วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ฮ่องกงและหลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮ่องกงเมื่อวันวาน (8)
ในยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน (ต่อ)

การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของเติ้งเสี่ยวผิงแทนที่เหมาเจ๋อตงนั้น หากเติ้งมิได้คิดและทำอะไรที่ต่างไปจากที่เหมาเคยทำแล้ว จีนก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราได้เห็นจีนในทุกวันนี้ แต่ก็เพราะจีนที่เราเห็นในทุกวันนี้แตกต่างกับจีนในยุคเหมาอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของเติ้งจึงไม่ธรรมดา

เติ้งเป็นผู้มีบทบาทสูงเป็นอย่างยิ่งในการนำจีนเข้าสู่ยุคปฏิรูป โดยเขาได้ใช้อิทธิพลเข้าผลักดันให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศใน ค.ศ.1978 ภายใต้นโยบายนี้ทำให้จีนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาหนึ่งที่เติ้งไม่เคยละเลยเลยก็คือปัญหาฮ่องกง

การหารือปัญหาฮ่องกงระหว่างจีนกับอังกฤษเกิดขึ้นทันทีที่จีนเข้าสู่ยุคปฏิรูป โดยจีนได้เปิดการเจรจากับอังกฤษผ่านผู้ว่าการเกาะฮ่องกงเป็นครั้งแรกใน ค.ศ.1979

และการเจรจาครั้งนี้ได้ปรากฏผลเป็นที่ชัดเจนว่า จีนต้องการเกาะฮ่องกงกลับคืนมาเป็นของตนหลังสิ้นสุดสัญญาเช่าใน ค.ศ.1997

เมื่อแจ้งเช่นนั้นแล้ว สิ่งแรกที่อังกฤษได้ทำลงไปก็คือ การระงับหนังสือเดินทางของชาวจีนในฮ่องกงเพื่อสกัดกั้นคลื่นการอพยพไปยังอังกฤษในเดือนมีนาคม ค.ศ.1981 จากนั้นการเจรจาในรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งมอบเกาะฮ่องกงก็ดำเนินต่อไประหว่างสองฝ่าย

จีนและอังกฤษได้บรรลุข้อตกลงด้วยการลงนามในปฏิญญาร่วมอังกฤษ-จีน ค.ศ.1984 ที่มีสาระสำคัญว่า อังกฤษจะส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้แก่จีนเมื่อหมดสัญญาเช่าในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ.1997

และฮ่องกงจะอยู่ใต้อำนาจของจีนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1997 เป็นต้นไป

 

สาระสำคัญประการต่อมาคือ จีนสัญญาว่าจะดำรงเศรษฐกิจเสรีของฮ่องกงต่อไปอีก 50 ปีภายใต้กรอบนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่เติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้เสนอ โดยประเด็นความมั่นคงและการต่างประเทศจะอยู่ภายใต้การกำหนดของจีน

สาระสำคัญนี้นับเป็นปรากฏการณ์ทางนโยบายที่แยบยลลึกซึ้งมาก เพราะในด้านหนึ่งดูเหมือนจีนยอมให้มีการปกครองตนเองของชาวฮ่องกง

แต่อีกด้านหนึ่งกลับมีมาตรการที่จะควบคุมฮ่องกงอยู่ในที

ข้างฝ่ายอังกฤษหลังการลงนามในปฏิญญาแล้วนั้น ก็ได้อาศัยช่องโหว่จากสาระดังกล่าวข้างต้นมาจัดการกับฮ่องกงทางด้านการเมือง กล่าวคือ นับแต่ ค.ศ.1842 ที่อังกฤษปกครองฮ่องกงเป็นต้นมานั้น อังกฤษได้ใช้กลไกทางการเมืองด้วยการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาสององค์กร

องค์กรหนึ่งคือ สภานิติบัญญัติ (Legislative Council : LEGCO)

อีกองค์กรหนึ่งคือ สภาบริหาร (Executive Council : EXCO)

องค์กรแรกมีหน้าที่บัญญัติกฎหมายและพิจารณางบประมาณประจำปี

ส่วนองค์กรหลังมีหน้าที่บริหารเกาะโดยมีผู้ว่าการเป็นผู้นำองค์กร ประเด็นที่กลายเป็นปัญหาก็คือ สมาชิกขององค์กรแรกที่เรียกกันทั่วไปว่าเลกโก้นั้น ไม่เคยมีที่มาจากการเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว

แต่พอมีปฏิญญาดังกล่าว อังกฤษกลับทำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเลกโก้ด้วยการแบ่งสมาชิกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งยังคงมาจากการแต่งตั้งของอังกฤษ

แต่อีกส่วนหนึ่งให้มีที่มาจากการเลือกตั้งในแบบประชาธิปไตย

 

ส่วนหลังนี้ก็คือ นโยบายแบ่งแยกแล้วปกครองที่อังกฤษสันทัดโดยสันดาน

เพราะอังกฤษรู้ดีว่า หากให้ประชาธิปไตยกับชาวฮ่องกง (แม้เพียงส่วนหนึ่ง) แล้ว ย่อมยังความพอใจให้กับชาวฮ่องกงและเป็นที่สรรเสริญของนานาประเทศ ทั้งๆ ที่ตลอดการปกครองกว่าร้อยปีของอังกฤษนั้น อังกฤษไม่เคยแม้แต่จะคิดที่จะให้สิ่งนี้แก่อาณานิคมของตนแม้แต่น้อย

เหตุดังนั้น การเปิดที่ทางประชาธิปไตยให้แก่ฮ่องกงครั้งนี้ย่อมหมายความว่า เมื่อฮ่องกงมีประชาธิปไตยแล้ว ระบบนี้ก็จะอยู่ในสำนึกของชาวฮ่องกงสืบไป และเมื่อฮ่องกงกลับไปเป็นของจีนอย่างเต็มตัวแล้ว จีนก็ย่อมปกครองฮ่องกงแบบเผด็จการซึ่งจะทำให้ชาวฮ่องกงไม่พอใจ

เช่นนั้นแล้วก็จะเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างชาวฮ่องกงที่ต้องการประชาธิปไตย กับจีนที่ต้องการให้ฮ่องกงอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการของตน

 

การกระทำดังกล่าวของอังกฤษได้สร้างความไม่พอใจให้กับจีนมาโดยตลอด ด้วยจีนถือว่าไม่เป็นไปตามข้อตกลงในปฏิญญา แต่จีนมิอาจทำอะไรได้เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นการอาศัยช่องโหว่ที่ปฏิญญาเปิดไว้ ว่าอังกฤษจะยังคงปกครองฮ่องกงต่อไปจนกว่าจะส่งมอบให้กับจีนในปี ค.ศ.1997 และตราบใดที่อังกฤษยังคงปกครองฮ่องกง อังกฤษย่อมเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารอย่างไรก็ได้ตามแต่ใจต้องการ

ซึ่งดูเหมือนมิได้ผิดข้อตกลงแต่ประการใด ซ้ำยังทำให้อังกฤษดูดี ทั้งๆ ที่เป็นพฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอกโดยแท้

แม้จะไม่พอใจอย่างไร แต่จีนก็มิอาจหลีกเลี่ยงในอันที่จะแสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้ไปได้ และสิ่งที่จีนได้แสดงไปก็คือการประกาศใช้กฎหมายพื้นฐานแห่งฮ่องกง (Basic Law of Hong Kong) ใน ค.ศ.1988 โดยสาระสำคัญเรื่องหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้ก็คือ การยืนยันว่าฮ่องกงจะยังคงมีสิทธิในการปกครองตนเองต่อไปเป็นเวลา 50 ปี

จะว่าไปแล้ว การที่จีนประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้ชาวฮ่องกงแตกตื่นจากที่เกรงว่าจีนจะไม่ยอมให้ฮ่องกงมีประชาธิปไตย จนชาวฮ่องกงอาจอพยพออกไปอยู่ต่างแดนจนกระทบต่อเสถียรภาพของเกาะ

และหากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของจีนไปด้วย เพราะในเวลานั้นจีนกำลังได้รับการยกย่องและยอมรับจากประชาคมโลก ว่านโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศที่ทำให้จีนเป็นเสรีนิยมมากขึ้นนั้น บางทีจีนอาจเปลี่ยนตนมาเป็นประเทศประชาธิปไตยก็ได้

ด้วยเหตุดังกล่าว กฎหมายพื้นฐานจึงสร้างความมั่นใจและพอใจให้แก่ชาวฮ่องกง ความหวาดระแวงจีนจึงลดทอนลงไปได้มาก ธุรกิจและการค้าการลงทุนต่างๆ จึงดำเนินต่อไปดังที่เคยเป็น

 

สถานการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นเรื่องที่ดีต่อไป หากมิใช่เพราะวันหนึ่งได้เกิดเหตุการณ์อันไม่มีใครคาดคิดขึ้นมา

นั่นคือเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ.1989 ที่อื้อฉาวไปทั่วโลก

เหตุการณ์ดังกล่าวได้ตอกย้ำว่า จีนจะไม่ยอมให้ประชาธิปไตยได้มีพื้นที่ในจีนเป็นอันขาด การที่นานาชาติเข้าใจว่ายุคปฏิรูปของจีนอาจนำจีนไปสู่สังคมประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด และที่ถูกก็คือ จีนยอมให้มีเสรีนิยมในทางเศรษฐกิจ แต่จะไม่ยอมให้มีเสรีนิยมในทางการเมือง

และจีนเรียกเสรีนิยมทางการเมืองของนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงว่าเป็นประชาธิปไตยของชนชั้นกระฎุมพี มิใช่ประชาธิปไตยของชนชั้นกรรมาชีพภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

การตอกย้ำเช่นนี้ย่อมสวนทางกับความรู้สึกนึกคิดของชาวฮ่องกงอย่างแน่นอน เพราะชาวฮ่องกงรู้สึกดีกับเสรีนิยมทางเศรษฐกิจมาเป็นเวลานับร้อยปีแล้ว และเมื่อได้รับเสรีนิยมทางการเมืองเข้าไปอีก อย่างหลังนี้ก็เข้าไปเสริมให้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่ดี และมันก็เป็นสิ่งเดียวกับที่นักศึกษาจีนต้องการเช่นกัน

เหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมินจึงเท่ากับดับฝันของชาวฮ่องกงไปในตัว

และส่งผลให้ชาวฮ่องกงจำนวนไม่น้อยอพยพออกจากฮ่องกง และเกิดภาวะสมองไหลทั้งในจีนและฮ่องกงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกงได้ถูกจัดตั้งขึ้นมา และทำการเคลื่อนไหวในประเด็นประชาธิปไตยกับสิทธิมนุษยชนนับแต่นั้นมา

ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาส่วนหนึ่งในเลกโก้ก็ยังคงดำเนินต่อไป พร้อมกับการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองต่างๆ ตามระบอบประชาธิปไตย และดำเนินไปท่ามกลางความไม่พอใจของจีน

 

หลังเหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมินเรื่อยมา เรื่องราวของฮ่องกงถูกบอกเล่าออกมาในลักษณะต่างๆ ยิ่งใกล้วันส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้แก่จีนเข้ามา เรื่องราวนั้นก็ถูกนำเสนอถี่ยิ่งขึ้น สื่อมวลชนจากทั่วทุกมุมโลกต่างเข้าไปในฮ่องกงเพื่อทำข่าววันสำคัญทางประวัติศาสตร์

ครั้นวันนั้นมาถึง การส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้แก่จีนในช่วงรอยต่อของเที่ยงคืนวันที่ 30 มิถุนายนกับวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1997 เป็นไปอย่างราบรื่น เอิกเกริก และตื่นตาตื่นใจ พลันที่การส่งมอบคืนเป็นที่เรียบร้อย การเฉลิมฉลองก็เริ่มขึ้น

คีตนิพนธ์ซิมโฟนีหมายเลข 9 ของลุดวิก ฟาน บีโธเฟ่น (Ludwig van Beethoven, ค.ศ.1712-1773) ดังกระหึ่มก้องหอประชุมที่ทำพิธี ในขณะที่ภายนอกหอประชุมก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย โดยมีตำรวจฮ่องกงพยายามสลายการชุมนุมด้วยการเปิดเพลงผ่านลำโพงขนาดใหญ่ เพื่อกลบเสียงอภิปรายผ่านโทรโข่งของกลุ่มผู้ชุมนุม

เพลงที่ตำรวจเปิดเพื่อกลบเสียงกลุ่มผู้ชุมนุมคือ ซิมโฟนีหมายเลข 5 ของบีโธเฟ่น