อย่าเอาแต่สร้าง “ความกลัว”

การเลือกตั้งท้องถิ่น อันเป็นประชาธิปไตยระดับใกล้ชิดวิถีชีวิตประชาชนที่สุดที่ถูกละเว้นมายาวนาน ตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา

ถึงวันที่ได้รับการหยิบยกมาพูดถึงจริงจังมากขึ้นว่าน่าจะกลับมาปลายปีนี้ต่อเนื่องไปต้นปีหน้า

ประชาธิปไตยพื้นฐานจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอีกครั้ง

เหมือนกับว่าผู้มีอำนาจทำใจได้แล้ว ว่าการปิดกั้นกระบวนการประชาธิปไตยนั้น ยิ่งทำยิ่งก่อให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารประเทศ

ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมือง มีข้อกังวลหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่บ่อยๆ คือ ความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ ที่ชัดเจนว่ารับไม่ได้กับความคิดการกระทำของคนรุ่นเก่า การต่อต้านอำนาจนิยมด้วยท่าทีที่แข็งกร้าว ไม่ย่อมอะลุ่มอล่วยประนีประนอมจะทำให้ประเทศไทยมีสภาพเหมือน “ฮ่องกง” ที่ความเจริญรุ่งเรืองหยุดชะงักไปเพราะการต่อสู้ทางการเมือง

ข้อกังวลนั้นดูจะเป็นการขู่ให้เกิดความวิตก และมองเห็นอันตรายจากการลุกขึ้นมาเรียกร้องเสรีภาพของคนรุ่นใหม่ ทั้งๆ ที่หากพิจารณาละเอียดลงไปแล้ว ย่อมเห็นได้ไม่ยากว่า “ไทย” กับ “ฮ่องกง” มีความต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในการประเมินผลการต่อต้านอำนาจ

อำนาจที่จัดการผู้ชุมนุม “ฮ่องกง” นั้นคือ “รัฐบาลจีน” ซึ่งหากสามารถไม่แคร์กับสภาพที่จะเกิดขึ้นกับ “ฮ่องกง” ได้ เพราะหาก “ฮ่องกง” เกิดความเสียหาย เสื่อมทรุด ย่อมไม่กระทบกับ “จีน” กระทั่งต้องกังวลอะไรมากนัก หนำซ้ำยังสามารถสร้างเมืองอื่นมาทดแทนได้ไม่ยาก

แต่เมืองไทยไม่ใช่ การทำให้ระบบเศรษฐกิจเสียหาย ย่อมสะเทือนไปทั้งประเทศ “ผู้มีอำนาจ” ไม่ได้มีทางเลือกที่จะทิ้งขว้าง เหมือนที่ “จีน” ทำกับ “ฮ่องกง” ได้

คำขู่เช่นนั้นสำหรับความเคลื่อนไหวในประเทศไทย จึงมีบางคนเท่านั้นที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้น เพราะอย่างที่ว่า หากพิจารณาให้ลึกซึ้งสักนิด ไม่มีเหตุผลที่ไทยจะเป็นอย่างฮ่องกง

การเปิดทางให้ประชาชนได้หายใจในบรรยากาศของประชาธิปไตย จึงเป็นการผ่อนความตึงเครียดได้ดีกว่า

และอีกอย่างคือ หากกลัวว่าผู้ชนะในการเลือกตั้งท้องถิ่นเที่ยวนี้ จะเป็น “ผู้สมัครจากพรรคที่มีจุดยืนอยู่ตรงกันข้ามกับผู้มีอำนาจปัจจุบัน”

หรือ “ไม่ให้เลือกเพราะกลัวแพ้” นั้น

บางอย่างที่เกิดขึ้นชี้ถึงแนวโน้มว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น

อย่างผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “คะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาสครั้งที่ 3” ในคำถามที่ว่า วันนี้ท่านสนับสนุนพรรคการเมืองไหน พบว่า คำตอบที่เป็นเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นมีเพียงกลุ่มเดี่ยวคือ “ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย” จากร้อยละ 13.46 มาไตรมาส 1 มาเป็นร้อยละ 32.38 ในไตรมาส 2 และร้อยละ 41.59 ในไตรมาส 3

ส่วนความนิยมในพรรคการเมืองทุกพรรคลดลงหมด เพื่อไทยเหลือร้อยละ 19.39, ก้าวไกลเหลือร้อยละ 12.70, พลังประชารัฐร้อยละ 12.39, ประชาธิปัตย์ร้อยละ 7.44, เสรีรวมไทยร้อยละ 1.70, ภูมิใจไทยร้อยละ 1.59

นั่นหมายถึงข้อมูลที่ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ ยังไม่พอสำหรับตัดสินใจ ดังนั้น ใครจะชนะย่อมเป็นเรื่องที่ “ไม่ควรกลัวไปก่อนกาล”

การเลือกตั้งท้องถิ่นที่คืนบรรยากาศประชาธิปไตยให้ประชาชน ไม่เพียงจะทำให้ผ่อนคลายทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นที่รับรู้กันว่าเป็นวิธีกระจายรายได้ไปหมุนกลไกเศรษฐกิจได้ดีที่สุด ทั้งจากงบประมาณที่จะต้องใช้เพื่อจัดการเลือกตั้ง และเงินที่ไหลออกไปจากการหาเสียงของผู้สมัคร จะเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ขึ้นมามากมาย

ล้วนแล้วแต่เป็นผลดี