ในประเทศ / 19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร

ในประเทศ

 

19 กันยา

ทวงอำนาจ

คืนราษฎร

 

การชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มากด้วยสีสัน

และเข้มข้นด้วย “สงครามข่าวสาร”

ทั้งนี้ ฝ่ายผู้จัด คือ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ

ยังคงธำรงแผนปักหลักค้างคืนที่ธรรมศาสตร์ และพร้อมเคลื่อนพลไปชุมนุมที่ท้องสนามหลวง หากประชาชนมาร่วมล้นหลาม

จากนั้นจะเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 20 กันยายน

แม้จะมีอุปสรรค กรณีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่

แต่แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตาม “แนวทางการอนุญาตจัดชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย” ทุกประการแล้ว

และยืนยันถึงการมีเสรีภาพในการจัดการชุมนุม และ “จะพูดอะไรก็ได้” ภายในมหาวิทยาลัย

โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาฯ ลงนามรับรองให้ครบถ้วน

ส่วนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจ้งให้มีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุเรื่องเนื้อหาและวิธีการแสดงออกให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมายนั้น

ฝ่ายผู้จัดระบุว่า ได้มีการทำหนังสือถึงมหาวิทยาลัย แจ้งขอใช้สถานที่, แจ้งรายชื่อผู้ปราศรัย, แจ้งเนื้อหาการปราศรัยแล้ว

แต่ไม่เคยได้รับเชิญจากผู้บริหาร มธ. ให้ไปพูดคุยแม้แต่ครั้งเดียว

ทั้งนี้ “รุ้ง” น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำ ยืนยันว่า “จะไม่ขอเจรจาประเด็นห้ามพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะไม่หยุดพูด เพียงเพราะใครมาห้ามไม่ให้พูด”

“แม้มีคนไม่เห็นด้วยเยอะ เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ที่มีการพูดจากันในที่สาธารณะ แต่ก็อยากให้เปิดใจรับฟัง เพราะ 10 ข้อเรียกร้องที่นำเสนอไป ก็เพื่อให้สถาบันอยู่ได้ในสังคมปัจจุบัน ไม่ใช่การโจมตี มันไม่มีเพดานแล้ว ตอนนี้เป็นการประคับประคองให้ 10 ข้อนั้นสำเร็จ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลและสถาบัน” น.ส.ปนัสยากล่าว

และประกาศว่า ถึงที่สุด หากผู้บริหารธรรมศาสตร์จะไม่สนองตอบ พวกตนก็จะ “ตัดโซ่” และ “พังประตู” เพื่อบุกเข้าไปชุมนุมภายใน มธ.โดยไม่มีแผนสำรองจัดชุมนุมในสถานที่อื่น

 

ประเด็นอนุญาต-ไม่อนุญาตให้ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ยิ่งมีสีสันจัดจ้านขึ้น

เมื่อมีการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ กลุ่มต่อต้านผู้ชุมนุม และสนับสนุนผู้ชุมนุน

กลุ่มต่อต้าน นำโดยนายแก้วสรร อติโพธิ อ้างเป็นตัวแทนศิษย์เก่ากลุ่มสนับสนุนมติผู้บริหารธรรมศาสตร์ ที่ไม่อนุญาตเปิดพื้นที่ในการชุมนุม

เพราะเห็นว่า การใช้ชื่อของคนในธรรมศาสตร์และใช้สถานที่ธรรมศาสตร์เพื่อความเคลื่อนไหว สุ่มเสี่ยงสูงสุดที่เกิดความไม่สงบ แล้วหาคนรับผิดชอบแท้จริงไม่ได้ ถือเป็นการผิดมาตรฐานประชาธิปไตย และมาตรฐานธรรมศาสตร์โดยสิ้นเชิง

ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มที่อ้างตัวเป็น ‘นักเขียน บรรณาธิการ ศิลปิน สื่อมวลชน และประชาชนผู้เชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย’ โดยส่วนหนึ่งเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์เช่นกัน นำโดยนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ออกมาสนับสนุนผู้ชุมนุม

และเรียกร้องให้คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พิจารณาทบทวน เปิดพื้นที่ให้นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ได้แสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองอันเป็นเรื่องพื้นฐาน

รวมทั้งสนับสนุนระบบดูแลความปลอดภัยในการชุมนุม แทนการปิดกั้นผลักไสให้ออกไปรับความเสี่ยงนอกรั้วมหาวิทยาลัย

ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นร้อนระอุก่อนการชุมนุม และต้องเฝ้าดูว่า ในวันที่ 19 กันยายน ผู้ชุมนุมจะเข้าไปใช้พื้นที่ได้หรือไม่

และจะนำไปสู่ความรุนแรงและวุ่นวายตั้งแต่โหมโรงเลยหรือเปล่า

 

ประเด็นหนึ่งที่อยู่ในความสนใจ

นั่นก็คือ จำนวนผู้ที่จะเข้าร่วมการชุมนุม

เพราะนี่จะเป็นเงื่อนไขชี้ขาดว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะสำเร็จหรือล้มเหลว

ทั้งนี้ ในฝ่ายผู้ชุมนุม คือ น.ส.ปนัสยาคาดการณ์ว่าจะมีผู้มาร่วมชุมนุมไม่ต่ำกว่า 50,000-100,000 คน

สอดคล้องกับนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่วิเคราะห์สถานการณ์ว่ากระแสประชาชนปลดแอกอยู่ในกระแสขาขึ้น

โดยการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีตัวเลขผู้ชุมนุมประมาณ 4-50,000 คน ตลอดงาน

การชุมนุมครั้งต่อไปตัวเลขควรต้องเพิ่มขึ้น เพราะคนที่มาแล้วก็จะมาอีก ส่วนคนที่ไม่เคยมาก็จะมา

โดยทัพหน้าคือนักเรียน นักศึกษา

ส่วนทัพหนุนคือคนเสื้อแดง และอาจรวมถึง กปปส.-พธม.กลับใจ เพราะอกหักต่อการปฏิรูปการเมืองและมองเห็นความล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลประยุทธ์

“ตัวเลข 100,000 คนจึงมีความเป็นไปได้ในการชุมนุมรอบนี้” นายสมบัติประเมิน

 

ขณะที่ทางฝั่งฟากรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง พยายามหลีกเลี่ยงที่จะระบุถึงตัวเลขผู้ชุมนุม

แต่ก็กล่าวกว้างๆ ว่า รับทราบจากทางการข่าวแล้วว่าจะมีมวลชนจากต่างจังหวัดขึ้นมาสมทบในการชุมนุมครั้งนี้ด้วย

เมื่อถามว่าเป็นตัวเลขที่น่ากังวลหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็พอรับมือได้

ขณะที่แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคง ประเมินสถานการณ์การชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน ว่า จะมีมวลชนเดินทางมาร่วมชุมนุมประมาณ 50,000 คน

เพราะครั้งแรกที่มีการจัดชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต มีคนมาเข้าร่วมประมาณ 10,000 คน

ส่วนครั้งที่สองที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีคนมาร่วมชุมนุมประมาณ 30,000-40,000 คน

แต่ครั้งนี้จะมีกลุ่มมวลชนของพรรคการเมือง และกลุ่มคนเสื้อแดงจากต่างจังหวัดหลายจังหวัด อาทิ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี รวมถึงมวลชนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานบางส่วน เดินทางเข้ามาร่วมสมทบใน กทม.ด้วย

ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงเด็กๆ เยาวชน นักเรียน นักศึกษา แต่เป็นคนมีอายุจนถึงผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าจะไม่มีการปะทะกันรุนแรง เพราะเน้นเจรจาพูดคุย

สอดคล้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ย้ำถึงการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า หรือลดเงื่อนไข ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง

“เรื่องนี้รัฐบาลหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว”

แต่ พล.อ.ประยุทธ์รับว่า เป็นห่วงเรื่องการชุมนุม เพราะบางทีมีคนไม่หวังดีไปปลุกระดม ปลุกปั่นขึ้นมา

“ตัวผมเองไม่ห่วงอยู่แล้วว่าจะอยู่หรือจะไป แต่เป็นห่วงจะไปแก้ปัญหาไม่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญอะไรก็แล้วแต่ ใครจะทำ” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

 

จากความเป็นห่วงของ พล.อ.ประยุทธ์ดังกล่าว

ทำให้อีกมุมหนึ่งมี “ข่าว” ที่ถูกปล่อยออกมาเพื่อสกัดและดิสเครดิตม็อบ ไม่ให้ “โต” มากเกินไป อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ไม่ว่าการ กล่าวหาเรื่องท่อน้ำเลี้ยง

โดยชี้ว่าลำพังนักเรียน นักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีรายได้ คงไม่มีเงินมากมายมาใช้จ่าย

จึงต้องมีกลุ่ม องค์กร หรือบุคคลเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับการชุมนุม

ด้านหนึ่ง มีการเผยแพร่ภาพนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” แกนนำผู้ชุมนุม ไปพบกับทูตสหรัฐ

ซึ่งแม้จะเป็นภาพที่เกิดขึ้นหลายปีก่อน แต่ก็พยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่า เหล่าเยาวชนนี้ “ถูกชักใยจากต่างชาติ”

จนสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยต้องออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าไม่เคยให้ทุนสนับสนุนการชุมนุม และกรณีที่เกิดขึ้น เป็นการบิดเบือนของเว็บไซต์บางแห่ง

 

นอกจากนี้ ยังพยายามเชื่อมโยงการชุมนุมกับการเคลื่อนไหวของคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล ที่มีเป้าหมาย “ทะลุเพดาน” ไปยังเรื่องสถาบันสำคัญของชาติ

ประกอบกับแกนนำ ไม่ว่านายพริษฐ์ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นายณัฐชนน ไพโรจน์ นายภานุพงศ์ จาดนอก และนายอานนท์ นำภา เป็นต้น ถูกระบุว่าเป็นพวกฮาร์ดคอร์ มุ่งโจมตีสถาบัน

คำประกาศที่จะพูดแบบ “เบิ้มๆ” และข้อเรียกร้อง 10 ข้อของแกนนำเหล่านี้ ถูกระบุว่าจะไปสร้างความยั่วยุ ทำให้เสี่ยงเกิดความวุ่นวาย โดยมีเด็กและเยาวชนเป็นเหยื่อ จึงไม่ต้องการให้เข้ามาร่วม

เพราะอาจเป็นเงื่อนไขที่จะให้มือที่สามเข้ามาแทรกแซงให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้

ซึ่งตรงนี้อาจเป็นเงื่อนไข หรือเป็นข้ออ้างการรัฐประหาร ที่จะนำไปสู่ความวุ่นวายและรุนแรงไม่รู้จบขึ้นได้

และตอนนี้มีการพูดถึงการปฏิวัติ รัฐประหาร หนาหูขึ้น

ท่ามกลางข้อสังเกตว่า นี่เป็นการปล่อยข่าวเพื่อขู่แกนนำและผู้ชุมนุมให้กลัวหรือไม่

อีกด้านที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม คือรัฐบาลและกองทัพ ก็กล่าวหาว่าผู้ชุมนุมพยายามสร้างเงื่อนไขให้ปฏิวัติ เพื่อที่จะเป็นเงื่อนไขปลุกการ “ลุกฮือ” ต่อต้านรัฐบาลและกองทัพ อย่างรุนแรง

 

แต่ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยข่าวจากฝ่ายไหน

บรรยากาศที่อึมครึมเช่นนี้ ก็ทำให้หลายฝ่ายเฝ้ามองการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน อย่างเป็นห่วง

แม้แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคง ประเมินสถานการณ์วันที่ 19 กันยายน ว่า เป็นเพียงการทดลองรวมตัว และเคลื่อนขบวนมาที่ทำเนียบรัฐบาล

เปรียบเสมือนเป็นการซ้อมใหญ่ก่อนที่จะมีการนัดชุมนุมจริงในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่สภาจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอ    หาก ส.ว.โหวตคว่ำร่างไม่เอาด้วย ก็จะเข้าทางกลุ่มผู้ชุมนุมใน 1 เงื่อนไขทันที เพราะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่พยายามบอกว่าไม่ได้มองผู้ชุมนุมเป็นศัตรู

และจะพยายามอะลุ่มอล่วย

โดยระบุว่า หากกลุ่มผู้ชุมนุมจะใช้พื้นที่ “ละเอียดอ่อน” อย่างสนามหลวง ก็ไม่ขัดข้อง เพราะขณะนี้พื้นที่สนามหลวงแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยส่วนอีกด้านหนึ่งสามารถใช้ชุมนุมได้

ซึ่งก็ถือเป็นการแสดงท่าทีที่พร้อมจะใช้ “ไม้อ่อน” เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์

กระนั้น ก็มีกระแสข่าวออกมาอีกด้านด้วยเช่นกันว่า หากมีอะไรที่รุนแรงเหนือการควบคุม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยข้างไหน

“กฎอัยการศึก” ที่รุนแรงน้องๆ การรัฐประหาร ที่ฝ่ายความมั่นคงแอบเตรียมการไว้เงียบๆ อาจถูกงัดมาใช้ก็เป็นไปได้

และมีผู้แอบหวัง อยากจะให้ไปถึงจุดนั้นด้วย

    “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” จึงชวนระทึกใจยิ่ง