ขัดแย้งด้วย “วัย” หรือ “ความเชื่อ”

ครั้งหนึ่ง ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิบายสร้างทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ขึ้นมาอธิบายโครงสร้างทางการเมืองไทยไว้ในมุมของ “คนชนบท” กับ “คนเมือง”

ทำนองว่าอำนาจของคนชนบทคือ “เลือกผู้ที่จะมาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ”

ขณะที่อำนาจของคนเมืองอยู่ที่ “ตรวจสอบการทำงาน และล้มรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม”

วงจรอุบาทว์ของการเมืองจึงอยู่ที่คนชนบท หรือคนระดับรากหญ้าซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ มักใช้อำนาจเลือกผู้บริหารประเทศได้สำเร็จ แต่มีจุดอ่อนอยู่ที่คนที่เลือกเข้ามานั้นขาดความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการ ทำให้เมื่อถูกตรวจสอบมักไม่ผ่าน ง่ายต่อการหาเหตุมาต่อต้านและถูกโค่นล้ม

การเมืองเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพเสมอมา

อย่างไรก็ตาม คล้ายว่า “ทฤษฎีสองนครา” ของ “ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” อธิบายได้ชั่วคราว

เพราะเมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” สร้างพรรคไทยรักไทยขึ้นมา โดยประสานเอา “นักบริหารผู้ประสบความสำเร็จจากคนเมือง” มาทำงานร่วมกับ “เครือข่ายผู้กว้างขวางในท้องถิ่น” ซึ่งเป็นแก่นแกนของนักการเมืองท้องถิ่นชนบทและคนรากหญ้า สามารถบริหารจัดการประเทศจนได้รับการบยอมรับจากทั่วโลก และมีเสถียรภาพเหลือเฟือในฐานะพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั่วประเทศอย่างท่วมท้น

กลับกลายเป็นว่าที่สุดแล้ว การเมืองที่รวมเอา “สองนคราประชาธิปไตย” มาร่วมกันทำงานก็ถูกต่อต้านโค่นล้มอยู่ดี ด้วยข้อกล่าวหาสารพัด เพื่อเปิดทางให้ “ผู้นำกองทัพ” พลิกกลับมายึดครองอำนาจบริหารประเทศ

ความพยายามดิ้นรนของฝ่าย “นักการเมือง” ที่ยืนหยัดต่อสู้จาก “ไทยรักไทย” มาเป็น “พลังประชาชน” มาเป็น “เพื่อไทย” แม้จะพิสูจน์ว่า “ประชาชนส่วนใหญ่” ให้การสนับสนุน แต่ที่สุดแล้ว “อำนาจบริหารประเทศ” กลับเป็นของ “ตัวแทนจากกองทัพ” อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และคราวนี้ไม่ใช่แต่การใช้กำลังทหารและอาวุธเข้ายึดเหมือนที่เคยเป็น ว่ากลับมีการเขียนกติกาโครงสร้างอำนาจ และวางเครือข่ายในกลไกควบคุมให้เกิดการสืบทอดอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชนไว้อย่างมั่นคง

แม้แต่ตัว “ดร.เอนก” เองยังเลือกที่จะเป็นหนึ่งในโครงสร้างอำนาจแบบนั้น

กระทั่งเกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ระหว่าง “เยาวชนของชาติ” ที่มองไม่เห็นความหวังในชีวิตกับโครงสร้างอำนาจแบบนี้ ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องอนาคตที่ดีกว่า กับ “คนรุ่นเก่ากลุ่มหนึ่ง” ที่ไม่เชื่อมั่นใน “อำนาจประชาชน”

คล้ายกับว่านี่เป็นสถานการณ์ที่ต้องเขียนทฤษฎีขึ้นมาใหม่เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางการเมือง

เป็นทฤษฎีที่สะท้อนความขัดแย้งระหว่างวัย คนรุ่นใหม่ คัดง้างกับคนรุ่นเก่า

สรุปง่ายๆ ว่า “คนรุ่นใหม่” กับ “คนรุ่นเก่า” ขัดแย้งกันทางความคิดนั้น กลับยังสรุปเช่นนั้นแบบชัดๆ ไม่ได้

ผลการสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุดเรื่อง “ชูสามนิ้วและผูกโบขาวในโรงเรียน” ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 7.52 อายุไม่เกิน 25 ปี, ร้อยละ 16.25 อายุ 26-35 ปี, ร้อยละ 21.11 อายุ 36-45 ปี, ร้อยละ 33.79 อายุ 45-59 ปี, ร้อยละ 21.33 อายุ 60 ปีขึ้นไป

สรุปว่าส่วนใหญ่อยู่ในวัยอาวุโส

เมื่อถามว่า เห็นด้วยกับการแสดงออกเช่นนี้ของนักเรียนหรือไม่ ที่เห็นด้วยมาก ร้อยละ 34.78, ที่ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 17.23, ขณะที่ร้อยละ 15.41 ไม่ค่อยเห็นด้วย, ร้อยละ 25.82 ไม่เห็นด้วยเลย

สะท้อนว่าในที่สุดแล้ว แม้ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ไม่ใช่กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือนักเรียน-นักศึกษา ก็ไม่ได้ปฏิเสธการเรียกร้อง และการแสดงความคิดของเยาวชน

ขณะที่เมื่อถามว่า เชื่อหรือไม่ว่าสังคมไทยกำลังเผชิญกับความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง ร้อยละ 51.33 ตอบว่าเชื่อมาก, ร้อยละ 28.17 ตอบว่าค่อนข้างเชื่อ, มีแค่ร้อยละ 8.43 ไม่ค่อยเชื่อ และร้อยละ 9.11 ที่ไม่เชื่อเลย

ขณะที่ร้อยละ 2.96 เฉยๆ ไม่ตอบ ไม่สนใจ

นั่นแปลว่า “ความคิดต่อต้านโครงสร้างอำนาจแบบปัจจุบัน” ที่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมนักการเมืองบางประเภทเข้าไปด้วย ไม่ได้มีเฉพาะในความคิดของเยาวชนคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับคนรุ่นเกลางและรุ่นเก่าที่เชื่อในอุดมการณ์อย่างเดียวกับคนรุ่นใหม่ด้วย

และเมื่อเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

การฝืนที่จะรักษาอำนาจของตัวเองไว้ของชนกลุ่มน้อย ย่อมเกิดแรงเสียดทานอย่างสูงยิ่ง

ไม่ว่าจะมีกองกำลัง มีอาวุธ และเครือข่ายสนับสนุนเพียงใดก็ตาม ก็ไม่มีทางที่จะรักษาอำนาจไว้อย่างราบรื่นได้