วงค์ ตาวัน | เข้าสู่เดือนที่น่าห่วงใย

วงค์ ตาวัน

ย่างเข้าสู่เดือนตุลาคม ที่มาพร้อมกับคำกล่าวขวัญกันไปทั่วว่า สงสัยเดือนตุลาคมปีนี้จะได้เห็นตุลาO อาถรรพ์ ได้เห็นเดือนตุลาฯ เลือด ไปจนถึงอาจจะได้เห็น 14 ตุลาฯ ซ้ำรอยเมื่อปี 2516 กันอีกครั้ง อะไรเหล่านี้

เพราะพฤติกรรมของ ส.ส.รัฐบาลและ ส.ว.ที่จับมือกันเล่นเกมเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากที่มีการนำเข้าพิจารณาในรัฐสภา ผ่านการอภิปรายถกเถียงกันถึง 2 วัน สุดท้ายพอถึงขั้นต้องลงมติจะรับหรือไม่รับ กลับพลิกไปตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาข้อมูลเสียก่อนอีก 1 เดือน

“นี่แหละคือตัวจุดชนวนที่สำคัญ”

นอกจากเป็นการยื้อให้ยาวนานออกไป โดยวิธีการอันโจ่งแจ้งไม่แนบเนียนแล้ว

ยังสร้างความรู้สึกเดือดดาลให้ชาวบ้านเพิ่มขึ้น ดังที่ ส.ส.ฝ่ายค้านลุกขึ้นกล่าวกลางสภาในทันทีว่าเป็นการหลอกต้มกันชัดๆ แม้แต่ประธานสภา นายชวน หลีกภัย ก็ยังกล่าวว่า ผมก็โดนหลอกต้มด้วยเหมือนกัน

ขณะที่ประชาชนก็รู้สึกถูกหลอกต้มไปด้วยเช่นกัน

ปฏิกิริยาของเหล่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ไปชุมนุมหน้ารัฐสภาในวันที่ไปเฝ้ารอผลการลงมติดังกล่าว แล้วสุดท้ายพบว่ามีการยื้อออกไปอีกเดือนนั้น สะท้อนความร้อนแรงที่จะตามมาได้เป็นอย่างดี

การรุมโห่ร้องใส่ขบวนรถ ส.ส.รัฐบาลและ ส.ว.ที่แล่นออกจากสภา บ่งบอกถึงความเดือดสุดขีด

“”ไอ้เฮีย” และอีกสารพัดคำร้อนแรง ดังลั่นไปทั่ว!”

พร้อมๆ กับการประกาศว่า ที่นัดหมายเอาไว้ว่าจะชุมนุมในเดือนตุลาคมนั้น เห็นจะต้องเป็นม็อบใหญ่อย่างแน่นอน กระทั่งเริ่มพูดถึงการชุมนุมปักหลักยืดเยื้ออีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเริ่มพูดถึงวันรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อาจเป็นวันเริ่มต้นของการชุมนุมต้านรัฐบาลและไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยอาจจะถึงจุดแตกหักแล้ว

ฤกษ์ 14 ตุลาฯ ที่เคยล้มรัฐบาลทหาร 3 ทรราช เมื่อ 47 ปีก่อน

“อาจจะกลายเป็นดีเดย์ของการประท้วงใหญ่ในปีนี้”

จุดสำคัญ การที่ ส.ส.รัฐบาลและ ส.ว.ผลักดันตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาข้อมูลร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนอีก 1 เดือน ทำให้คาดการณ์กันว่า ศึกษาเสร็จ พอมาลงมติกันใหม่ว่าจะรับหรือไม่รับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่า ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว.จะยอมโหวตให้รับให้แก้

เป็นไปได้มากที่จะโหวตคว่ำด้วยซ้ำ ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงคือ ทำให้ทุกร่างตกไปหมด โดยเป็นการตกไปในสมัยประชุมใหม่ แล้วจะทำให้ไม่สามารถเสนอใหม่ได้ ต้องรอไปอีกสมัยประชุมหน้า

ในเมื่อเริ่มต้นไม่ตรงไปตรงมาแล้ว ย่อมเป็นเรื่องยากที่ม็อบเยาวชนคนรุ่นใหม่จะยอมเชื่อว่า หลังจากศึกษาแล้ว 1 เดือน คงจะกลับมาโหวตยอมรับให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอน

นั่นอธิบายได้ว่า อารมณ์ความรู้สึกของการจัดชุมนุมในเดือนตุลาคมนี้ จะเป็นไปเช่นไร!?

หากพิจารณาจากท่าทีของเหล่า ส.ว.ในการอภิปรายอย่างดุเดือดระหว่างวันที่ 23 และ 24 กันยายนที่ผ่านมา ในการประชุมร่วม 2 สภา เพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับแล้ว ค่อนข้างชัดว่า เหล่า ส.ว.มีท่าทีแข็งกร้าวในการปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

ไม่ยอมถอย ไม่ยอมให้แก้ และไม่ยอมให้ตั้ง ส.ส.ร.อย่างเด็ดขาด

ไม่ยอมโหวต ให้ตั้งกรรมาธิการศึกษาไปก่อน ก็ยังกล้าทำ

ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน อภิปรายเรียกร้องให้ยอมหาทางคลี่คลายความร้อนแรง โดยยอมรับฟังเสียงของนักเรียน-นักศึกษาที่ชุมนุมกันอย่างเนืองแน่นหลายรอบแล้ว ต้องยอมแก้รัฐธรรมนูญกันได้แล้ว

“แต่ท่าทีของ ส.ส.รัฐบาลและ ส.ว.บางรายถึงขั้นเย้ยหยันว่า ม็อบของเด็กนักเรียน-นักศึกษานั่น มีแค่น้อยนิด ไม่มีผลกดดันอะไรได้!!”

ทำให้นักวิเคราะห์สถานการณ์มองว่า เมื่อฝ่ายผู้กุมอำนาจยังหลงมั่นอกมั่นใจในพลังอำนาจของฝ่ายตน ก็จะไม่มีท่าทียอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว

“นี่จะเป็นจุดที่นำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างม็อบของเยาวชนกับรัฐบาล ในลักษณะไม่มีใครยอมถอยให้ใคร”

เหตุที่รัฐบาลและเหล่า ส.ส.พรรครัฐบาลกับ ส.ว. ยังไม่สนใจกระแสการเคลื่อนไหวของนักเรียน-นักศึกษา คงเพราะมองว่า เด็กรุ่นนี้ยังอ่อนแอ กระดูกยังอ่อน ไม่สามารถต่อสู้จนถึงจุดแตกหักได้

อีกประการหนึ่ง กลุ่มอำนาจยุคปัจจุบัน เข้าสู่อำนาจได้เพราะม็อบที่จุดชนวนล้มรัฐบาลประชาธิปไตยเมื่อปี 2557

มีประสบการณ์กันว่า ม็อบต้องแข็งกร้าว ต้องมีการปิดล้อม ต้องก่อความเสียหาย ต้องทำให้รัฐบาลถดถอยด้านประสิทธิภาพ

“ที่สำคัญฝ่ายผู้กุมอำนาจเชื่อว่า ม็อบจะต้องมีอำนาจอื่นหนุนหลัง อำนาจนอกระบบต้องเอาด้วย จึงจะได้รับชัยชนะ”

จึงนำมาสู่ความไม่เชื่อว่า พลังประชาชนที่แท้จริงจะสามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองได้

นี่จึงเป็นเหตุให้,uการหวงอำนาจ โดยอาศัยประโยชน์ที่ได้จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงยังมีอยู่สูง

แต่ในทางกลับกัน นี่จะเป็นจุดผลักดันให้สถานการณ์ขัดแย้งในบ้านเมืองร้อนแรงขึ้นแน่นอน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเดือนอาถรรพ์นี้!

โดยปกติแล้ว ในเดือนตุลาคมของทุกปี จะมีการจัดกิจกรรมรำลึกวันสำคัญในการต่อสู้ของวีรชนนักศึกษา-ประชาชน 2 เหตุการณ์ใหญ่ คือ 6 ตุลาคม เพื่อทบทวนประวัติศาสตร์ วันกวาดล้างปราบปรามนักศึกษา-ประชาชน อย่างโหดเหี้ยม เมื่อปี 2519

จากนั้น ในวันที่ 14 ตุลาคม จะเป็นกิจกรรมยกย่องเชิดชูวีรชน ที่กล้าสู้ด้วยมือเปล่า ไม่กลัวห่ากระสุนจากรัฐบาลทหารในเหตุการณ์เมื่อปี 2516 จนทำให้ประชาชนได้รับชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ ล้มรัฐบาลทหาร 3 ทรราช และเบิกม่านประชาธิปไตยให้กับบ้านเมืองเรา

เพราะ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้บ้านเมืองไทยพลิกโฉม จากนั้นขบวนการนักศึกษา-ประชาชนยังเติบโต เป็นพลังผลักดันการต่อสู้อีกมากมาย

“จนผ่านไป 3 ปี ฝ่ายอำนาจเก่าก็เลยวางแผนกวาดล้างใหญ่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หวังหยุดขบวนการต่อสู้ของนักศึกษา-ประชาชน”

กล่าวได้ว่า ปี 2563 นี้ เป็นปีที่พลังนักเรียน-นักศึกษาได้ฟื้นคืนมาอย่างเป็นรูปเป็นร่างอย่างแท้จริง และเป็นขบวนใหญ่

เป้าหมายคือต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง ทำให้บ้านเมืองหลุดพ้นจากวงจรอำนาจเก่าๆ ขุนศึกขุนนาง เพื่อยกระดับการพัฒนาก้าวหน้าให้ทะยานไปมากกว่านี้

“ภายใต้การกุมอำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยมการเมือง ฉุดให้บ้านเมืองเราถอยหลัง จนกลายเป็นประเทศที่ล้าหลังกว่าเพื่อนบ้านไปแล้ว”

การเคลื่อนไหวของนักเรียน-นักศึกษายุคใหม่ ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องหลายเดือน

ยกระดับการต่อสู้ให้ก้าวหน้าชัดเจนเป็นลำดับ กระจายความคิดใหม่ไปทั่วสังคม

อาจจะเน้นสันติวิธี เน้นการสร้างประเด็นความคิด ยกระดับการถกเถียงปัญหา ตามแนวทางของปัญญาชน

แต่ด้วยท่าทีของรัฐบาลและ ส.ว.กลไกสำคัญในการสร้างการเมืองที่เหลื่อมล้ำ ทำให้เสียงของประชาชนหลายล้านในวันเลือกตั้ง กลับด้อยกว่าเสียงของ ส.ว. 250 คน

“ซึ่งไม่แยแสเสียงเรียกร้องของคนรุ่นใหม่”

ยังรักษาอำนาจเอาไว้ ยังไม่ยอมให้ใครแตะต้องรัฐธรรมนูญ ที่สร้างความได้เปรียบสารพัดด้าน

สภาพการณ์เช่นนี้ ทำให้เดือนตุลาคมปีนี้มีความน่าเป็นห่วงอย่างแท้จริง!