“แอร์เอเชีย” ลดเป้าผู้โดยสาร 10 ล้าน เตรียมตบเท้าทวงซอฟท์โลนตุลาคมนี้

วันที่ 28 กันยายน 2563 นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า ในปี 2563 หลังจากปรับเป้าหมายมาหลายครั้งตามความคืบหน้าของสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันไทยแอร์เอเชียตั้งเป้าเก็บจำนวนผู้โดยสารสะสม 9.5 ล้านคน หลังสะสมในช่วงต้นปีราว 5-6 ล้าน

และตั้งเป้าหมายเก็บเพิ่มอีกเดือนละ 1 ล้านคนใน 3 เดือนที่เหลือของปีเพื่อให้เป็นไปตามเป้า แม้จะปรับลดเป้าหมายลงเดิม 22 ล้าน แบ่งเป็นไทยและต่างชาติอย่างละครึ่ง เนื่องจากการสูญเสียนักท่องเที่ยวต่างชาติในสถานการณ์โควิด-19 และมีตัวแปรสำคัญเป็นการเปิดประเทศ

โดยปัจจุบันไทยแอร์เอเชียกลับมาเปิดให้บริการแล้ว 35 เส้นทางบินในประเทศ นับรวมเที่ยวบินในประเทศ 97 เที่ยวบินต่อวันจากปกติ 110-120 เที่ยวบินต่อวัน คิดเป็นกว่า 90% ของเดิมที่แอร์เอเชียเคยให้บริการอยู่ และ ขยับลดลงเล็กน้อยเนื่องจากการลดความถี่ในบางเส้นทางที่ต้องพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติร่วมด้วย อาทิ เส้นทางภูเก็ต ลดลงจาก 17 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เส้นทางกระบี่ลดลงจาก 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ฯลฯ

ด้านอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (load factor) เฉลี่ยราว 70% เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซั่นและน่าจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 80% ได้ในช่วงไฮซีซั่นที่จะถึงนี้ ส่วนค่าตั๋วโดยสารเฉลี่ยภายในประเทศอยู่ที่ราว 1 พันบาท ยกเว้นในพื้นที่ที่มีความต้องการเดินทางสูงกว่าปกติ ราคาตั๋วโดยสารก็จะขยับขึ้นเล็กน้อย ในส่วนของฝูงบินแอร์เอเชียให้บริการบินภายในประเทศด้วยเครื่องบิน 37 ลำจากทั้งหมด 62 ลำที่มีอยู่ซึ่งถือว่ากลับมาใช้งานเต็มกำลังสำหรับตลาดในประเทศแล้ว โดยเร่งหมุนเวียนเครื่องออกมาใช้งานเพื่อลดปัญหาซ่อมบำรุง

ในส่วนของความคุ้มทุนในการบินนั้นยากที่จะประเมินตามปกติ ด้วยสายการบินมีต้นทุนผันแปรที่สามารถปรับลดได้ตามสถานการณ์การบินที่เปิดได้เพียงเที่ยวบินในประเทศก็จริง แต่ก็มีต้นทุนคงที่ที่ยากจะปรับลดแม้ว่าจะไม่สามารถเปิดการบินระหว่างประเทศได้

ตอนนี้ไทยแอร์เอเชียจึงมุ่งลดต้นทุนผ่านการเจรจาการคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจขอยืดระยะเวลาชำระและลดค่าบริการเช่นเดียวกับที่ ทอท.ให้ส่วนลดค่าลงจอดและค่าจอดกับสายการบิน นอกจากนั้น สายการบินยังเปิดให้พนักงานลาโดยไม่รับค่าจ้าง (leave without pay) ซึ่งทำให้สายการบินสามารถลดต้นทุนลงไปได้ราว 30% โดยในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้สายการบินมีเงินสดในมือเหลืออยู่ราว 3,000 ล้านบาท ส่วนในไตรมาสที่ 3 ยังไม่สรุป

เตรียมทวงซอฟท์โลนตุลาคมนี้

นายสันติสุข กล่าวต่อว่า หลังจาก 7 สายการบินเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้รัฐช่วยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ให้สายการบินนำไปหมุนเวียนในธุรกิจหลังประสบวิกฤตจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาจนถึงปัจจุบันยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จากฝั่งรัฐบาล แม้นายกฯ จะรับปากในวันนั้นว่าจะผลักดันซอฟท์โลนมาถึงมือสายการบินในเดือนตุลาคม ระหว่างนี้สายการบินจึงอยู่ระหว่างรอความเคลื่อนไหว ก่อนเข้าทวงต่อรัฐบาลอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้

โดยรายละเอียดการพูดคุยนัดล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ รับปากจะช่วยเยียวยาด้วยซอฟท์โลนผ่านทางธนาคารพาณิชย์ โดยอาจจะเป็นโปรแกรมช่วยเหลือภาคธุรกิจโดยรวม ไม่ใช่เพียงแต่สายการบินเท่านั้น โดยสายการบินคาดหวังว่าจะได้ซอฟท์โลนก้อนแรกภายในตุลาคมนี้ เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะขยายฝูงบินกลับมาเปิดให้บริการประชาชนคนไทยในหน้าไฮซีซั่นที่กำลังจะมาถึง

ขอรัฐเลิกเงื่อนไขสำรองจ่ายเราเที่ยวด้วยกัน

นายสันติสุข เสริมว่า ในส่วนของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศของรัฐบาลในส่วนของสายการบินก็ยังคงมีจำนวนผู้ใช้สิทธิน้อยมาก ราว 40,000-50,000 สิทธิจากจำนวนกว่า 2,000,000 สิทธิที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ และแม้จะปรับเพิ่มจำนวนเงินที่รัฐออกให้จาก 1,000 เป็น 2,000 บาท จำนวนผู้ใช้สิทธิก็ไม่เพิ่มขึ้นมากนัก

“จึงเสนอให้รัฐปรับลดเงื่อนไขและความซับซ้อนของการใช้สิทธิให้เป็นเช่นเดียวกับการใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกันในโรงแรม คือหักส่วนลดที่รัฐมอบให้ออกเลยทันทีที่มีการจองตั๋วเดินทาง ไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน และไม่ต้องกังวลว่าประชาชนจะใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ เพราะไม่จำเป็นที่การเดินทางท่องเที่ยวจะต้องเข้าพักในโรงแรมเสมอไป ประชาชนหลายคนก็เลือกเข้าพักในบ้านญาติ กางเตนท์ หรืออื่นๆ”

พร้อมทั้งขยายกรอบเวลาของโครงการเราเที่ยวด้วยกันออกไปจนถึงปลายปี 2563 เป็นการระดมกำลังหนุนท่องเที่ยวในประเทศอย่างเต็มที่ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ไทยกำลังเดินทางเข้าสู่ไฮซีซั่นด้านการท่องเที่ยว เชื่อว่าถ้าหากหนุนเต็มที่การท่องเที่ยวภายในประเทศจะเพียงพอสำหรับประคองอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยไปจนกว่าจะมีการเปิดประเทศ เช่นเดียวกับจีนที่รัฐเร่งดันท่องเที่ยวในประเทศเต็มที่จนสามารถพยุงภาคธุรกิจไว้ได้

เชื่อ STV ก้าวแรกสู่เปิดประเทศ

ด้านการเปิดประเทศอย่างจำกัดด้วย Special Tourist Visa (STV) ที่กำลังจะเปิดทางให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยได้ถือเป็นก้าวแรกที่น่ายินดี แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยได้จะยังมีจำนวนน้อยมากและไม่มีผลต่อสายการบินโดยตรง แต่เป็นจุดสำคัญที่รัฐบาลจะพิสูจน์ประสิทธิภาพของมาตรการและถ้าหากมีการบริหารจัดการที่ดีก็อาจขยายผลของโครงการไปสู่การต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง

โดยเชื่อว่าหลังจากการเปิดประเทศอย่างจำกัดผ่านระยะแรกไปแล้ว น่าจะมีโอกาสที่รัฐบาลจะปรับลดวันกักตัวลง เพื่อเปิดทางให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางง่ายขึ้นไปจนเข้าสู่จุดที่สามารถตรวจก่อนและหลังเดินทางข้ามชายแดน โดยไม่จำเป็นจะต้องกักตัว ในส่วนของทางแอร์เอเชียก็มีเอเย่นต์ที่เคยทำงานร่วมกันในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีนที่สอบถามถึงโครงการนี้