สมชัย ศรีสุทธิยากร | คืนบัตรสองใบ ให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ธงของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการยกร่างใหม่ทั้งฉบับโดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาเป็นผู้ดำเนินการ แต่หากพิจารณาถึงกรอบระยะเวลาที่ต้องใช้ ไม่ว่ากว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ระยะเวลาที่ใช้ในการร่างประกอบการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน จนถึงเวลาของการทำประชามติ ดูแล้วอาจใช้เวลาตั้งแต่ปีครึ่ง ถึงสองปี

อาจมีคนลืมว่า หากมีอุบัติเหตุทางการเมือง ต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ กติกาที่เป็นปัญหาในการเลือกตั้งก็จะยังไม่มีการแก้ไข นั่นแปลว่า การเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวแล้วเอามาคำนวณจำนวน ส.ส.ที่พึงมี ก่อนมาจัดสรรเป็นจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ นั้นยังคงอยู่

การคำนวณแบบปัดเศษที่ทำให้เกิดพรรคหนึ่งเสียงนับสิบพรรคก็ยังคงอยู่

การจัดตั้งรัฐบาลแบบเปลืองกล้วยที่ต้องกวาดต้อนรวบรวมเสียงโดยไม่สนใจนโยบายหรืออุดมการณ์การเมืองก็ยังคงอยู่

รัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่ไร้เสถียรภาพ แต่มากด้วยนักการเมืองไร้คุณภาพเอาแต่มุ่งแย่งชิงตำแหน่งก็ยังคงอยู่ต่อไป

ดังนั้น คู่ขนานไปกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในฝัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในบางมาตราที่จำเป็นเพื่อให้การเลือกตั้งที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน รวมถึงการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในบางมาตราจึงสมควรดำเนินการให้เกิดขึ้นควบคู่กันไปด้วย

คืนบัตรสองใบให้ประชาชน

กว่ายี่สิบปี นับแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ประชาชนคุ้นเคยกับบัตรเลือกตั้งสองใบ ภายใต้คำขวัญรณรงค์ที่ติดปากว่า ใบหนึ่งเลือกคนที่รัก อีกใบหนึ่งเลือกพรรคที่ชอบ

เนื่องจากการออกแบบของรัฐธรรมนูญมุ่งให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสองประเภท คือแบบแบ่งเขตที่เป็นตัวแทนของคนในพื้นที่และแบบบัญชีรายชื่อที่รวมคนซึ่งมีความรู้และประสบการณ์แต่ไม่ถนัดการสัมผัสประชาชนในแบบ ส.ส.เขต

เมื่อประชาชนจะใช้สิทธิตัดสินใจเลือกจึงสมควรให้เขาสามารถเลือกได้ทั้งสองประเภทโดยใช้วิจารณญาณที่เป็นอิสระต่อกัน ส่วนที่อยากได้คนคุ้นเคย คนในพื้นที่ คนที่เขาเข้าหาได้ง่ายก็ใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต แต่หากชื่นชมหัวหน้าพรรค นโยบายพรรค เห็นคุณภาพของการเลือกสรรบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมงานกับพรรคก็เลือกจากบัตรบัญชีรายชื่อ

แยกบัตร แยกวิจารณญาณในการตัดสินใจ

ไม่วุ่นวาย ปะปนว่าบัตรหนึ่งใบเลือกทั้งพรรค ทั้งคน หรือไปไกลถึงเลือกนายกฯ อีก

การมีบัตรเลือกตั้งสองใบอาจสร้างภาระกับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์บัตร ภาระงานการนับคะแนนเป็นสองเท่า แต่เชื่อว่าอยู่ในวิสัยของ กกต. เพราะเคยจัดการมาแล้วในอดีต แต่สามารถลดปัญหาที่วุ่นวายจากการคำนวณคะแนนที่ กกต.เองยังแกว่งว่าจะปัดเศษอย่างไรจึงถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่ค้านสายตาประชาชน และไม่ขัดกับหลักการที่ควรจะเป็น

ไม่ทำให้พรรคที่มีคะแนนทั้งประเทศแค่สามหมื่นสี่หมื่นคะแนน ก็มีหัวหน้าพรรคไปเฉิดฉายในสภาได้

นักวิชาการหลายคนจึงตั้งข้อสังเกตว่า หากไม่แก้ในเรื่องนี้ เลือกตั้งคราวหน้าและครั้งต่อๆ ไปคงได้มีพรรคการเมืองเป็นร้อยพรรคแน่ เพราะคะแนนทั้งประเทศแค่สามหมื่น หรือเฉลี่ยเขตละ 100 คะแนน หัวหน้าพรรคหรือหมายเลขหนึ่งของบัญชีรายชื่อก็ได้เป็น ส.ส.แล้ว ขอตั้งพรรคหรือสัญลักษณ์ให้คล้ายพรรคอื่น หากกากันผิดเยอะๆ คะแนนสามหมื่นสี่หมื่นจะไปไหนพ้น

หมายเลขเดียวทั้งประเทศ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งต่อเนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อีกประการหนึ่งคือ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดอาจารย์มีชัย กำหนดให้การได้รับหมายเลขของผู้สมัครของพรรคการเมืองแตกต่างกันไปในแต่ละเขต โดยไปกำหนดไว้ในมาตรา 48 ของ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. โดยมีเหตุผลว่าต้องการให้ประชาชนเลือกอย่างมีวิจารณญาณ ไม่เลือกส่งๆ เพียงแค่ดูว่าอยู่พรรคใด หรือเรียกกันแบบเหยียดๆ ว่า เอาเสาไฟฟ้ามาลง ก็ได้เป็น ส.ส.

คงมีจุดมุ่งหมาย ไม่ต้องการให้พรรคใหญ่มีความได้เปรียบ เดี๋ยวประชาชนจะจดจำง่ายเกินไป

แต่ความอ่อนในวิจารณญาณของผู้ร่างกฎหมายดังกล่าว นำไปสู่ความยุ่งยากสับสนมากมายของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งถึง 350 แบบแตกต่างกันไปในแต่ละเขตเลือกตั้ง เพราะหมายเลขพรรคไม่เหมือนกัน จะทำบัตรโหลไม่มีชื่อพรรค ก็จะยิ่งเสียหายเพราะเจตนาการลงบัตรอาจผิดไปได้

พรรคการเมืองก็ยากลำบากในการหาเสียง เพราะไม่สามารถสื่อสารกับผู้มีสิทธิออกเสียงได้ว่า หากสนับสนุนพรรคจะให้เลือกหมายเลขใด ไปหาเสียงแต่ละเขตแทบจะต้องท่องจำก่อนขึ้นเวทีว่าเขตนี้หมายเลขอะไร

ผู้มีสิทธิออกเสียงก็สับสน เพราะป้ายโฆษณาหาเสียงที่ติดทับซ้อนพื้นที่ ข้ามถนน ข้ามคลองไปก็เป็นอีกเขต หมายเลขแตกต่างกันวุ่นวายไปทั้งประเทศ

ดังนั้น นอกเหนือจากการแก้รัฐธรรมนูญ ในเรื่องกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ป.การเลือก ส.ส. พ.ร.ป.พรรคการเมือง หรือ พ.ร.ป.กกต. หากเชื่อมโยงเกี่ยวข้องและสร้างปัญหาต่อการออกแบบการเมืองไทย ก็ควรมีการทบทวนแก้ไขให้เหมาะสมคู่ขนานกันไป ไม่ควรรอรัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่

กำหนดจำนวนคะแนนเสียงขั้นต่ำเพื่อคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

มาตรา 100 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กำหนดจำนวนเสียงขั้นต่ำที่จะนำมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่า พรรคการเมืองที่ได้คะแนนจากบัตรบัญชีรายชื่อน้อยกว่าร้อยละ 5 ของคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ จะไม่ได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นการส่งเสริมให้รัฐสภาประกอบด้วยพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ตาม การออกแบบดังกล่าวก็นำไปสู่การผูกขาดการเมืองของพรรคขนาดใหญ่ โดยหากนำหลักดังกล่าวมาทดลองพิจารณาผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิคือ 38.2 ล้านคน หากยึดเกณฑ์ร้อยละ 5 เท่ากับว่า จะต้องได้คะแนนทั้งประเทศถึง 1.91 ล้านคน ทำให้พรรคที่มีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเหลือเพียง 5 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยเท่านั้น

พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กอื่นๆ จะไม่มีโอกาสมี ส.ส.บัญชีรายชื่อเข้าสภาเลย

ดังนั้น การกำหนดจำนวนร้อยละคะแนนขั้นต่ำนั้น มีความจำเป็นเพื่อจำกัดพรรคที่มีคะแนนนิยมน้อย แต่จะเป็นร้อยละเท่าไรจึงจะเหมาะสม เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไป

นายกรัฐมนตรี ต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ประเด็นสุดท้ายที่ควรให้ความสนใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ การกำหนดคุณสมบัติให้ผู้เป็นนายกรัฐมนตรี ว่าจะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบที่เคยกำหนดไว้ในมาตรา 201 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และตามมาตรา 171 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

จะต้องให้พรรคการเมือง เสนอชื่อให้ประชาชนรับรู้ก่อนเลือกตั้งก็ไม่ว่า แต่ขอให้มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่เป็นลุงที่ไหนที่ลอยไปลอยมา ไม่รับผิดชอบต่อนโยบายของพรรค ไม่ต้องหาเสียง ไม่เคยเรียนรู้สัมผัสความรู้สึกสัมผัสความทุกข์ของประชาชน แต่อาศัยอำนาจบารมีกวาดต้อนพรรคการเมือง นักการเมืองต่างๆ ที่ติดคดีมายกมือให้

การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อย่างน้อยต้องสังกัดพรรคการเมือง และต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่พรรคนำเสนอในนโยบายการหาเสียง ค่าแรงขั้นต่ำที่สัญญา สิทธิสวัสดิการต่างๆ ที่บอกว่าจะมี ราคาสินค้าเกษตรที่บอกว่าจะทำให้ได้ สิ่งเหล่านี้ นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองควรต้องรับผิดชอบด้วย

ไม่น่าเชื่อว่า หลักการต่างๆ ที่เคยออกแบบมาดีในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และพัฒนาแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้น ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะถูกรื้อถอนทำลาย แถมปักหมุดปัญหาความวุ่นวายต่างๆ ลงไปทั้งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับ จนยากต่อการตรวจสอบรื้อถอน

เหมือนขโมยหมุดประชาธิปไตยไปไม่พอ ยังเอาหมุดอะไรไม่รู้มาปักไว้กระจายเต็มบ้านเต็มเมือง

งานนี้ แม้ถอนยาก ก็ต้องช่วยกันถอนครับ