สัมภาษณ์พิเศษ : พงศ์เทพ เทพกาญจนา ทวนกระแส “เพื่อไทย” แพแตก ตั้งคำถาม รัฐบาลแห่งชาติคืออะไร

“พรรคเพื่อไทยเรามีภูมิคุ้มกันต่ำ เราจึงต้องระวังตัวอย่างมาก” คือคำจากนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะบุคคลสำคัญของพรรคเพื่อไทยคนหนึ่ง ให้นิยามถึงสถานการณ์และสถานะของพรรค

นายพงศ์เทพอธิบายว่า พรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีนักในทางการเมือง เพราะว่าถูกยุบพรรคมา 2 ครั้ง

ในครั้งแรกถูกกติกาที่เขียนให้มีผลย้อนหลัง ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคทั้งหมด ไม่ให้เข้ามามีบทบาท ไม่ให้เข้ามาทำงานการเมือง ไม่ให้เข้ามารับตำแหน่ง ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ โดนสารพัดชนิด 5 ปี

เราจึงมีประสบการณ์ว่า ถ้าเรามีบุคคลสำคัญในทางการเมืองไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารพรรคจำนวนมาก แล้วถ้าวันหนึ่งเขาหาเรื่องยุบพรรคเราขึ้นมาอีก เราก็จะเกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากร

พูดง่ายๆ เขาใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายพรรคเราอย่างรุนแรง

อย่างกรณีการยุบพรรคพลังประชาชน ผลที่ผมเชื่อว่าเป็นความปรารถนาหลักที่เขาต้องการให้เกิดคือต้องการให้นายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรี วิธีการในการปลดนายกรัฐมนตรีของเขาคือการยุบพรรค

ในสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค ก็เลยไม่เกิดเหตุการณ์หาช่องยุบพรรคเพื่อไทย

ลองคิดดูว่า ถ้านายกฯ ยิ่งลักษณ์เข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ผมเชื่อว่าก็เป็นไปได้ที่เขาจะหาเรื่องยุบอีก

ทำให้ตอนหลังเราจะเห็นได้ว่าไม่ค่อยมีบุคคลสำคัญทั้งหมดเข้าไปนั่งรวมอยู่ในกรรมการบริหารพรรค

บางพรรคการเมืองที่เขามีภูมิคุ้มกันดี เขาก็จะส่งบุคลากรไปอยู่ในกรรมการบริหารพรรคหมด เพราะเขาไม่กลัวเรื่องการจะถูกยุบพรรค

แต่เพื่อไทยของเรามีประสบการณ์ที่แตกต่าง พอบุคคลจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลสำคัญไม่ได้อยู่ในกรรมการบริหารพรรค จึงต้องมีความพยายามในการสร้างกลไก ที่จะให้การบริหารงาน โดยใช้บุคคลที่มีศักยภาพออกมาขับเคลื่อนพรรค ช่วยกันคิดช่วยกันทำเรื่องต่างๆ

พงศ์เทพบอกอีกว่า ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขึ้นมา ก็จะประกอบด้วยบุคคลที่หลากหลายเข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมทำ

บุคคลเหล่านี้จำนวนหนึ่งไม่ได้อยู่ในกรรมการบริหารพรรค และในความจริง ตัวอย่างที่คล้ายกันที่สุด หากจำได้ก่อนหน้านี้เราไปดูที่พรรคพลังประชารัฐ เขาก็เคยมีคณะกรรมการบริหารพรรคคือสี่กุมาร ต่อมาพรรคพลังประชารัฐก็มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขึ้นมา โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นมาเป็นประธานยุทธศาสตร์

แต่สักพัก เขาก็ต้องเอายุทธศาสตร์เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการบริหาร พล.อ.ประวิตรก็กลายเป็นหัวหน้าพรรค

คือถ้าเรามีคณะกรรมการบริหารและมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ถ้าทั้ง 2 คณะ ต่างคณะต่างทำงานไป แล้วไปทำงานในเรื่องเดียวกัน อาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน ก็อาจจะเกิดความสับสน ว่าตกลงแล้วคณะหนึ่งเห็นแบบนี้ อีกคณะหนึ่งเห็นอีกแบบหนึ่ง ก็จะมีความสับสนในหมู่คนทำงาน

เช่นกันกรณีของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่จะมีที่ประชุมวิป แล้วก็ยังมีการประชุมของหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ถ้าเกิดว่ามีการประชุมในเรื่องเดียวกัน แล้วมีความเห็นต่างกันก็อาจจะเกิดความสับสนได้อีก

เพราะฉะนั้น กรณีแบบนี้กับพรรคเพื่อไทย ผมเชื่อว่าก็จะต้องมีการปรับ

พูดง่ายๆ ว่าคงจะให้คณะกรรมการบริหารพรรคทำหน้าที่ได้เต็มที่มากขึ้น แต่คนที่เข้าไปเป็นกรรมการบริหาร ถือว่าเป็นหน่วยกล้าตายและเป็นผู้เสียสละนะ เพราะว่าพรรคเราไม่มีภูมิคุ้มกัน เรื่องของการยุบพรรค และกรรมการบริหารพรรคที่เขาต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่มากขึ้นตรงนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม หากภายภาคหน้ามีเรื่องใดที่คณะกรรมการบริหารคิดว่าต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ ก็อาจจะต้องมีการตั้งคณะทำงานพิเศษอะไรขึ้นมา หรือคณะอนุกรรมการอะไรขึ้นมาก็ต้องเป็นเรื่องของกรรมการบริหารพรรคตัดสินใจ

ผมว่าก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ให้รอดูตอนที่จัดสรรกรรมการบริหารชุดใหม่ เราจะเห็นหน้าตาว่าเป็นอย่างไร และคงจะไม่ใช่ว่าหน้าตาออกมาเหมือนเดิมทั้งชุด

พร้อมมองว่าคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่คงจะต้องทำหน้าที่ในเรื่องต่างๆ หนักมากขึ้นกว่าเดิม คงแล้วแต่คณะกรรมการบริหารว่าจะเอายังไง ว่าจะมีคณะแบบยุทธศาสตร์อีกหรือไม่ ก็ต้องอยู่ที่ว่าการจัดรูปแบบ พูดคุยกัน

ถ้าเกิดว่ามีอีกก็ต้องมีการจัดองค์ประกอบ 2 คณะให้ดี คือทั้งกรรมการบริหาร ต้องอยู่ในยุทธศาสตร์มากๆ เช่น จะต้องมีหัวหน้าพรรค ฝ่ายบริหาร เข้ามาประชุมทุกครั้ง

ขณะเดียวกันหัวหน้าพรรค หัวหน้ายุทธศาสตร์ต้องประชุมร่วมกัน ทั้งวงบริหารและวงยุทธศาสตร์จะได้ทราบเรื่องว่าต้องทำอย่างไร เพื่อจะได้ดำเนินการให้สอดคล้องกันได้

กับกระแสข่าวลือว่าจะมีใครบางคนเข้ามาคุมพรรคเอง นายพงศ์เทพมองว่า กลไกของพรรคการเมือง ใครที่จะเข้ามาในพรรค คุณจะต้องเป็นสมาชิกพรรค ถ้าไม่เป็นสมาชิกพรรค กลไกต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดว่าเขาจะมาทำอะไรเกี่ยวกับพรรคการเมืองมากไม่ได้อยู่แล้ว

แล้วกระแสข่าวบางอย่างที่ออกมา ผมเชื่อว่าผู้ที่ถูกพาดพิงก็ไม่ใช่คนที่จะมาทำงานทางการเมืองแบบที่อ้างอิงกันอยู่แล้ว ผมเองก็ไม่ทราบว่าข่าวเหล่านี้มาจากไหน

พรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา เราต้องทำงานอะไรภายใต้กรอบกฎหมาย หากมีอะไรที่ดูแล้วคลุมเครือ เสี่ยงต่อการถูกตีความ เราจะต้องไม่ทำ ที่ผ่านมาเราก็ยึดมาในแบบนั้น เพราะรู้ดีว่าเราเป็นเป้าอยู่แล้ว ถ้าเราไปทำอะไรที่เขาอาจจะหาเรื่องเราได้อีก จะต้องไม่ทำเด็ดขาด

พูดง่ายๆ คือ บางอย่างที่ใครเขาทำได้ เรายังไม่ทำเลยในบางเรื่อง เพราะว่าเรามีภูมิคุ้มกันต่ำ เราถึงต้องระวังตัวอย่างมาก

ในฐานะที่นายพงศ์เทพเคยเป็นหนึ่งในคณะยุทธศาสตร์ กล่าวว่า ตัวเองไม่เคยมีปัญหาอยู่แล้ว

ผมไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งอะไรในพรรค ผมอยู่กับพรรคนี้มานาน และยังเป็นสมาชิกของพรรคอยู่ เรายินดีที่จะช่วยพรรคอยู่แล้ว ผมอยู่ในการเมืองมายาวนาน 20 กว่าปี ความจริงตัวผมเองอยากที่จะถอยออกมาเพื่ออยู่ข้างหลังตั้งแต่ผมอายุ 55 แต่เผอิญเจอเรื่องยึดอำนาจ ก็เลยต่อมาถึง 60 ตอนนี้ก็เกิน 60 มาแล้ว ก็คิดว่า คนแบบผมอายุ 60 กว่า เราเองควรจะต้องถอยออกมา วางบทบาท แล้วให้คนอื่นซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ได้แสดงบทบาท

ผมเองก็ทำหน้าที่ในการคอยให้คำแนะนำ คำปรึกษา ตามที่จะทำได้ แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องลงไปแสดงเอง

กระแสข่าวที่ออกมาว่า “แพแตก” พงศ์เทพบอกว่า ตอบได้เลยว่า พรรคไม่ได้อยู่ในสภาพแพแตกอะไร เพราะว่าอย่างกรณีที่มีการลาออกจากยุทธศาสตร์เพราะเราทราบดีว่ามันมีกลไกจะต้องปรับเปลี่ยน ขณะเดียวกัน ที่ลาออกจากยุทธศาสตร์ ก็ยังทำงานให้พรรคอยู่แล้ว ไม่ได้มีอาการแพแตกอะไร

ถ้าเราเห็นหน้าตาของคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ได้ทำงาน เราก็จะเห็นเองว่าพรรคเพื่อไทยยังมีความตั้งใจมุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาชนเหมือนเดิม ยังมีความเข้มแข็งด้านนี้เหมือนเดิม

ส่วนเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ เวลาที่มีคนมาพูดคำนี้ สิ่งที่ผมถามก็คือว่า รัฐบาลแห่งชาติคืออะไร?

เวลาเราพูดถึงรัฐบาลแห่งชาติหมายถึงอะไร เราเข้าใจตรงกันหรือไม่ ถ้าเป็นรัฐบาลแห่งชาติ ที่มีพรรคการเมืองทั้งหลายร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เราก็ต้องถามว่า แล้วใครเป็นแกนนำ ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้ารัฐบาลแห่งชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลแห่งชาติแบบนี้จะเป็นยังไง?

กับรัฐบาลแห่งชาติ ที่มีคนนอกที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในช่วงที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ระหว่างที่มีการเลือก ส.ส ร. เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนจริงๆ ไม่ได้มีความพยายามไปบิดเบือนกลไก

เราก็จะเห็นว่าแบบหลังนี้จะแตกต่างจากแบบแรกอย่างสิ้นเชิง แบบหลังจะไม่ไปข่มขู่คุกคามนิสิต นักศึกษา นักเรียน ประชาชน จะมีความแตกต่างกัน

ผมเชื่อว่าประชาชนจำนวนไม่น้อย ถ้าบอกว่าเป็นแบบหลัง บางคนก็จะมองว่า จะเป็นรัฐบาลที่เดินไปในช่วงเปลี่ยนผ่านได้ดีกว่ารัฐบาลประยุทธ์ หรือรัฐบาลแห่งชาติในนามที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำ

ทั้งนี้ ยังขอยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยยึดแนวทางที่เราทำมาตลอดก็คือหัวใจคือประชาชน ยึดถือประชาชนเป็นหลัก แล้วการทำงานที่ยึดถือประชาชนเป็นหลัก เราเองก็ต้องคิดในขณะนี้ว่าพี่น้องประชาชนเขาได้รับผลกระทบต่างๆ มากมาย ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยจะต้องผจญกับปัญหาผลกระทบอีกยาวนาน เราจะมีทางออกให้แก่ประเทศเรา ที่สามารถเสนอให้พี่น้องประชาชนเราได้อย่างไร ขณะเดียวกันการทำงานการเมืองภายใต้ขวากหนามต่างๆ ที่เขาวางไว้ หลุมระเบิดต่างๆ ที่เขาวางไว้ เราก็ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นกว่าในอดีตด้วยซ้ำไป

อดีตรองนายกฯ ทิ้งท้ายว่า การที่จะให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง มันมีทางที่จะให้ได้มาหลายทางเหมือนกัน

แต่ทางที่จะทำแล้วราบรื่นที่สุด รวดเร็วที่สุด และสูญเสียน้อยที่สุด ก็น่าจะเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องเลือกหนทางเหล่านั้น

ชมคลิป