ฉัตรสุมาลย์ : บนเส้นทางภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย (ตอน 16) เมื่อโลกจับตามอง

เวทีนานาชาติ

เป็นเรื่องแปลกแต่จริงว่า เรื่องภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทยนั้นอยู่ในความสนใจของนักวิชาการระดับนานาชาติก่อนที่สตรีไทยเองจะเริ่มอุปสมบทเป็นภิกษุณีด้วยซ้ำ

การเริ่มอุปสมบทของภิกษุณีในสายเถรวาทเริ่มต้นขึ้นชัดเจน พ.ศ.2541 ต่อจากนั้น 2 ปี ผู้เขียนจึงออกบวชเป็นสามเณรี และต้องรออีก 2 ปี จึงจะได้อุปสมบทเป็นภิกษุณี

เป็นการเริ่มต้นภิกษุณีสายเถรวาทในประเทศไทย พ.ศ.2546

แต่ประเด็นการพูดคุยในวงวิชาการทางศาสนาบนเวทีนานาชาติ อย่างน้อยที่สุดก็เริ่มมาตั้งแต่ 1983 คือ พ.ศ.2526

ครั้งนั้น ศ.ดร.ไดอาน่า เอ็ก (Diana Eck) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อเมริกา เป็นผู้จัดงานประชุมทางวิชาการนานาชาติ

ประเด็นความสนใจของที่ประชุมอยู่ที่บทบาทของผู้หญิงในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม จึงมีหัวข้อของการประชุมว่า Women, Religion and Social Changes

สำหรับประเทศไทย เขาส่งหัวข้อที่จะให้นำเสนอบทความทางวิชาการในที่ประชุมครั้งนี้ว่า “อนาคตของภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย”

ท่านผู้อ่านคิดว่านักวิชาการที่ ม.ฮาร์วาร์ดเขาเก่งไหมคะ เขาสามารถตั้งหัวข้อนำเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยก่อนเวลาไปตั้งสองทศวรรษ

 

ผู้เขียนนำเสนอเรื่องราวการทำงานของภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ โดยฉายภาพสไลด์ สมัยนั้นยังเป็นสไลด์แผ่นเล็กๆ อยู่ โดยที่ไม่ได้เปิดเผยกับที่ประชุมว่า เรื่องราวของภิกษุณีรูปเดียวที่เห็นบนแผ่นสไลด์นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นมารดาของผู้เขียนเอง

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะผู้เขียนเป็นนักวิชาการที่ตระหนักว่า หากผู้ศึกษา วิจัย นำเสนอเรื่องราวที่เป็นวิชาการ แต่มีส่วนได้ส่วนเสียกับบุคคลที่นำเสนอ จะทำให้สูญเสียความเป็นกลาง น้ำหนักของความเป็นวิชาการจะด้อยลง

งานที่ไปปรากฏบนเวทีนานาชาติครั้งนั้น มีอิทธิพลสำคัญทำให้เกิดคลื่นของการเปลี่ยนแปลงตามมาเป็นระยะๆ

การประชุมทางวิชาการนานาชาติครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำผู้เขียนว่า หากจัดงาน วางแผนงานดี ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามเป้าหมาย จะส่งผลทั้งในระดับบุคคล ระดับสังคมและศาสนา

 

หัวข้อของการประชุมคือ ผู้หญิง ศาสนา และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม หลังจากการประชุมครั้งนั้น ผู้จัดงานพยายามสร้างเครือข่ายผู้หญิงที่เป็นผู้นำในประเด็นทางศาสนา กลุ่มผู้ที่เคยเชิญมาประชุม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้หญิงแนวหน้า

ผู้เขียนเป็นเพียงคนตัวเล็กๆ ที่ได้ไปสัมผัส และไปเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตจากสตรีผู้นำเหล่านี้ ที่มีประสบการณ์ชีวิตมาโชกโชน

ท่านหนึ่งที่ยังจำติดตา ท่านเป็นนักต่อสู้ชาวอียิปต์ เป็นนายแพทย์หญิง อยู่ในวัย 50 เศษ ตอนที่ท่านลุกขึ้นแนะนำตัวเองนั้น ท่านแนะนำผู้ชายที่นั่งข้างๆ ว่า “This is my third husband” “นี่เป็นสามีคนที่สามของฉัน”

ผู้เขียนตกใจ สมัยนั้น ในบริบทที่หญิงชาวเอเชียถูกอบรมมา เราคงไม่องอาจกล้าหาญที่จะแนะนำอย่างนั้น อย่างเก่งเพื่อเป็นการให้เกียรติสามีที่มาด้วย ก็อาจจะแนะนำว่า… “คนนี้เป็นสามีของดิฉัน” ส่วนจะคนที่เท่าไหร่ ก็ค่อยว่ากัน เมื่อจะต้องลงในรายละเอียด

คุณหมอท่านนี้ผมขาวทั้งศีรษะ ไม่มีการปิดบังที่จะย้อมหรือเปลี่ยนสี ท่านถูกรัฐบาลจองจำหลายครั้งในการต่อสู้ในประเด็นสตรีในประเทศของท่าน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของสตรีชั้นนำของแต่ละประเทศที่มาจากหลากหลายประเทศในการประชุมครั้งนั้น

อ้อ เนื่องจากการประชุมครั้งนั้น เป็นสตรีล้วน เป็นการประชุมปิด ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกมาร่วมได้โดยไม่ได้รับเชิญ

 

เรื่องราวที่สมาชิกในแต่ละประเทศนำเสนอ ล้วนแล้วแต่เป็นการนำเสนอจากผู้ถูกกระทำที่เป็นหญิง กวีท่านหนึ่งจากละตินอเมริกา อ่านบทกวีที่บรรยายถึงความทุกข์ยากของผู้หญิง ผู้เข้าร่วมประชุม ร้องไห้ไปตามๆ กัน

เราคุยกันว่า ในอนาคตเมื่อหลายสิบปีผ่านไป เราอาจจะจำเนื้อหาการประชุมไม่ได้ แต่คงจำการประชุมนี้ได้ว่าเป็น weeping conference การประชุมที่ร่ำไห้

บ่ายวันหนึ่ง ระหว่างการประชุม ผู้เขียนแอบออกไปพิพิธภัณฑ์ นั่งรถไฟระยะสั้น ที่ต้องออกไปเพราะรู้สึกบีบคั้นทางอารมณ์มากกับความทุกข์ที่ผู้นำเสนอแต่ละคนแบกมา ผู้เขียนเข้าใจ และยอมรับได้หมดกับการต่อสู้ของผู้หญิง แต่ไม่มีส่วนร่วมกับอารมณ์ความรู้สึกที่แสดงออกอย่างรุนแรง

ในทางตรงกันข้าม เห็นด้วย แต่กลับคิดว่า เราจะต่อสู้โดยไม่ต้องโกรธขึ้ง เกรี้ยวกราดก็ได้นะ

ในพิพิธภัณฑ์นั้น มีรูปแม่กวนอิม พระโพธิสัตว์ฝ่ายกรุณา ท่านนั่งอยู่ในท่าที่ผ่อนคลาย รู้สึกว่าท่านสบายๆ ใช่ หากเราจะทำงานรับใช้พระศาสนา เราก็สามารถที่จะผ่อนคลายได้

นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ผู้เขียนรู้สึกได้

นับว่าการประชุมครั้งนั้นประสบความสำเร็จในแง่ที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงระดับบุคคลที่เกิดขึ้นกับผู้เขียนเอง

 

เครือข่ายที่ผู้จัดพยายามทำคือ ออกจดหมายข่าว ที่จะสานสัมพันธ์บรรดาสตรีผู้นำที่ได้เชิญมาร่วมการประชุมครั้งนั้นนับสิบประเทศ เช่น อียิปต์ เม็กซิโก ไอร์แลนด์ อเมริกา อังกฤษ อิหร่าน ไทย ฯลฯ

แต่จดหมายข่าวของกลุ่มนี้ ที่ออกมาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทำไปได้ 2-3 เล่มก็เลิกไป

แต่ผู้เขียนเองเห็นความสำคัญของการที่ต้องมีเครือข่ายและสัมพันธ์กัน ใน พ.ศ.2527 จึงออกจดหมายข่าวกิจกรรมสตรีชาวพุทธ Newsletter of International Buddhist Women”s Activities ชื่อยาวค่ะ เรียกตามอักษรย่อว่า N.I.B.W.A. ออกทุก 3 เดือน สร้างเครือข่ายให้เกิดขึ้นในหมู่สตรีชาวพุทธนานาชาติ

องค์กรศากยธิดา ก็เกิดขึ้นจากเครือข่ายที่สร้างขึ้น โดยผ่านจดหมายข่าวนี้ หลายปีต่อมาสามารถขยายเครือข่ายส่งจดหมายข่าวออกไปถึง 37 ประเทศ รายงานข่าวของสตรีชาวพุทธจากทุกมุมโลกเท่าที่จะทำได้ ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว

ยืนหยัดมาได้ตลอด 30 ปี เพิ่งเลิกไปเมื่อ พ.ศ.2557 เมื่อเห็นว่าโลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ ตอนนี้มีทั้งเฟซบุ๊ก อีเมล ไลน์ และอื่นๆ เราสามารถเชื่อมโยงกันได้เร็วขึ้นกว่าเดิมที่ใช้สิ่งพิมพ์จดหมายข่าวมาก

เช่นเดียวกัน ศากยธิดาก็เป็นเวทีนานาชาติที่สตรีชาวพุทธจากทั่วโลกมาร่วมประชุมเสนอบทความ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

ผู้เขียน นอกจากจะเป็น 1 ใน 3 ของผู้ก่อตั้งแล้ว ก็ยังได้เป็นประธานองค์กรศากยธิดาสองสมัยติดต่อกัน ค.ศ.1991-1993 และ 1993-1995

ศากยธิดายังคงจัดงานประชุมนานาชาติต่อเนื่องกันมา 30 กว่าปี เป็นพื้นที่ที่ปลุกให้สตรีชาวพุทธมีความตื่นตัวมากขึ้น ศากยธิดาจัดงานประชุมทุก 2 ปี เวียนมาจัดที่ประเทศไทย 2 ครั้งแล้ว

ครั้งล่าสุดที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมเป็นปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015) ที่อินโดนีเซีย

 

เวทีนานาชาติใหญ่ๆ ที่ท่านธัมมนันทาไปทำหน้าที่อีก 2 เวทีที่สามารถเล่าได้เต็มปาก เวทีหนึ่งคือ Parliament of World Religions สภาศาสนาโลก จัดที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา พ.ศ.2536 (ค.ศ.1993) จัดครั้งแรกเมื่อ 100 ปีก่อน คือ พ.ศ.2436 (ค.ศ.1893) ที่เมืองเดียวกัน ที่ประชุมครั้งแรกนั้น ชาวเอเชียที่สร้างผลงานดังมาก ทางศาสนาฮินดู คือ สวามีวิเวกนันทะ ที่เปิดโลกทัศน์ของชาวตะวันตกให้เห็นและยอมรับถึงความเป็นอัจฉริยะของชาวเอเชียด้วยภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาของชาวตะวันตกเอง

ผู้นำชาวพุทธที่มีชื่อเสียงที่ไปประชุมครั้งนั้น คือท่านธรรมปาล ชาวศรีลังกา ผู้ฟื้นงานพุทธศาสนาโดยเฉพาะการยึดพื้นที่พุทธคยาคืนจากฮินดู

ในการจัดการประชุมครั้งที่สองนี้เป็นงานใหญ่มาก พื้นที่ในโรงแรมที่จุคนมากที่สุดเต็มที่ 7,000 คน เต็มค่ะ

ชาวไทยที่ได้รับเชิญและไปร่วมงานครั้งนั้นในฐานะผู้บรรยายมีเพียงสองท่าน คืออาจารย์สุลักษณ์ กับผู้เขียน

คราวนั้น ทราบว่าวัดไทยในชิคาโกเป็นเจ้าภาพตั๋วเครื่องบินของผู้เขียน ทั้งนี้ เป็นการจัดการผ่านกรรมการจัดงานของสภาศาสนาโลกเอง

แม้ผู้เขียนไปในฐานะนักวิชาการสตรีที่เป็นฆราวาส แต่ก็ยึดพื้นที่สำหรับโอกาสที่ผู้หญิงจะออกบวชได้

เรียกได้ว่าเรื่องราวของภิกษุณีได้ถูกนำเสนอบนพื้นที่นานาชาติในการประชุมครั้งนั้นแล้ว จากการประชุมครั้งนี้ นำไปสู่การก่อตั้ง Peace Council

และต่อมาผู้เขียนก็ได้รับเลือกให้เป็น Peace Councilor ด้วย ร่วมกับผู้นำทางศาสนาอื่นๆ รวมทั้งองค์ทะไลลามะของทิเบต สมเด็จมหาโฆษะนันทะของเขมร ฯลฯ

 

งานประชุมระดับยักษ์อีกงานหนึ่ง พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007) คือ ที่เมืองมอนเทอเรย์ ประเทศเม็กซิโก ที่มีผู้ฟังอย่างน้อย 8,000 คน โดยมีวิทยากรชาวพุทธเพียง 2 รูป รูปหนึ่งเป็นพระภิกษุชาวจีน ท่านดูแลพื้นที่ในส่วนของมหายาน และภิกษุณีธัมมนันทาดูแลพื้นที่ในส่วนของเถรวาท

งานนี้น่าสนใจมาก เขาจัดเป็นตลาดวิชา ให้ผู้เข้าร่วมสามารถสัมผัสกับศาสนาต่างๆ ได้โดยผ่านตัวแทนที่เจ้าภาพเชิญมาเป็นวิทยากร ท่านธัมมนันทาบรรยายทั้งในห้องรวม ที่มีผู้ฟัง 8,000 คน และในห้องย่อยที่มีผู้เข้าฟัง 500 คน ที่ต้องตอบคำถามในพุทธศาสนา ตลอดจนเปิดพื้นที่ให้มีประสบการณ์ตรงกับการนั่งสมาธิตามแบบพุทธด้วย

พื้นที่บนเวทีนานาชาติเหล่านี้ เป็นการประชาสัมพันธ์การทำงานของภิกษุณี ที่เป็นตัวแทนของชาวพุทธได้เป็นอย่างดี

การทำงานของภิกษุณีจึงต้องควบคู่กันไป ทั้งทำงานในระดับย่อย คือการให้การศึกษาอบรมในหมู่ภิกษุณีเองทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็รักษาพื้นที่ให้ภิกษุณีเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติด้วย