หมดยุคนางงามโลกสวย เมื่อเวทีนางงามยุคใหม่ ประชันวิสัยทัศน์การเมือง-ปัญหาสังคม

“อยากบอกกับรัฐบาลว่า ถ้าคุณเรียกประเทศนี้ว่าประเทศไทย เราต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง นอกเหนือไปจากนั้นเราต้องการให้คุณออกจากประเทศนี้ไปซะ”

นี่คือส่วนหนึ่งจากคำตอบของพัชรพร จันทรประดิษฐ์ หรือน้ำ มิสแกรนด์จากจังหวัดระนอง ในรอบ 5 คนสุดท้าย ที่เรียกเสียงฮือฮากระหึ่มโซเชียลมีเดีย และพิชิตใจกรรมการคว้ามงกุฎมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2020 (Miss Grand Thailand 2020) ไปครอบครอง

เวทีมิสแกรนด์ไทยแลนด์ในปีนี้ได้ถามผู้เข้าประกวดว่า จากสถานการณ์ของผู้ชุมนุมในขณะนี้ ส่อเค้าความรุนแรงยิ่งขึ้น หากคุณมีโอกาสได้พูดคุย คุณอยากจะพูดกับฝ่ายใด ระหว่างผู้ชุมนุม หรือรัฐบาล และอยากพูดอะไรเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น?

การตอบคำถามของเหล่าสาวงามทั้ง 5 คนก็ฉะฉาน และตรงไปตรงมา แม้จะแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ใจความสำคัญของคำตอบ ทุกคนก็แสดงจุดยืนเคียงข้างกลุ่มผู้ชุมนุมในการเรียกร้องประชาธิปไตย

เช่น มิสแกรนด์จากจังหวัดปทุมธานี ตอบคำถามนี้ว่า “ถ้าวันนี้ไม่มีประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2020 จะเป็นอีกคนที่อยู่ที่การชุมนุมแน่นอน ที่สำคัญอยากบอกว่า การที่เด็กรุ่นใหม่เลือกออกมาแสดงความคิดเห็นไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะอนาคตต่อจากนี้ พวกเราคือคนที่ต้องอยู่ต่อ”

หลังการประกวดเสร็จสิ้นลง กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโซเชียลมีเดีย ส่วนหนึ่งมาจากวันที่ประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2020 เป็นค่ำคืนเดียวกันกับการชุมนุมใหญ่ “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” บริเวณพื้นที่ท้องสนามหลวง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ซึ่งกรณีนี้ “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล” ผู้อำนวยการกองประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ ได้ชี้แจงว่า เวทีมิสแกรนด์มีความชัดเจนเรื่องความทันสมัย ไม่ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นเราสามารถนำมาเป็นคำถามได้ และการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ทุกคนเลี่ยงการเมืองไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม

เช่นเดียวกับเวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 (Miss Universe Thailand 2020) ในรอบ 30 คนสุดท้าย ทางกองประกวดก็ได้จัดกิจกรรม Debate Keyword Challenge หรือการอภิปรายชุดคำ มาให้สาวงามได้ประลองสติกันอย่างท้าทายเช่นกัน

เช่นคำว่า ประชาธิปไตยบนท้องถนน กับประชาธิปไตยในสภา, ประชาธิปไตย กับเผด็จการ, การซื้อสิทธิขายเสียง กับการสุจริต หรือประเด็นในสังคม เช่น การทำแท้ง กับการอุ้มบุญ และการศึกษาระบบไทย กับการศึกษาระบบอินเตอร์

ซึ่งสาวงามทั้ง 30 คนจากเวทีมิสยูนิเวิร์ส ก็ได้ตอบคำถามกันอย่างชัดเจน ดุเดือด เรียกเสียงปรบมือ และเสียงกรี๊ดดังสนั่น ในพื้นที่เจริญนคร ฮอลล์ ไอคอนสยาม

โดยหนึ่งในสาวงามที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคนหนึ่งนั่นก็คือ ชญาธนุส ศรทัตต์ หรือเฌอเอม เจ้าของคลิปหญิงสาวที่พูดไม่ชัด แต่แสดงทัศนคติประทับใจคนฟังจำนวนมาก

“เฌอเอม” แสดงความคิดเห็นกรณีเวทีนางงามนำประเด็นการเมืองมาใช้เป็นคำถามว่า ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่มีการนำคำถามที่สะท้อนปัญหาในสังคมและการเมืองมาถามนางงามบนเวที ซึ่งนางงามก็ตอบคำถามได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่เป็นนามธรรมอย่างเช่นสมัยก่อน

“การประกวดนางงามไม่ได้กลวงเปล่าอย่างที่หลายคนเคยคิด และปีนี้ผู้เข้าประกวดหลายคนมีของ คือ มีทั้งทัศนคติ ความมุ่งมั่น และความอยากที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม บางคนบอกว่านางงามก็พูดไปอย่างนั้นแหละไม่เคยทำจริง เรื่องนี้ก็ต้องย้อนกลับไปว่าสมัยก่อนให้โอกาส หรือบีบคั้นตัวผู้หญิงมากแค่ไหนมากกว่า”

“เฌอเอม” ยังเห็นว่า การประกวดนางงามพัฒนาจากจุดที่ผู้หญิงเป็นไม้ประดับ จนมาถึงทุกวันนี้ผู้หญิงกลายเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำงานนอกบ้าน และเวทีนางงามยังเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ตอบคำถาม และแสดงความสามารถในการเป็นผู้นำด้วย

“สมัยก่อนนางงามอย่างเอมเป็นไม่ได้นะ ไม่มีเลย เพราะว่าถ้าเราออกมาพูดเราก็โดนทัวร์ลง เพราะผู้หญิงที่ดีคือผู้หญิงที่เงียบ ซึ่งสิ่งนี้มันไม่จริง ในเมื่อเวทีนางงามมันพัฒนาจากจุดที่ผู้หญิงเป็นไม้ประดับ และเปิดโอกาสในการแสดงความเป็นผู้นำมากขึ้น เวทีนางงามมันจึงไม่ใช่สิ่งที่คุณคิดว่ามันเก่ามันกลวง หรือว่ามันมีแต่ความไม่กล้าอีกต่อไป”

ส่วนกรณีกระแสเรียกร้องให้บุคคลสาธารณะออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง “เฌอเอม” เห็นว่าทุกคนมีเงื่อนไข มีจังหวะในชีวิต และมีการบีบคั้นทางการแสดงออกที่แตกต่างกัน เช่น ครอบครัว ความเป็นอยู่ คนรอบตัว บางคนอาจจะไม่ได้ออกมาพูด หรือแสดงออกอย่างกล้าหาญ แต่อาจเลือกที่จะเงียบแล้วทำประโยชน์ให้ได้มากกว่า

“คนบางคนเขาอาจจะทำอยู่เงียบๆ ก็ได้ หรือว่าเขาจะทำประโยชน์ได้มากกว่า หากว่าตอนนี้เขาอดทน เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเราพูดแล้วเราเสียทุกอย่าง ที่เราจะสนับสนุนได้ทั้งในตอนนี้และอนาคต มันอาจจะไม่ได้คุ้ม แต่ถ้าตอนนี้เราทำอยู่ แล้วเราเสียมันไม่ได้ เราอาจจะต้องยอมรับมีดบางเล่มที่มันแทงเข้ามาในใจเรา”

“เฌอเอม” ยังได้กล่าวว่า รู้สึกเสียดายที่ตนเองไม่ได้ Debate หรืออภิปรายชุดคำว่า “ประชาธิปไตย” บนเวทีมิสยูนิเวิร์ส จึงแสดงความเห็นถึงคำนี้ ผ่านการให้สัมภาษณ์ว่า ในมุมมองส่วนตัว ประชาธิปไตยคือ การรักษาเสียง ทั้งในสภา และบนถนน เนื่องจากคนที่อยู่ในสภาคือคนที่คนบนถนนเลือกเข้าไป และถ้าเกิดปัญหาในสภา คนบนถนนก็สามารถโต้ตอบได้เช่นกัน

รวมไปถึงนักการเมืองที่เราเลือกเข้าไป เขานิ่งเฉยกับปัญหาหรือไม่ ถ้าเขาไม่นิ่งเฉยแสดงว่าประชาธิปไตยยังคงอยู่อย่างทรงเกียรติ เพราะประชาธิปไตยไม่ได้ทรงคุณค่าที่ระบบนักการเมือง แต่มันทรงคุณค่าที่ประชาชนให้กับมัน

“คำว่าประชาธิปไตยไม่ได้ทรงคุณค่าที่ระบบนักการเมือง มันทรงคุณค่าที่ประชาชนให้กับมัน ทรงคุณค่าในสิ่งที่เรายึดถือ และเรากล้าแสดงออก แต่ถ้าเรายึดถือแล้วเรานิ่งเงียบ นั่นหมายความว่าเรากลัว ในคำว่าประชาธิปไตยต้องไม่มีคำว่ากลัวไม่ว่ากับอะไรก็ตาม เพราะเมื่อไรที่คุณกลัวแปลว่ามันมีอำนาจที่อยู่เหนือคุณ ถ้าทุกคนไม่ได้เท่ากัน นั่นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย”

ส่วนคำว่า “เผด็จการ” ในมุมมองของ “เฌอเอม” เห็นว่าคำว่าเผด็จการมันคือการยึดถืออำนาจไว้ที่คนคนเดียวอย่างเบ็ดเสร็จ และไม่ทราบจริงๆ ว่าสิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันเบ็ดเสร็จหรือไม่ แต่คิดว่าสิ่งที่เราเห็นมันไม่ใช่หมากทั้งหมดบนกระดาน

“เราไม่รู้เลยว่าจริงๆ แล้วประเทศเรากำลังเคลื่อนไปทางไหนในเกมอำนาจ แต่ในการขับเคลื่อนของการศรัทธา พลังเสียงของประชาชน สังคมเรากำลังก้าวไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น”

เฌอเอม” ยังกล่าวว่า คำว่าเผด็จการไม่ได้มีอยู่แค่ในสภา แต่มันรวมไปถึงครอบครัว สถาบันการศึกษา สถานที่ทำงาน หากเราสามารถแสดงความคิดเห็นในสถานที่เหล่านี้ได้ แสดงว่าเราไม่ได้อยู่ในระบบเผด็จการ

นอกจากนี้ “เฌอเอม” ยังแสดงความคิดเห็นกรณีเด็กออกมาเรียกร้องสิทธิ หรือสะท้อนปัญหาในสังคม ว่า การแสดงออกของเด็กนั่นหมายความว่าพวกเขากำลังเผชิญกับปัญหาเหล่านั้น พวกเขามองเห็นปัญหา และอนาคตของตนเอง

“การบอกว่าเด็กไม่มีสิทธิเรียกร้อง หรือว่าไม่เห็นปัญหา มันกำลังบอกว่าเด็กไม่เผชิญกับปัญหา หรือความยากลำบากต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แล้วอีกอย่างหนึ่งถ้าเขามองเห็นอนาคตในสังคมที่เขาอยากอยู่ เขาก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องวางแผน ถ้าคุณอยากให้เด็กวางแผนชีวิต เด็กต้องวางแผนสังคม ในเมื่อเราอยู่ในโลกนี้เราแชร์เวลากัน วันหนึ่งเอมตายไปโลกไม่ใช่ของเอม แล้วทำไมเอมจะต้องยึดถือมันมากมาย ให้มันเป็นไปตามใจของเอมด้วย”

“เฌอเอม” ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า การแสดงความคิดทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ที่ออกมาพูดในสิ่งที่เชื่อ และยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะถึงแม้ว่าจะเห็นต่างกัน แต่นั่นหมายถึงการเกิดกระบวนการรับฟัง และการคิดตาม เราก็ประสบความสำเร็จในการพูดแล้ว

จากการตอบคำถามของเหล่านางงาม เรียกได้ว่าปีนี้ถือเป็นการปรับตัวของเวทีนางงามครั้งสำคัญที่เปิดกว้าง นำคำถามการเมืองมาประชันวิสัยทัศน์บนเวที

และนางงามก็กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนในการแสดงจุดยืนของแต่ละบุคคล