1 คนนี้ได้รับเลือกจากสภาซึ่งเป็นเพื่อนและรุ่นพี่ด้วยคะแนนท่วมท้นให้เป็น “ประธานสภา”

27 จาก 36 เสียง

ความสามารถในการโน้มน้าวและสร้างการยอมรับจากเพื่อนและรุ่นพี่ที่เป็นตัวแทนคณะต่างๆ ของเขาจึงไม่ธรรมดาอย่างแน่อน

ตำแหน่ง “ประธานสภานิสิตจุฬาฯ” ของเขาจึงเปี่ยมด้วย “ความชอบธรรม”

เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตยทุกประการ

เพราะมาจาก “การเลือกตั้ง”

ไม่ใช่การใช้อำนาจ

เมื่อ “ความชอบธรรม” ผสานกับ “ความแตกต่าง”

“ความคิด” ของ “เนติวิทย์” ในวันนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องขำ-ขำอีกต่อไป

เพราะกระบวนการนี้เกิดขึ้นที่ “จุฬาฯ”