จตุพร แนะ ชุมนุม น.ศ.ยึดจุดยืน 3 ข้อ – จี้รัฐอย่าทำลายความหวังเยาวชน

จตุพร แนะ น.ศ.ชุมนุม ยึดจุดยืน 3 ข้อ – จี้รัฐอย่าทำลายความหวังเยาวชน

เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 ร่วมกับ คณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ และ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดเสวนาในหัวข้อ “ถอดบทเรียนประสบการณ์การชุมนุมทางการเมืองและข้อเสนอต่อสังคม” #ความรุนแรงอย่าหาทำ โดยมีอดีตแกนนำขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีต ร่วมวง

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ความจริงเป็นคน 3 พฤษภา มีความเชื่อไม่ว่าชุมนุมครั้งใดก็ตาม ไม่ว่าจะความเชื่อใด ไม่ควรมีใครบาดเจ็บล้มตายหรือจองจำแม้เพียงรายเดียว 19 พฤษภา 35 ทัพแตก ได้ร่วมนำทัพใช้รามคำแหงเป็นฐานที่มั่น 19 พ.ค. ต้องยุติชุมนุม เพราะทนเห็นความตายต่อไปไม่ไหว

“การตัดสินใจลงท้องถนน หมายถึงการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ใช่ทางการทหาร เพราะอยู่ในที่โล่งแจ้ง แปลว่าจะตกเป็นเป้าได้ตลอดเวลา และโดยประวัติศาสตร์ ความเป็นรัฐจะเริ่มปฏิบัติการทางการทหารเมื่อทนไม่ไหว ทำลายจุดแข็งการชุมนุม คือสันติวิธี หลังจากนั้นเป็นเรื่องความรุนแรงตามหลังมา ดังนั้น การสร้างสถานการณ์แต่ละสมัย ไม่ต่างกัน”

“โรคแทรกซ้อนทางการชุมนุม แม้ออกแบบระบบดีเพียงใดเราก็สู้กลไกรัฐไม่ได้ ในการชุมนุมจะมีเจ้าหน้าที่รัฐใส่เสื้อสีนั้น ประกบปิดรายคน ยึดอำนาจอยู่หลังเวทีเต็มไปหมด เล่าให้ฟังเพื่อจะบอกว่า การใช้ความรุนแรงในอดีตที่ไม่ต้องการให้เกิดในปัจจุบัน เพราะความตายจะกดดัน และการปลุกม็อบให้ขึ้นง่ายกว่าเอาม็อบลง และผู้ปกครองรัฐในอดีต ก็ใช้วิธีบีบ ตั้งข้อหาหนัก ออกหมายจับ”

“ดังนั้น เหตุการณ์ปี 2553 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์แรกกับผู้ชุมนุม เข้าหัวหมด และทุกศพ ไม่มีเขม่าดินปืนแม้แต่รายเดียว 6 ศพสุดท้ายไม่ควรจะตาย วันสุดท้ายรับรายงานควาสมสูญเสียแต่ละที เราไม่สามารถทนเห็นภาพนี้จึงยุติการชุมนุม แต่รัฐต้องปล่อยตัวประชาชน แต่ปรากฏว่าไม่เป็นอย่างนั้น จึงมี 6 ศพ เกิดขึ้น ไม่ควรมีใครมาตายแม้แต่รายเดียว จึงอธิบายกับพรรคพวกเสมอว่า ไม่อยากจะเห็นวีรชน คนตาย เพราะเป็นภาพที่เจ็บ ต่อองคาพยพ พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก เมีย มันรุนแรงมากแต่ไม่ได้หมายความจะไม่ต้องมีการต่อสู้ การต่อสู้ยังต้องมีต่อไป” นายจตุพรกล่าว

“รัฐต้องไม่คิดฆ่า ไม่คิดปราบ ไม่ใช้ความรุนแรง การสร้างสถานการณ์เป็นองค์ประกอบหนึ่งให้การฆ่ามีความชอบธรรม หากรัฐบาลเห็นสิทธิการชุมนุมของประชาชน ความตายก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้ารัฐไม่ลงมือก็จะไม่มีคนตาย ความตายไม่สามารถหยุดอำนาจรัฐได้จริง จะมีคนตายต่อไปเรื่อยๆ จึงเห็นด้วยว่าความรุนแรงทั้งหมดอยู่ที่รัฐ มือที่สามรัฐจัดการได้
เราผ่านแต่ละยุคสมัย ปัจจุบันอำนาจที่เหนือปืนคือโทรศัพท์มือถือ จากประสบการณ์วาดหวังว่าความตายไม่ควรจะเกิด แต่การต่อสู้จะต้องมีต่อไป ตราบใดที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย และต้องไม่กลัวตายด้วย”

นายจตุพรกล่าวว่า ยุคปัจจุบันจะต้องมีสายใหม่ขึ้นมา คือสายเพนกวิน ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐยังมีแนวความคิด สายเหยี่ยว สายพิราบ ก็ไม่ทันการแล้ว ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงเร็วมาก รัฐปัจจุบันต้องไม่ทำลายความหวังทั้งปวงของคนหนุ่มสาว ที่มีมากกว่าทุกเหตุการณ์ เมื่อเขาลุกขึ้นมาไม่อยากให้จบด้วยความผิดหวัง ร้องขอไปยังรัฐ ให้คุยกับผู้ชุมนุม ตกลงร่วมกัน ปฏิบัติร่วมกัน ทุกอย่างจะยุติอย่างไรไม่มีปัญหา แต่ถ้าต่างคนต่างไม่พูดความจริงซึ่งกันและกัน โรคแทรกซ้อนจะเยอะ ยุคผมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตัวแทนรัฐบาล เข้าที่ชุมนุมได้ตลอดเวลา วาดหวังว่าทุกอย่างจะค่อยพ้น คุย วางแผน ออกแบบ และปฏิบัติไปตามนั้น ผู้ชุมนุมต้องการอะไร รัฐต้องรับฟัง เชื่อว่าจะเป็นการชุมนุมที่งดงามที่สุด

” ถ้ายืน 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน จะชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อย่าไปประมาทความมั่นคง และความสุดโต่งทั้งสองฝ่ายซึ่งน่าเป็นห่วงที่สุด อย่าคิดว่าจะไม่มีเรื่อง เราต้องคิดภาพเต็มไว้ก่อน จึงเห็นด้วยว่าควรดำรงความมุ่งหมาย เพราะการจะหยิบยกบางประเด็น จะมีคนจัดให้ตามลำดับ การต่อสู้จะต้องมีภูมิต้านทาน ต้องกล้าเห็นต่าง ถ้าจะทำให้การชุมนุมปลอดภัย อย่าเชื่อว่ายุคสมัยนี้การรัฐประหารไม่มีอีกแล้ว ทุกยุคพูดแบบนี้เหมือนกับหมด แล้วสุดท้ายก็จบลงแบบนั้น จึงวาดหวังว่า ธรรมศาสตร์ รัฐบาล จะปรับทัศนคติใหม่ จุดยืนเดิมที่ประกาศ จะนำไปสู่ชัยชนะ” นายจตุพรกล่าว