ม็อบเบิ้ม ข้อหาเบิ้ม แจ้งจับ เปิดทาง ม.112 จ่อเช็กบิล 16 แกนนำ! “ทวงอำนาจ คืนราษฎร”

การชุมนุมใหญ่ “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” โดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

เป็นปรากฏการณ์การชุมนุมทางการเมือง ที่มีหลายเรื่องหลายประเด็นให้ต้องกล่าวขวัญถึง

แกนนำผู้ชุมนุมไม่เพียงนำประชาชนจำนวนหลายหมื่นบุกเข้ายึดพื้นที่ท้องสนามหลวง ใช้เป็นสถานที่ตั้งเวทีปราศรัยชุมนุมข้ามคืนเป็นผลสำเร็จ

ยังทำ “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ด้วยการ “ปักหมุดคณะราษฎรที่สอง” ลงบนพื้นท้องสนามหลวง ช่วงเวลาย่ำรุ่ง 20 กันยายน

ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบองคมนตรี ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องผ่านไปถึงประธานองคมนตรี

เสร็จสิ้น “ดับเบิลบิ๊กเซอร์ไพรส์” จึงได้ประกาศยุติการชุมนุม

 

หมุดคณะราษฎรที่สอง ถูกปักตรึงลงกลางสนามหลวงไม่ทันข้ามวัน

ก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้ารื้อถอนช่วงกลางดึกคืนวันเดียวกัน

จากนั้นก็มีการเดินหน้ารวบรวมพยานหลักฐาน เตรียมดำเนินคดีกับบรรดาแกนนำผู้ชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” ด้วยข้อหากระทำผิดตามกฎหมายหลายฉบับ

ย้อนไปถึงการชุมนุมตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ไม่ว่าโดยกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม หรือคณะเยาวชน/ประชาชนปลดแอก

ไม่ว่าการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หน้ากองบัญชาการกองทัพบก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หรือตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

มีแกนนำชุมนุมถูกออกหมายจับ ดำเนินคดีแล้วกว่า 30 คน

ด้วยกฎหมายสารพัดงัดขึ้นมาเล่นงาน อาทิ พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญา มาตรา 116 เป็นต้น

เช่นเดียวกับการชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” บรรดาแกนนำต่างโดนดำเนินคดี นอกจาก พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ยังได้มีการหยิบ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ขึ้นมาเอาผิด

คล้อยหลังการชุมนุมเพียง 1 วัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เจ้าของฉายา “นักร้อง” ก็เริ่มทำงาน

ด้วยการยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมศิลปากร ให้เอาผิดแกนนำผู้ชุมนุมกรณีบุกรุกเข้าใช้พื้นที่สนามหลวงโดยไม่ได้ขออนุญาต ตัดทำลายรั้วกั้น เจาะพื้นปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการให้เกิดความเสียหาย

“โดยหลักการมีสองเรื่อง เรื่องที่หนึ่งคือการบุกรุก ทำให้เสียหาย เสื่อมค่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน มีการบุกรุกไปในพื้นที่สนามหลวง ซึ่งเป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียน โดยไม่ได้รับอนุญาต

ส่วนกรณีฝังหมุดเมื่อวันที่ 20 กันยายน ซึ่งมีการขุดพื้น แม้เป็นส่วนที่ทำขึ้นเมื่อครั้งงานพระเมรุ แต่เป็นการทำโดยถูกต้อง ได้รับอนุญาต เมื่อทำแล้วจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถาน

ดังนั้น การฝังหมุดจึงมีความผิดตามกฎหมาย คือการทำลายและทำให้โบราณสถานเสื่อมค่า” นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ระบุ

ต่อมานายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี ในฐานะตัวแทนกรมศิลปากร เข้าแจ้งความต่อ สน.ชนะสงคราม เอาผิดแกนนำผู้ชุมนุมตามมาตรา 10 และมาตรา 85 พ.ร.บ.โบราณสถานฯ

จากการขุดเจาะสนามหลวง ปักหมุดคณะราษฎรที่สอง

การเอาผิดแกนนำชุมนุมแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ไม่หมดเพียงแค่นั้น

ยังมี นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ หรือหมอตุลย์ อดีตแกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี ที่เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม เพื่อให้ดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุม 19 กันยาฯ ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

นพ.ตุลย์แจ้งความเอาผิดแกนนำ 3 ราย ประกอบด้วย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง นายอานนท์ นำภา และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แถลงภาพรวมการดำเนินคดีแกนนำผู้ชุมนุม สรุปว่า

แกนนำทำผิดกฎหมายการชุมนุมสาธารณะหลายด้าน รวมถึงกฎหมายอาญามาตราต่างๆ

ถ้อยคำการปราศรัยของแกนนำบางคนหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมายอาญา ใช้ถ้อยคำไม่สมควรต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตำรวจในฐานะผู้รักษากฎหมายต้องดำเนินการอย่างเต็มที่กับผู้ที่ละเมิด

ตำรวจจะรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ดำเนินคดีอย่างถึงที่สุดกับผู้ที่แสดงออกและผู้สนับสนุนทุกกรณี ไม่มีข้อยกเว้น

เบื้องต้นพบว่าผู้ปราศรัยในลักษณะไม่เหมาะสมมีประมาณ 3-4 คน

จากกรณีดังกล่าว ทำให้สังคมจับตาว่าจะมีการนำกฎหมายมาตรา 112 อันลือลั่นกลับมาใช้อย่างจริงจังอีกหรือไม่ เพื่อตัดไฟไม่ให้ลุกลามทะลุเพดานไปมากกว่านี้

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกอุ้มหายตัวไปในประเทศกัมพูชาอย่างไร้ร่องรอย ตอนหนึ่งระบุ

“เดิมเรามีกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้ อยากบอกคนไทยว่าวันนี้มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะทรงพระเมตตา ไม่ให้ใช้”

จึงต้องติดตามการดำเนินการของตำรวจต่อแกนนำผู้ชุมนุม 19 กันยาฯ ครั้งนี้ว่าจะอย่างไร

 

ส่วนความผิดด้านอื่นๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มดำเนินการตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐาน เตรียมเอาผิดแกนนำการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมนายสถาพร เที่ยงธรรม ผุ้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ประชุมติดตามผลดำเนินคดีร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.)

สรุปเบื้องต้น กรุงเทพมหานครแจ้งความเอาผิดกลุ่มบุคคลที่ทําลายรั้วเหล็ก และขุดเจาะพื้นสนามหลวง ในความผิดฐานทําให้ทรัพย์สินเสียหาย และความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ

ส่วนกรมศิลปากรตรวจสอบพบการฝังหมุดในพื้นที่ท้องสนามหลวง อันเป็นโบราณสถาน เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ

สำหรับหมุดคณะราษฎรที่สองที่ถูกรื้อถอนออกไป พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.เผยว่า หมุดไม่ได้หายไปไหน ภายหลังเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน

ตรวจสอบบริเวณหมุดดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ได้รื้อถอดหมุดส่งมอบให้พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม พร้อมแจ้งความดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 ข้อหาบุกรุกโบราณสถาน หรือทําให้เสียหาย ทําลายทําให้เสื่อมค่า หรือทําให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน

“ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลจะเร่งดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานในความผิดส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป” พล.ต.ต.ปิยะกล่าว

ด้าน พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น. เผยถึงการเอาผิดแกนนำม็อบว่า การชุมนุมท้องสนามหลวงมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ สำหรับแกนนำผู้ชุมนุมที่เข้าข่ายถูกดำเนินคดีคาดว่ามีประมาณ 16 คน

ยังต้องรอทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าจะเข้าแจ้งความเอาผิดฐานบุกรุกสถานที่ด้วยหรือไม่

นอกจากแกนนำผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดียาวเป็นหางว่าว

ดารานักแสดงสาวหัวใจประชาธิปไตยอย่างทราย เจริญปุระ ก็โดนด้วย

เมื่อนายสนธิญา สวัสดี อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ แจ้งความกับตำรวจ สน.ชนะสงคราม เอาผิดดาราสาวฐานเป็นผู้สนับสนุนการชุมนุมประท้วงอย่างผิดกฎหมาย ด้วยการเปิดโรงครัว และเปิดรับบริจาคช่วยเหลือ

ถือเป็นการสนับสนุนให้กระทำผิด

 

แม้การชุมนุมแบบเบิ้มๆ “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” จะประสบความสำเร็จ ปราศจากความรุนแรง

แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการที่แกนนำผู้ชุมนุมกว่า 10 คน มีแนวโน้มถูกออกหมาย จับกุม ดำเนินคดีด้วยข้อหาแบบเบิ้มๆ เช่นกัน

กฎหมายอาญา มาตรา 112 จะถูกนำกลับมาใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐในแบบรัวๆ อีกหรือไม่

เป็นอีกประเด็นที่สังคมให้ความสนใจติดตาม

ท่ามกลางอุณหภูมิทางการเมืองที่ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง