“In the Flesh” : หนังวิพากษ์ยุคสมัย ที่ยังไม่สมบูรณ์พร้อม

คนมองหนัง

“In the Flesh” เป็นหนังไทยฟอร์มเล็ก (ใช้ทุนสร้างเฉพาะส่วนโปรดักชั่นในหลักแสนบาท) ผลงานการกำกับฯ ของ “ก้อง พาหุรักษ์” ที่ได้ฉายเปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเพิ่งปิดฉากไป

ก้อง ที่มีเครดิตเป็นคนทำหนังสั้นมาก่อน เลือกจะนำเสนอภาพยนตร์เล็กๆ ของเขา ด้วยโครงสร้างเรื่องราวอัน “ใหญ่โต”

“In the Flesh” เริ่มต้นโปรเจ็กต์และเริ่มถ่ายทำไปได้ราว 60 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ 5-6 ปีก่อน ก่อนจะค่อยๆ สานต่อส่วนที่เหลือ จนกลายเป็นผลงานชิ้นสมบูรณ์ในปี 2560

อย่างไรก็ดี เนื้อหาที่หนังบอกกล่าวกลับมีความร่วมสมัยเป็นอย่างยิ่ง

หนังของก้องเล่าเรื่องของสังคมดิสโทเปีย ที่ทุกคนในโลกเฉพาะดังกล่าวต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของ “คนในเครื่องแบบ”

ความสัมพันธ์ไม่เท่าเทียมเช่นนั้นถูกสะท้อนออกมาในรูปของ “รัฐ” ที่กดขี่ “พลเมือง” “ผู้ชาย (ในเครื่องแบบ)” ที่กดขี่ “ผู้หญิง” ตลอดจนอำนาจซึ่งใช้ตรวจตราสอดส่องผู้คนในสังคมอย่างเบ็ดเสร็จสัมบูรณ์

หนังดำเนินเรื่องผ่านตัวละครหลัก ซึ่งเป็นเด็กสาวสองคน คือ “ดาริน” และ “เมษา”

ทั้งคู่เป็นเพื่อนสนิทกันและต้องไปทำงานที่แปลงเกษตร ซึ่งถูกกำกับดูแลโดยคนในเครื่องแบบ

ดารินอาศัยอยู่กับแม่ในบ้านทาวน์เฮ้าส์ ผิดกับเมษาที่อาศัยอยู่ในแฟลตเสื่อมโทรม แม่ของดารินเป็น “เมียเก็บ” ของชายในเครื่องแบบคนหนึ่ง เธอจึงมีเส้นสายทางสังคมและฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีพอสมควร ผิดกับเมษาที่ขัดสนและขาดแคลนโอกาสมากกว่า

“In the Flesh” พยายามพูดถึงประเด็นการถูกบีบคั้น สภาวะไร้ทางเลือก การลุกขึ้นสู้ และการดิ้นรนหลบหนีไปสู่โลกชนิดอื่นๆ (ที่ดีกว่า) ผ่านสถานการณ์กึ่งฝันกึ่งมายา

สำหรับแฟนนวนิยายไทยร่วมสมัย ถ้าใครได้ดูหนังเรื่องนี้ อาจนึกถึงนิยายของ “ทินกร หุตางกูร” อยู่พอสมควร ทั้งในแง่บรรยากาศ ลักษณะตัวละคร และประเด็นหลักที่หนัง/หนังสือสื่อสารออกมา

แม้จะมี “ประเด็นที่ทรงพลังและร่วมสมัย” อยู่ในมือ แต่ “In the Flesh” ก็ยังมิใช่ภาพยนตร์ที่ “สมบูรณ์พร้อม” หรือ “น่าพอใจ” มากนัก

กล่าวคือ แม้องค์ประกอบหลายประการในเรื่องราว น่าจะทำให้คนดูชาวไทย “อิน” กับหนังเรื่องนี้ได้ไม่ยาก ทว่า ไปๆ มาๆ กลับเหมือนมี “ม่านบางๆ” ที่คอยกั้นขวางผู้ชมไม่ให้ดำดิ่งลงไปสู่ใจกลางส่วนลึกสุดของโลกเฉพาะ/สังคมจำลองภายในหนัง

คนดูบางส่วนเชื่อว่าปัญหาอาจมาจากเรื่องงบประมาณการถ่ายทำที่จำกัดจำเขี่ย ซึ่งส่งผลให้ผู้กำกับภาพยนตร์ไม่สามารถถ่ายทอดภาพและสภาพของโลกดิสโทเปียออกมาได้อย่างหมดจดน่าเชื่อถือ

แต่ก็น่าตั้งคำถามต่อว่าหนังสื่อสารประเด็นของตนได้ไม่มีพลังมากพอ เพียงเพราะสถานที่ถ่ายทำแบบบ้านๆ และเครื่องแต่งกายในระดับหนังสั้น/ละครเวทีนักศึกษาเท่านั้นหรือ?

หรือจริงๆ “In the Flesh” ยังมีปัญหาอย่างอื่นอีก?

เช่น แม้ดูเหมือนว่าผู้กำกับฯ จะมีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนในการเลือกนำเสนอหนังผ่านภาพ “ขาว-ดำ” ประมาณร้อยละ 99 ของเรื่อง แต่ท้ายสุด การตัด/ขัดกันระหว่างเนื้อหาในส่วน “ขาว-ดำ” กับเนื้อหาในส่วน “สีปกติ” ก็ไม่ได้มีความคมคาย หรือสร้างอารมณ์อึ้งทึ่งใดๆ ให้แก่คนดูมากนัก

ขณะเดียวกัน การพยายามโคลสอัพใบหน้าตัวละครก็ไม่ได้ส่งผลให้คนดูเข้าใจหรือเอาใจช่วยบุคคลในจอเหล่านั้นมากขึ้น ซึ่งนี่อาจเป็นปัญหาทั้งจากการกำกับภาพและกำกับการแสดง

ปัจจัยสำคัญอีกข้อ ที่ผมรู้สึกว่าอาจเป็นจุดเหนี่ยวรั้งทำให้ “In the Flesh” ไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร ก็คือ รายละเอียดต่างๆ ในบทภาพยนตร์

เพราะถึงแม้โครงเรื่องหลักหรือแก่นแกนเรื่องจะมีความน่าสนใจ แต่พอได้ดูหนังไปเรื่อยๆ เราจะพบว่ากฎเกณฑ์ ระบบตรรกะ หรือรูปแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจในโลกดิสโทเปียของภาพยนตร์เรื่องนี้ มีความ “ง่าย-ทื่อ” มากเกินไป และ “สลับซับซ้อน” น้อยเกินไป

“คนในเครื่องแบบ” จึงแทบจะกลายเป็น “กระสอบทราย” ให้คนทำหนังและเหล่าตัวละครเพศหญิงได้วิพากษ์หรืออัดเล่นอย่างสาแก่ใจในตอนท้าย

“นิทานเปรียบเทียบ” ทำนองนี้อาจจะแลดูเวิร์ก สำหรับการผลิตงานศิลปะ “โปรประชาธิปไตย” ช่วงปี 2553-54 ซึ่งเป็น “ห้วงเวลาพิเศษ” ที่สอดคล้องกับการตั้งไข่ของ “In the Flesh” พอดี

แต่เมื่อนำภาพยนตร์มาวางลงบนสภาพการณ์ของสังคมยุคปัจจุบัน (หรือโลกความจริงนอกสังคมดิสโทเปียภายในหนัง) มันก็เหมือนจะไม่เท่าทันกับบริบทของเหตุการณ์ที่เคลื่อนหน้าไปไกลลิบ

จนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทั้งน่าเศร้ากว่า ต่อกรด้วยยากกว่า และเต็มไปด้วยเหลี่ยมมุมซับซ้อนมากกว่าเรื่องสมมุติในหนังอย่างเห็นได้ชัด

จึงอาจกล่าวได้ว่าไม่ใช่เพียงงานโปรดักชั่นขาดแคลนงบประมาณเท่านั้น ที่ทำให้ “In the Flesh” พร่องความน่าเชื่อถือลงไป แต่รายละเอียดปลีกย่อยของเนื้อหาที่ไม่อัพเดต ก็ช่วยขับเน้นให้ผู้ชมมองเห็นจุดอ่อนข้อนั้นได้เด่นชัดขึ้น

อย่างไรก็ดี “In the Flesh” ยังมีองค์ประกอบหลายอย่างที่น่าสนใจ

หนังมีฉากเซอร์ไพรส์ในช่วงท้ายเรื่องที่ทรงพลังไม่น้อย (แม้จะไม่แปลกใหม่มากมาย)

ผมยังชอบประเด็นที่ผู้กำกับฯ ซ่อนเอาไว้ในหนัง นั่นคือ ไม่ว่าคุณจะสังกัด “ชนชั้น” ไหน (คนชั้นกลางระดับบนๆ หน่อย หรือคนชั้นกลางระดับล่าง) แต่หากคุณต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเผด็จการ และคุณมิได้มีสถานะเป็น “ชนชั้นนำ” แล้ว พวกคุณก็มีโอกาสถูกรัฐกดขี่ข่มเหงได้ทั้งนั้น

นอกจากนี้ ประเด็นสรุปที่พูดเรื่อง “เยาวชนคนรุ่นใหม่” ผู้เคยเปี่ยมฝันและคาดหวังถึงโลกที่ดีกว่า ซึ่งค่อยๆ เติบโตกลายเป็น “ผู้ใหญ่” ที่สยบยอมต่อระบอบอำนาจแบบเดิม ก็ชวนให้คนดูฉุกคิดได้ไม่น้อย

เหนือสิ่งอื่นใด ภาพยนตร์ที่มีทั้งจุดดีและจุดด้อยอย่าง “In the Flesh” สมควรจะได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างและถูกจดจำ ในฐานะของผลงานทางวัฒนธรรมซึ่งพยายามจะ “วิพากษ์ยุคสมัย” ณ ช่วงเวลาที่มันถือกำเนิดขึ้นมา