นิธิ เอียวศรีวงศ์ | คุกภาษาและคุกโรงเรียน

นิธิ เอียวศรีวงศ์

คงไม่เป็นที่แปลกใจแต่อย่างไร หากผมจะบอกว่า แถลงการณ์ฉบับแรกของคณะราษฎรนั้นใช้ราชาศัพท์เพียง 3 แห่ง (พระเชษฐา, ทรงแต่งตั้ง, ไม่ทรงฟัง) นอกจากนั้น ไม่ปรากฏอีกเลยตลอดแถลงการณ์ จริงอยู่ส่วนใหญ่พูดถึง “รัฐบาลของกษัตริย์” จึงไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ แต่ก็ยังมีอีกหลายข้อความที่อ้างถึงกษัตริย์โดยตรง แต่ไม่ใช้ราชาศัพท์

ผู้ร่าง ไม่ว่าจะเป็นคนเดียวหรือกลุ่ม ย่อมรู้ดีว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ พวกเขาจะโค่นล้มระบอบปกครองที่กษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย ราชาศัพท์ครบรูปแบบทำให้เจตนารมณ์นั้นฟังไม่ขึ้นเอาเลย เพราะเท่ากับผู้ประกาศยอมรับอยู่แล้วว่า กษัตริย์ก็ควรอยู่เหนือกฎหมาย

ถ้าประกาศฉบับนั้นพูดว่า “…ฉะนั้น จึงได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ ขึ้นดำรงสิริราชสมบัติสืบไป” แทนที่จะเป็นดังคำประกาศว่า “… ฉะนั้น จึงได้ขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป”

ถ้าประกาศพูดว่า “คณะราษฎรได้กราบทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบพระกรุณาถึงความประสงค์นี้แล้ว” แทนที่จะเป็นดังคำประกาศว่า “คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว”

อย่าว่าอะไรเลยครับ แม้แต่เติมทรงคำเดียว เช่น “หมดสมัยที่เจ้าจะทรงทำนาบนหลังราษฎร” หากผมเป็นราษฎรในสมัยนั้น ได้ยินประกาศแบบนี้ แม้จะเห็นด้วยกับคณะราษฎรทุกประการ ก็ไม่ค่อยเชื่อถือหรอกครับว่าพวกเขาจะมีความมั่นใจในตัวเองพอทำอะไรที่อยู่นอกกรอบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้จริง

ครับ ราชาศัพท์มีฤทธานุภาพมากกว่าการตอกย้ำและยืนยันช่วงชั้นทางสังคมไว้ในสำนึกของผู้คน แน่นหนาเสียขนาดที่เป็นส่วนหนึ่งของความฝันเสมอ

ปราศจากแรงกระตุ้นจากภายนอก จึงยากมากที่ผู้ดีไทยซึ่งคุ้นเคยกับราชาศัพท์จะสามารถจินตนาการถึงสังคมที่เท่าเทียมได้ ไม่ใช่เพียงเพราะมันไม่มีในชีวิตจริง แต่มันไม่มีแม้แต่ในความฝันยามหลับของพวกเขา

“ไวยากรณ์” ของราชาศัพท์นั้นไม่ได้มีแต่เพียงวากยสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว แท้จริงแล้วนั่นไม่สู้สำคัญด้วยซ้ำ เพราะตรงกับภาษาไทยที่คนไทยใช้เป็นปรกติอยู่แล้ว แต่ศัพท์ที่แปรผันไปตามสถานะทางสังคมของผู้พูดและผู้ฟังต่างหาก ที่ทำให้ราชาศัพท์เป็น “ภาษา” อีกภาษาหนึ่ง ไม่เฉพาะสรรพนามอย่างเดียว แต่รวมกริยาและนามด้วย ก็ต้องแปรผันไป ยิ่งราชาศัพท์ที่ใช้พูดกับผู้มีสถานะสูงสุดทางสังคม เช่น พระเจ้าแผ่นดินหรือพระบรมวงศานุวงศ์ การแปรผันของศัพท์ยิ่งมากจนอย่าว่าแต่พูดเลย แม้แต่ฟัง ผมก็ให้สงสัยว่าชาวบ้านไทยฟังไม่ออก

ราวกับอังกฤษในช่วงที่ถูกกษัตริย์ฝรั่งเศสยึดครอง หรืออาณานิคมในเอเชียที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ, หรือฝรั่งเศส, หรือวิลันดา เป็นภาษาราชการ ต่างล้วนเป็น “ภาษาของนาย” ที่น้อยคนรู้เรื่อง

ภาษากำกับพฤติกรรมของคนอย่างไร ก็ลองคิดดูอย่างนี้แล้วกันครับ หากกิจกรรมทางการเมืองในรูปแบบ ต้องดำเนินไปด้วยภาษาที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก การเมืองในรูปแบบย่อมเป็นพื้นที่หวงห้ามสำหรับคนส่วนใหญ่ เป็นแต่เพียงเวทีสำหรับคนจำนวนน้อยในหมู่ชนชั้นสูงไว้แข่งขันแย่งชิงกัน การเมืองของคนส่วนใหญ่กลายเป็นเรื่องของการ “กบฏ, หนีนาย, ปล้นสะดม, จำอวด, เข้าป่า, เมา, วิกลจริต, เผาบ้านเผาเมือง ฯลฯ” อย่างน้อยก็ในเอกสารราชการที่ตกทอดมาถึงเรา

นอกจากกำกับด้วยการทำให้ภาษาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการต่อรองไม่ได้แล้ว ตัวราชาศัพท์เองยังเป็น “ภาษา” ที่สร้างขึ้น เพื่อไม่ให้ใช้ในการต่อรองอีกด้วย ไม่มีศัพท์, ไม่มีสำนวน, ไม่มีการประกอบประโยค ฯลฯ เพื่อคัดค้าน, ต่อต้าน, ทักท้วง, แข็งข้อ, วิพากษ์วิจารณ์ หรืออะไรอื่นที่ไม่ใช่สยบยอม (ก็ไม่เชิงว่าไม่มีเสียทีเดียว แต่จะใช้เพื่อการนี้ให้ได้ก็จะยืดเยื้อยุ่งยากจนไม่พูดเสียดีกว่า) และนี่คือหนึ่งในเหตุผลที่แถลงการณ์ฉบับแรกของคณะราษฎรไม่ค่อยใช้ราชาศัพท์

ดังนั้น นอกจากราชาศัพท์จะช่วยตอกย้ำช่วงชั้นทางสังคมให้แข็งแกร่งแล้ว ราชาศัพท์ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างเสถียรภาพทางสังคมไปพร้อมกัน แน่นอน เสถียรภาพทางสังคมย่อมเป็นคุณแก่ทุกสังคม แต่เสถียรภาพที่แน่นหนามั่นคงชนิดขยับไม่ได้เลยกลับเป็นโทษ เพราะทำให้กลุ่มชนชั้นนำฝืนความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพ จนเสี่ยงต่อความล่มสลายไปทั้งสังคมด้วย

น่าสังเกตด้วยว่า ในขณะที่อิทธิพลของคณะราษฎรถดถอยจนสูญสิ้นไปในการเมืองไทย ราชาศัพท์ก็ยิ่งถูกใช้อย่างเต็มเหยียดมากขึ้นไปพร้อมกัน จนดูรุงรังหูสำหรับคนรุ่นผม เช่น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ขยายขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” แม้เห็นได้ชัดว่า “พระมหากษัตริย์” ในที่นี้หมายถึงสถาบัน ไม่ใช่บุคคล จึงไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ก็ตาม

ผมคิดว่า ความรุงรังของราชาศัพท์ประเภทนี้เกิดขึ้นจากความหวาดหวั่นของผู้ใช้ว่า ระบอบปกครองที่ตนสถาปนาขึ้นกำลังถูกสั่นคลอนจากความเปลี่ยนแปลงที่ถั่งโถมเข้าสู่ประเทศจากหลายทาง ราชาศัพท์จึงถูกใช้เป็นหมุดไว้ตรึงให้สังคมหยุดนิ่งไม่ผันแปร ยิ่งหวาดหวั่นต่อความเปลี่ยนแปลงมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องตรึงหมุดให้แน่นขึ้นเท่านั้น

นัยยะสำคัญของราชาศัพท์จึงคือการกำกับควบคุม

และการกำกับควบคุมนั่นแหละคือแกนกลางของการศึกษาไทย นับตั้งแต่เริ่มการศึกษามวลชนขึ้นในประเทศนี้ แต่ในขณะที่การกำกับควบคุมเป็นส่วนประกอบที่ลดความสำคัญลงเรื่อยๆ ในระบบการศึกษาของสังคมอื่น มันกลับมีความสำคัญยิ่งขึ้นในการศึกษาไทย โดยเฉพาะในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงได้ยากปรากฏชัดขึ้น

เครื่องแบบ, ทรงผม, ความสั้น-ยาวของเสื้อผ้า, พองตรงไหน, จีบตรงไหน, ถุงน่องรองเท้า, การพูดจา, อากัปกิริยา, ความรู้และความไม่รู้, ความต้องการส่วนตัว ทั้งทางธรรมชาติ (เช่น ขออนุญาตฉี่) และสังคม ฯลฯ ล้วนอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของโรงเรียน

และเช่นเดียวกับราชาศัพท์ ระเบียบหยุมหยิมเหล่านี้ ยิ่งเพิ่มจำนวนและถูกบังคับใช้เคร่งครัดขึ้น เพื่อตรึงให้สังคมหยุดนิ่งกับที่ เมื่อสัญญาณแห่งความเปลี่ยนแปลงปรากฏชัดขึ้นจนทำให้ “ระเบียบ” (อีกชนิดหนึ่ง) หวาดหวั่น

กฎระเบียบเหล่านี้ดำรงอยู่ในนามของการสร้าง “คนดี” แม้ไม่อาจอธิบายได้ว่ามันเกี่ยวกันอย่างไร แต่เป้าหมายที่แท้จริงมีอยู่สองอย่าง หนึ่ง คือสกัดกั้นการเติบโตของความเป็นตัวของตัวเอง (individuality) ของนักเรียน และสอง คือทำลายความนับถือตนเองหรือความเชื่อมั่นตนเองของเด็กๆ ลง

อะไรทำได้ ทำไม่ได้ อะไรถูก อะไรผิด และเพราะอะไร ไม่ใช่สิ่งที่นักเรียนพึงคิดเอง แต่มีระเบียบและครูบอกและกำกับเสมอ นับว่าสอดคล้องกับคติการเรียนรู้ที่มีมาในสังคมไทย นั่นคือคำตอบของทุกปัญหามีอย่างเดียว ไม่ถูกก็ผิด ดังนั้น แม้แต่จะแต่งกายอย่างไร ไว้ผมอย่างไร หรือมีอากัปกิริยาอย่างไรในแต่ละสถานการณ์ นักเรียนก็คิดเองไม่ได้ เพราะมี “ธง” กำกับอยู่แล้วว่า ทุกคนต้องเดินไปทางเดียว

แต่โลกที่นักเรียนเผชิญอยู่ และต้องเผชิญต่อไปในอนาคตไม่ได้ง่ายอย่างนั้น การคิดวิเคราะห์เพื่อแสวงหาคำตอบที่เหมาะสมแก่ตนเอง หรือแก่สถานการณ์เป็นความจำเป็น ไม่มี “ธง” ให้ฟัน โลกที่เป็นจริงต้องการความเป็นปัจเจกและความนับถือตนเองอันเป็นสิ่งที่การศึกษาไทยหวงห้ามอย่างยิ่ง

น่าประหลาดที่ท่ามกลางความล้มเหลวทางการศึกษาไทยอย่างเห็นได้ชัดเช่นนี้ การกระทำที่เรียกกันว่า “ปฏิรูปการศึกษา” ก็ยังจำกัดจุดมุ่งหมายไว้เพื่อตอบสนองความต้องการของทุนและรัฐเผด็จการ ไม่ได้มุ่งจะให้การศึกษาพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง และความนับถือตนเอง

และด้วยเหตุดังนั้น ปฏิรูปการศึกษาจึงไม่เกี่ยวกับเสรีภาพและการปลดปล่อย และอาจทำได้ภายใต้บรรยากาศของเผด็จการทหารที่พยายามจะเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ

แต่ปฏิรูปการศึกษานั้นแตกต่างจากการซ่อมเครื่องยนต์ หรือซ่อมสุขภาพคน เพราะไม่มีการศึกษาใดที่ตั้งอยู่โดดๆ ออกไปจากสังคมวัฒนธรรมที่แวดล้อมการศึกษาอยู่เสมอ ถ้ากรรมการปฏิรูปการศึกษายอมรับการรัฐประหารโดยกองทัพอย่างง่ายๆ เช่นนั้น การศึกษาที่พวกเขาปฏิรูปจะเปิดพื้นที่ให้แก่เสรีภาพและความเป็นตัวของตัวเองได้อย่างไร

ภาพในโทรทัศน์ที่แสดงให้เห็นคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาซึ่งสูงอายุมากแล้ว ขึ้นเวทีไปตบมือแปะๆ ร้องเพลงร่วมกับครูใหญ่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูจะบอกได้ชัดว่า ปฏิรูปการศึกษาเป็นแต่เรื่องเทคนิคมากกว่าปรัชญาเบื้องหลังการจัดการศึกษา ชวนท้อใจได้ดีแท้

ผมดีใจที่นักเรียนในปัจจุบันได้พยายามช่วงชิงการปฏิรูปการศึกษามาทำเอง แทนที่จะปล่อยให้อยู่ในมือของนักเรียนแก่ๆ ในคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาต่อไป