จิตต์สุภา ฉิน : 10 ปี Instagram เปลี่ยนโลกไปอย่างไรบ้าง

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ไม่น่าเชื่อว่าเวลาจะผ่านไปอย่างรวดเร็วขนาดนี้ รู้ตัวอีกทีโซเชียลมีเดียที่เน้นการแชร์รูปภาพเป็นหลัก อย่าง Instagram ก็อยู่ในชีวิตของเรามาสิบปีแล้ว

และมันยังได้เปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีใช้ชีวิตของเราหลายๆ อย่าง โดยที่เราแทบจะไม่รู้ตัวเลย

Instagram ถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2010 โดยฝีมือของ Kevin Systrom และ Mike Krieger ที่เปิดตัวโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มนี้ให้เป็นสถานที่แห่งการเน้นแชร์รูปภาพเป็นหลัก สร้างความแตกต่างออกจากโซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่มักจะกระตุ้นให้คนเขียนแชร์เรื่องราวหรือความรู้สึกผ่านตัวอักษรมากกว่า อย่าง Facebook หรือ Twitter

ในตอนแรกเริ่ม ก็จะมีคำบรรยายข้างๆ กล่องโพสต์ข้อความเป็นคำถามว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ หรือคิดอะไรอยู่ เพื่อกระตุ้นให้เราอยากพิมพ์สิ่งที่อยู่ในใจออกไปเยอะๆ

ดังนั้น เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผู้ใช้โซเชียลมีเดียอย่างเราก็ไม่ค่อยจะเข้าใจสักเท่าไหร่ว่าทำไมเราจะต้องอยากแชร์ภาพให้โดดเด่นกว่าตัวอักษรด้วย แต่สิ่งที่ดึงดูดให้ Instagram น่าสนใจก็คือ การที่เราสามารถแต่งภาพได้ก่อนแชร์ อยากให้ภาพสว่างแค่ไหน คอนแทรสต์สีมากหรือน้อย และอยากได้โทนสีแบบไหน

ถ้าขี้เกียจแต่งเองใหม่ทั้งหมดก็มี “ฟิลเตอร์” ที่รอให้เราเลือกจิ้มได้ทันที

ความโดดเด่นที่หาไม่ได้ในแอพพ์อื่น ก็เลยทำให้ Instagram ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมที่ทำให้คนอัพโหลดสิ่งที่เรียกว่าเซลฟี่กันแบบไม่รู้จักหยุดจักหย่อน

เพียงแค่ 2 ปีหลังจากเปิดตัว Instagram ก็ไปเตะตายักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ให้ต้องรีบยื่นข้อเสนอขอซื้อเข้ามาเป็นของตัวเอง

 

10 ปีผ่านมา Instagram ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามีรากฐานที่แข็งแกร่งพอที่จะเติบโตมาเป็นโซเชียลมีเดียที่คนใช้งานมาอย่างยาวนาน

ทำให้อดไม่ได้ที่จะคิดไปว่าถ้าหากผู้ก่อตั้งทั้งสองคนไม่รีบขายให้ Facebook ไปเสียก่อน ทุกวันนี้ Instagram จะแตกต่างจากที่เราเห็นแค่ไหน และการตัดสินใจขายไปในครั้งนั้นเป็นการตัดสินใจที่ผิดหรือถูกกันแน่

หนังสือเรื่อง No Filter: Inside Story of Instagram ที่เขียนโดยผู้สื่อข่าว Sarah Frier เล่าเรื่องเอาไว้ว่า Instagram เกิดขึ้นจากไอเดียของผู้ก่อตั้งทั้งสองคนที่อยากจะหาวิธีในการแชร์ภาพได้เร็วๆ ในยุคที่กล้องสมาร์ตโฟนเริ่มจะแพร่หลาย ทำให้คนถ่ายภาพได้มากขึ้นและง่ายขึ้น

ทั้งสองคนก็อยากจะใส่ความเป็นศิลปะเพิ่มเข้าไปในรูปเพื่อทำให้ได้บรรยากาศของภาพถ่ายจากความทรงจำ

และอีกสิ่งหนึ่งที่ให้ความสำคัญมากก็คือการสร้างชุมชนที่รวมกลุ่มอาชีพที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างศิลปิน นักวาดภาพ หรือช่างภาพเข้าด้วยกัน

แล้วเพิ่มความแข็งแกร่งด้วยจำนวนคนติดตามผลงานบนออนไลน์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเลยทีเดียว

แต่เรื่องมาพลิกผันตรงที่ Instagram ประสบความสำเร็จในตอนที่บริษัทยังไม่ค่อยจะพร้อมสักเท่าไหร่

มีพนักงานเพียงแค่ 13 คนที่ต้องทำงานหนักเพื่อทำให้แอพพ์ทำงานได้เป็นปกติ

วันไหนที่ Justin Beiber โพสต์ภาพ วันนั้นเซิร์ฟเวอร์ก็ล่มแน่นอนแบบไม่ต้องเดา

ณ จุดนี้นี่เอง ที่ Facebook เดินเข้ามาพร้อมข้อเสนอเป็นตัวเงินในจำนวนที่ Instagram ไม่อาจปฏิเสธ พร้อมคำสัญญาว่าจะยอมให้ Instagram เป็นแอพพ์แยกเดี่ยวๆ แบบนี้อีกต่อไปได้

 

ในมุมมองของ Instagram วันนั้น ข้อเสนอของ Facebook เป็นเหมือนโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ที่จะทำให้แพลตฟอร์ม Instagram เติบโตต่อไปได้

และยังเป็นโอกาสให้พนักงานของ Instagram ได้ทำงานร่วมกับคนเก่งๆ ของ Facebook สามารถใช้ทรัพยากรของ Facebook ได้อย่างเต็มที่

ในขณะเดียวกันก็ยังมีอำนาจในการตัดสินใจได้เองอยู่ และที่เป็นการมองการณ์ไกลที่สุดก็คือ ทำงานกับ Facebook ยังดีกว่าการจะต้องทำงานเพื่อแข่งกับ Facebook

เพราะถ้าไม่ยอมขายกิจการให้ การต้องเป็นคู่แข่งกับ Facebook จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน

ท้ายที่สุด ผู้ก่อตั้ง Instagram ก็เห็นชัดแล้วว่าวิสัยทัศน์ของตัวเองกับ Facebook นั้นต่างกันลิบลับ

Instagram ให้ความสำคัญกับศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่สิ่งสำคัญของ Facebook คือ ตัวเลข ไลก์ แชร์ คอมเมนต์ เอนเกจเมนต์ และเวลาที่ผู้ใช้งานอยู่บน Facebook

ในปี 2018 ทั้งคู่จึงยื่นจดหมายลาออกจาก Instagram

 

เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นจากการที่ Instagram ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา อย่างการที่แบรนด์และร้านค้าหันไปใช้ Instagram เป็นโชว์รูมเสมือนจริง จนมีการเพิ่มฟีเจอร์การขายของเข้าไปให้ควบรวมได้อยู่ในภาพ แค่คลิกไปที่ไอเท็มที่อยากได้ แอพพ์ก็จะส่งเราไปที่ลิงก์ร้านค้าให้เรากดซื้อได้เลย

Instagram ได้กลายเป็นแหล่งทำเงินมหาศาลให้กับบรรดาดาราและอินฟลูเอนเซอร์ในสาขาต่างๆ ให้จับมือกับแบรนด์เพื่อแชร์ภาพที่จะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับสินค้าชิ้นนั้นๆ

และช่วยทำให้แบรนด์หรูทั้งหลายจับต้องได้ง่ายขึ้นผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้ Instagram และแบรนด์นั้นๆ

รูปแบบการกิน ดื่ม เที่ยว ของคนทั่วโลกก็เปลี่ยนแปลงไปเพราะ Instagram ด้วยเหมือนกัน ก่อนจะไปกินข้าวที่ร้านไหน เราก็มักจะมีแนวโน้มที่จะเสิร์ชหาภาพเมนูบน Instagram ดูก่อน ทำให้ร้านอาหารก็ต้องปรับตัวด้วยการถ่ายภาพอาหารจานสวยไปเรียงรายรอลูกค้าไว้บนหน้าฟีด โรงแรม ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว

ต้องจ้างอินฟลูเอนเซอร์ไปถ่ายภาพเพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้ใช้งานคนอื่นๆ ได้เห็นว่า ถ้ามาที่นี่จะได้ภาพสวยๆ ชีวิตดีๆ แบบนี้นะ

หลายๆ แห่งต้องออกแบบมุมหรือจุดบางจุดในสถานที่ของตัวเองให้เป็นจุดถ่ายภาพลง Instagram โดยเฉพาะ

เพราะถ้าทำมุมนี้ได้ดี ก็อาจจะเพียงพอที่จะดึงดูดให้คนตัดสินใจมาเที่ยวได้แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมที่ Instagram ภายใต้การบริหารงานของ Facebook มีส่วนทำให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ ก็คือการทำให้เกิดแรงกดดันของความต้องเพอร์เฟ็กต์

เมื่อแพลตฟอร์มให้ความสำคัญกับตัวเลขว่าใครจะเกิดหรือดับได้ก็วัดกันที่ตัวเลขเท่านั้นก็ทำให้เกิดแรงกดดันในการที่จะต้องลบจุดตำหนิทุกอย่างและทำให้ภาพที่แชร์สมบูรณ์แบบไร้ที่ติให้ได้มากที่สุด เพื่อดึงดูดให้คนมากดไลก์ให้ได้มากที่สุด

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้วัยรุ่นที่ทุกวันนี้แทบจะโยนทิ้งความเป็นจริงและติดอยู่ในวังวนของฟิลเตอร์และการแต่งภาพกันหมดแล้ว จน Instagram ต้องแก้เกมด้วยการออกฟีเจอร์อย่าง Stories ให้ผู้ใช้ลองโพสต์ภาพหรือคลิปที่มีอายุเพียงสั้นๆ แค่ 24 ชั่วโมง จะได้ไม่ต้องมีแรงกดดันมากนักว่าภาพจะต้องดูดีเท่านั้น

เมื่อภาพโพสต์แล้วหายไปเองได้ ก็หวังว่าผู้ใช้อาจจะยอมโพสต์อะไรหลุดๆ โก๊ะๆ เรียลๆ บ้าง

Instagram แบบอายุ 10 ปี เป็นแบบนี้ ส่วนอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นแบบไหนก็คงไม่อาจจะชี้ชัดได้ตั้งแต่ตอนนี้ รู้แต่เพียงว่าความเป็นไปได้ที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดก็คือ

มันจะเหมือน Facebook มากขึ้นทุกวันๆ