คนของโลก : อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป

การประท้วงต่อต้านผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเบลารุสกินเวลายาวนานถึง 5 สัปดาห์แล้ว

ประชาชนจำนวนมากที่เชื่อว่ามีการโกงคะแนนเสียงเลือกตั้งออกมาชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

แน่นอนว่าตำรวจออกมาปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงและเด็ดขาด ขณะที่ผู้นำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลชื่อดังหลายคนบางรายถูกไล่ล่าจับกุมและบางรายต้องหนีไปต่างประเทศ

นั่นคือผลงานของ “อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก” ประธานาธิบดีเบลารุส วัย 65 ปี ที่ครองเก้าอี้มานาน 26 ปี ผู้ที่ถูกกล่าวขานว่า “ผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายแห่งภูมิภาคยุโรป”

 

ลูกาเชนโกปกครองประเทศที่แยกตัวจากอดีตสหภาพโซเวียตที่มีประชากร 9 ล้านคนนับตั้งแต่ปี 1994 ก้าวขึ้นสู่อำนาจหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1992 ภายใต้บุคลิกโดดเด่น มีหนวดเป็นเอกลักษณ์

ลูกาเชนโกสร้างภาพตัวตนในฐานะ “คนของประชาชน” เริ่มมีชื่อเสียงทางการเมืองตั้งแต่ในยุคสหภาพโซเวียต ในฐานะ “พ่อ” ผู้ปกครองรัฐการเกษตร

ตัวตนในฐานะ “พ่อ” นี้เองนำมาซึ่งการปกครองแบบเผด็จการรวมศูนย์ การกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่บางรายถูกอุ้มหายอย่างไร้ร่องรอย ขณะที่สื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพในการทำหน้าที่

ลูกาเชนโกปกครองโดยมีคณะกรรมการความมั่นคงแห่งรัฐ หรือ (เคจีบี) กองกำลังชื่อเดียวกันกับที่สหภาพโซเวียตเคยมี เป็นเครื่องมือในการครองอำนาจ ขณะที่ลูกาเชนโกใช้การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจมาอย่างต่อเนื่อง นั่นทำให้เบลารุสเป็นประเทศที่มีกฎหมายห้ามการดูหมิ่นประธานาธิบดี ซึ่งกำหนดโทษจำคุกสูงสุดเอาไว้ถึง 5 ปี

จากชีวประวัติส่วนตัวในเว็บไซต์ประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการระบุว่า ลูกาเชนโก “เป็นรัฐบุรุษที่ได้รับความนิยมจากคุณงามความดีและแรงสนับสนุนจากประชาชน”

 

เว็บไซต์ระบุเอาไว้ว่า ลูกาเชนโกชนะในการเลือกตั้งด้วยสัดส่วนคะแนนสูงกว่า 75 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปี 1994, 2001, 2006 และ 2010 อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่มีการระบุถึงผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ลูกาเชนโกชนะด้วยสัดส่วนคะแนนมากถึง 80.23 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะเกิดเป็นการประท้วงครั้งใหญ่

ภายใต้การปกครองของลูกาเชนโก ทำให้เบลารุสกลายเป็นประเทศที่ถูกมองว่าเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่สุดของสหภาพโซเวียตในยุคนี้

ถนนหนทาง สวนสาธารณะสะอาดตา ไร้ขยะและกราฟฟิตี้ รถยนต์ขับอย่างมีมารยาท ไร้มลพิษทางเสียง ประชาชนใช้ชีวิตอย่างสงบ เป็นระเบียบมาตลอดเกือบ 30 ปี ทำให้เบลารุสกลายเป็นประเทศที่ติด 1 ใน 10 ของโลกที่มีอาชญากรรมและความรุนแรงต่ำที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม ประเทศเบลารุสกลับเป็นชาติยุโรปที่มีเสรีภาพสื่ออยู่ในระดับต่ำ ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 153 จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลกในดัชนีเสรีภาพสื่อด้วยเช่นกัน

การอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานของประธานาธิบดีเบลารุส เป็นผลมาจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกาเชนโกและวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่พร้อมส่งความช่วยเหลือทางการทหารให้รัฐบาลเบลารุสได้ทุกเมื่อหากได้รับการร้องขอ

ส่วนความสัมพันธ์ของลูกาเชนโกกับชาติตะวันตก เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ที่ลูกาเชนโกอ้างว่า มีความพยายามจากต่างชาติต้องการโค่นล้มตนจากอำนาจ

ขณะที่สหภาพยุโรปออกมาประกาศคว่ำบาตรเบลารุสรอบใหม่ เพื่อตอบโต้การปราบปรามผู้ประท้วงของรัฐบาลเบลารุส

 

ในช่วงที่ผ่านมาแรงต่อต้านประธานาธิบดีลูกาเชนโกที่เคยอยู่แต่ในเงามืด เริ่มปรากฏออกสู่สายตาสาธารณะมากขึ้น

มีรายงานว่า ในการเดินทางเยือนโรงงานผลิตรถแทร็กเตอร์ของลูกาเชนโกเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีแรงงานหลายร้อยคนต่างเดินออกจากพื้นที่จัดงาน บางรายตะโกน “หยุดงาน!” แสดงออกว่าตนจะร่วมในการรณรงค์เรียกร้องให้แรงงานในบริษัทของรัฐร่วมหยุดงานประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี

มีรายงานด้วยว่า พนักงานหน่วยงานสื่อของรัฐเองหลายสำนัก รวมถึงเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของประเทศอีกจำนวนมาก ต่างออกมาแสดงจุดยืนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ด้วยการโพสต์จดหมายลาออก รวมไปถึงแชร์ภาพการทิ้งเครื่องแบบลงถังขยะ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ลูกาเชนโกมีทางเลือกอยู่สองทางในเวลานี้ก็คือ ยืนยันอยู่ในอำนาจต่อไป ขอกำลังเสริมจากรัสเซีย และปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรง ทางเลือกนี้อาจเกิดความรุนแรงที่อาจส่งผลกระทบที่คาดไม่ถึง

หรืออีกทางก็คือ ทำตามเสียงเรียกร้องของประชาชน จัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นใหม่ ทางเลือกที่มีโอกาสเกิดขึ้นนี้ยากมากถึงมากที่สุด