ชวนเที่ยวปากน้ำประแส จ.ระยอง สร้างอาชีพ กระจายรายได้ วิถีเข้มแข็ง-ชุมชนยั่งยืน

“หลังจากซีพีเอฟ เข้ามาต่อยอดจากโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ต.ปากน้ำประแส สิ่งแวดล้อมดีขึ้นเพราะป่าโกงกางมีมากขึ้น กุ้งหอยปูปลาคืนถิ่นเพราะมีแหล่งพักอาศัย สุดท้ายชาวบ้านก็หาอาหารชายทะเลได้ง่ายขึ้น เราก็ยกยอหาเคยได้มากขึ้น นอกจากนี้ชุมชนยังรณรงค์เรื่องขยะ ทำให้ธรรมชาติดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกด้าน ผู้คนมีรายได้เพิ่ม แม่ค้าก็ขายของได้ คนกลับมาอยู่บ้านกันเยอะ ผมอยากชวนมาดูว่าชุมชนเราเปลี่ยนไปยังไง”

เนื่องจากเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว ชุมชน ต.ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง จึงได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 อยู่บ้าง แต่ด้วยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ทั้งธรรมชาติ ทรัพยากรป่าชายเลน และสัตว์น้ำ บวกกับอัตลักษณ์วิถีชุมชนที่เข้มแข็ง ชุมชนจึงยังยืนหยัดฝ่าวิกฤตมาได้ และทันทีที่ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ชุมชนปากน้ำประแส ซึ่งบริหารจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน จึงเริ่มคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง 

เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนปากน้ำประแส เกิดจากการรวมตัวกันทำเส้นทางท่องเที่ยวของคนในชุมชน ที่ไม่เพียงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชุมชน  แต่ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอีกด้วย    โดยกิจกรรมที่ออกแบบสำหรับนักท่องเที่ยวไว้ 2 วัน 1 คืน ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะกับการท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศ นอกจากจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยการอุดหนุนสินค้าอาหารพื้นบ้านและสินค้าที่ระลึกจากชุมชนแล้ว ยังเป็นช่วยให้ชาวชุมชนเกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกันด้วย 

ฐานที่ชุมชนปากน้ำประแสมีก็เช่น ล่องเรือในคลองแสมผู้ กิจกรรมคราดหอย ซึ่งเป็นอาชีพในชุมชนปากน้ำประแส ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ ฐานทำกะปิ ฐานชาใบขลู่ ผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจของชุมชน อาหารพื้นบ้าน แจงลอน รวมถึงกิจกรรมการทำลูกประคบสมุนไพร และขนมไทยสูตรโบราณ ซึ่งทั้งหมดช่วยส่งเสริมอาชีพและรายได้ เช่น อาชีพขับสามล้อเครื่อง ทำขนมไทย  ทำกะปิ ทำชาใบขลู่ เป็นต้น สิ่งที่ตามมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนอย่างเห็นได้ชัด คือชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

ยุทธหัตถ์ อยู่สมบูรณ์ หรือ ลุงแมน เจ้าของบ้านฐานการทำกะปิ ต.ปากน้ำประแส เล่าว่า ก่อนหน้านี้ทำอาชีพเป็นช่างไม้และต่อเรือ ปัจจุบันงานช่างไม้น้อยลง แต่อาชีพที่ทำให้ยั่งยืนอยู่ได้ก็คือภูมิปัญญาการทำกะปิเคยสดของครอบครัว และประจวบเหมาะกับมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนปากน้ำประแสมากขึ้น ซึ่งบ้านของลุงแมนก็เป็นหนึ่งในเส้นทางการท่องเที่ยว ในเป็นฐานกะปิ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้การทำกะปิ เริ่มตั้งแต่การยกยอหาเคย ขั้นตอนการเคล้า การหมัก การตำ และได้ทดลองชิม พร้อมทั้งซื้อกลับไปเป็นของฝากด้วย

“จุดเด่นของเราก็คือกะปิจากเคยสด เพราะสิ่งแวดล้อมบ้านเราอุดมสมบูรณ์เคยจึงมีมาก การยกยอก็ทำให้เห็นสดๆ หน้าบ้าน พอมีแขกมาท่องเที่ยวรายได้ก็ดีขึ้น จากปกติเราทำกะปิเคยไว้กินเองในครอบครัว แต่ตอนนี้มีคนมาซื้อกะปิมากขึ้น และยังได้เผยแพร่ภูมิปัญญาของปู่ย่าให้คนมาเที่ยวได้เรียนรู้ ผมว่าได้ประโยชน์มาก ซึ่งก่อนหน้าจะมีโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มมาที่บ้าน เราจะมีต่อครั้งประมาณ 400-500 บาท ซึ่งยังไม่นับรวมค่าขายกะปิ หายไปช่วงโควิดระบาด แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาแล้ว ทั้งที่จองมาเที่ยวส่วนตัวและที่มาเป็นหมู่คณะ”

ลุงแมน บอกอีกว่า “หลังจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เข้ามาต่อยอดจากโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน พื้นที่ 54 ไร่ ที่ ต.ปากน้ำประแส สิ่งแวดล้อมดีขึ้นเพราะว่าเขามาสนับสนุนปลูกป่า ป่าโกงกางมากขึ้น กุ้งหอยปูปลาคืนถิ่นเพราะมีแหล่งพักอาศัย มีแหล่งหลบภัยและวางไข่ สุดท้ายชาวบ้านก็หาอาหารชายทะเลได้เยอะขึ้น ได้ง่ายขึ้น เราก็ยกยอหาเคยได้มากขึ้น นอกจากนี้ชุมชนยังมีการรณรงค์เรื่องขยะ ทำให้ธรรมชาติดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าดีกับชุมชนทุกด้าน ผู้คนมีรายได้ สามล้อมีเงินเพิ่ม แม่ค้าก็ขายของได้ คนรุ่นเก่ายังอยู่ในท้องถิ่น คนที่เคยทำงานในเมืองก็กลับมาอยู่บ้านกันเยอะ ผมอยากชวนนักท่องเที่ยวมาดูว่าชุมชนเราเปลี่ยนไปยังไง” 

ด้าน “นิยม เกื้อหนุน” หรือ ลุงหม่อง ตัวแทนกลุ่มอาชีพขับสามล้อ หนึ่งในอาชีพที่คุณภาพชีวิตดีขึ้นจากการท่องเที่ยววิถีชุมชนปากน้ำประแส เล่าว่า การที่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่เข้ามาส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนปากน้ำประแส เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ชาวบ้านมีงานทำ และยังช่วยหานักท่องเที่ยวมาให้ อย่างตัวผมวิ่งสามล้อรับจ้างประจำวินอยู่บริเวณเรือรบหลวง และรับซื้อของเก่าด้วย เมื่อคนมาท่องเที่ยวบ้านเรามากขึ้น รายได้เราก็มากขึ้น ช่วงนี้เริ่มฟื้นฟู มีนักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาท่องเที่ยวบ้างแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มาเป็นกลุ่ม 20-30 คน กลุ่มใหญ่ที่สุดประมาณ 50 คน 

“รายได้ของกลุ่มสามล้อจะแตกต่างกันแล้วแต่กลุ่มและประเภทของนักท่องเที่ยว ถ้ามาเที่ยวแบบเต็มวัน กลุ่มสามล้อจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 450 บาท/คน/วัน ถ้าหากเป็นโปรแกรมที่นักท่องเที่ยวอยู่ไม่เต็มวันจะได้รับค่าจ้าง 300 บาท/คน/วัน 

วันหนึ่งผมเคยรับนักท่องเที่ยวเยอะที่สุดในวันเทศกาลและวันหยุดยาว เฉลี่ยวันละ 1,000 บาท หรือวันที่มาเป็นหมู่คณะได้มากที่สุดประมาณ 800-900 บาท/วัน ซึ่งไม่ใช่ผมคนเดียวที่มีรายได้แบบนี้ เพราะสามล้อในกลุ่มอีกประมาณ 20-30 คัน ทุกคนได้รายได้แบบนี้หมด เป็นการกระจายรายได้กันถ้วนหน้า”

“พอการท่องเที่ยวบ้านเรามันดีขึ้น คนก็กลับมาอยู่บ้านเพื่อทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมากขึ้น กลับมาเป็นแม่ค้าบ้าง ขายของฝากบ้าง ช่วยการท่องเที่ยว เพราะมันมีช่องทางที่จะหากินได้ ได้อยู่กับบ้าน ไม่ต้องรีบร้อนและอยู่ร่วมกับชุมชน พอทุกบ้านมีรายได้เพิ่ม ชุมชนก็แข็งแรง สิ่งสำคัญคือคนในชุมชนต้องช่วยเหลือกัน ทั้งดูแลสิ่งแวดล้อม รักษาความสะอาด เคารพกฎระเบียบ ป่าและสัตว์ทะเลที่มีเพิ่มมากขึ้นก็ต้องร่วมกันอนุรักษ์ สิ่งเหล่านี้จึงจะยั่งยืน” ลุงหม่อง กล่าว

ทั้งนี้ เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนปากน้ำประแส ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติที่เป็นไฮไลท์อย่างทุ่งโปร่งทองสีเขียวอ่อนสะท้อนกับแสงแดดเรืองรองเต็มท้องทุ่ง มีห้องเรียนธรรมชาติที่ศูนย์การเรียนรู้ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ปากน้ำประแส ต่อยอดจากโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนบนพื้นที่  54 ไร่ หนึ่งในแหล่งเรียนรู้เรื่องป่าชายเลนที่มีองค์ความรู้ของสิ่งแวดล้อม พืช สัตว์ ในท้องถิ่น มีสถานีพืชและสัตว์ 9 แห่ง ประกอบด้วย ต้นแสม 100 ปี, ทักทายพี่ลำพูทะเล, หอยหัวใจแห่งห่วงโซ่อาหาร, กุ้งดีดขันนักดนตรีจากธรรมชาติ, ยลโกงกางสร้างสายใยรัก, วังมัจฉาเริงร่าวารี, ปูเเสมจอมยุ่ง, สไลเดอร์ปลาตีน และสถานีแลบ้านปูก้ามดาบ สามารถเข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ฯ ได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย