รายงานพิเศษ / ส่งท้าย ‘บิ๊กแดง’ กลางดงรัฐประหาร มองข้ามช็อต ‘บิ๊กโต้ง-บิ๊กปู’ ทายาททัพเรือ ‘บิ๊กอุ้ย-บิ๊กแอร์’ ยึด 2 ทัพ

รายงานพิเศษ

 

ส่งท้าย ‘บิ๊กแดง’

กลางดงรัฐประหาร

มองข้ามช็อต

‘บิ๊กโต้ง-บิ๊กปู’ ทายาททัพเรือ

‘บิ๊กอุ้ย-บิ๊กแอร์’ ยึด 2 ทัพ

 

ประวัติศาสตร์ ทบ. หน้าของบิ๊กแดง พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. กำลังจะถูกปิดฉากลงทันทีที่ส่งธงผู้บังคับบัญชาในนาม ผบ.ทบ. ให้บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผช.ผบ.ทบ. ว่าที่ ผบ.ทบ.คนใหม่ 30 กันยายน 2563

ผบ.ทบ.ที่ถูกจับตามองตั้งแต่ต้นว่า ในช่วงเวลาที่นั่งคุมกำลังทหารกว่า 4 แสนคน พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์นั้น เขาจะก่อการรัฐประหารหรือไม่

ด้วยจุดยืน บทบาททางการเมือง และการแสดงออกที่ชัดเจนมาตลอดช่วงที่เป็นนายทหาร ทั้งการปกป้องสถาบัน ต่อกรกับขบวนการล้มเจ้า

โดยเฉพาะเกือบ 2 ปีที่เป็น ผบ.ทบ. กับวาทกรรมที่ทำให้การเมืองร้อน จากการให้สัมภาษณ์ บรรยาย และตั้งโพเดียม ขึ้นเวที

 

ตั้งแต่วันแรกที่เป็น ผบ.ทบ. ก็ไม่อาจยืนยันว่าจะไม่มีการปฏิวัติรัฐประหาร ถ้าตราบใดที่การเมืองไม่เป็นสาเหตุของการจลาจล เผาบ้านเผาเมือง

และการแนะนำนักการเมืองฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” วิทยุทหารเปิดเพลงหนักแผ่นดิน

รวมทั้งวาทะ “ซ้ายจัด ดัดจริต คิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง” กระทบชิ่งขบวนการล้มเจ้า

หรือแม้แต่ “ฮ่องเต้ซินโดรม” สงครามไฮบริด สงครามลูกผสม วิกฤตตัวแทน Proxy Crisis ทฤษฎีสมคบคิด

และให้ความสำคัญกับสงครามโซเชียลมีเดีย ที่ พล.อ.อภิรัชต์ศึกษามาตั้งแต่เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 FM7-0 เรื่อง คู่มือการเอาชนะในโลกที่มีความซับซ้อน

พร้อมแนะนำหนัง ทั้ง The Great Hack, The Politician, The Hater ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียในทางการเมือง

พล.อ.อภิรัชต์พุ่งเป้าไปที่กลุ่ม “ชังชาติ” ตั้งแต่การจูงสุนัขทหาร ชื่อ Zeebra และเขียนบทความสั้น เทียบสุนัขยังดีกว่าพวกชังชาติ

ก่อนมาถึงยุคโควิด ที่ว่า “โควิดเป็นแล้วหาย แต่โรคที่เป็นแล้วไม่หาย คือโรคชังชาติ”

ที่แม้ภาพลักษณ์จะเป็นนายทหารที่ห้าวหาญ แนวฮาร์ดคอร์ แต่กลับมีความอ่อนไหว ที่ทำให้ต้อง “น้ำตาคลอ” จากหลายเหตุการณ์ตั้งแต่การไปกราบชื่อบิ๊กจ๊อด พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ บิดา ที่ทำเนียบนามอดีต ผบ.ทหารสูงสุด ที่ บก.ทัพไทย

จนมาถึงการแถลงขอโทษประชาชน จากเหตุการณ์จ่าทหารกราดยิงที่โคราช พร้อมหลั่งน้ำตา

 

ที่สำคัญ แม้จะมีการใช้วาทกรรมกระทบกันไปมา แต่ พล.อ.อภิรัชต์ก็ยังเคยนัดคุย ว.5 กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำพรรคอนาคตใหม่

แต่ที่สุด พรรคอนาคตใหม่ก็โดนยุบพรรค

ก่อนที่ พล.อ.อภิรัชต์จะเดินหน้าชนเต็มสตีม ในการขึ้นเวทีบรรยายพิเศษ แผ่นดินของเรา ที่มีวาทกรรม “ฮ่องเต้ซินโดรม” และประกาศห้ามแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 1 หมวดพระมหากษัตริย์ ตามมาด้วยวาทกรรมที่พุ่งเป้าไปที่พวกชังชาติ

ด้วยวาทกรรมและท่าทีต่างๆ ประกอบกับสถานการณ์การชุมนุมของนักเรียน-นักศึกษา การชูสามนิ้ว และข้อเรียกร้องเรื่องสถาบัน

รวมทั้งจะมีการชุมนุมใหญ่ 19 กันยายน 2563 และยกระดับการชุมนุม ทั้งการค้างคืนและการยึดสนามหลวง จึงทำให้เกิดกระแสข่าวลือรัฐประหารส่งท้าย ก่อนที่ พล.อ.อภิรัชต์จะเกษียณราชการ

เพราะ พล.อ.อภิรัชต์มิใช่เป็นแค่ ผบ.ทบ. แต่ยังเป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 หัวหน้าทีมทหารคอแดงอีกด้วย

อีกทั้งเป็นช่วงที่ ทบ.มีการเคลื่อนย้ายกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ไปฝึกภาคสนามในหลายพื้นที่ หลังจากที่เลื่อนมาจากช่วงโควิดระบาด

แต่ที่ยิ่งโหมข่าวลือคือ การฝึกภาคสนามครั้งใหญ่ของกรมเฉพาะกิจ พร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว RDF ที่วังน้ำเขียว โคราช ที่มีกำลังทหารร่วมฝึกมากถึง 3,881 นาย พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ฝึกตั้งแต่ 29 สิงหาคม และเคลื่อนกำลังกลับ ทั้งเหนือ อีสาน กลาง กทม. 8-9 กันยายน 2563

แถม พล.อ.อภิรัชต์พร้อมด้วย พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผช.ผบ.ทบ., ว่าที่ ผบ.ทบ.คนใหม่ พร้อมแม่ทัพนายกอง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการฝึกการใช้กระสุนจริงด้วยตนเอง ก็ยิ่งกระพือข่าวลือ

จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ออกอาการเมื่อถูกนักข่าวถามถึงกระแสข่าวรัฐประหาร พร้อมบอกว่า เลอะเทอะ

จน พล.อ.อภิรัชต์ต้องย้ำคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อนักข่าวตามถามกระแสข่าวรัฐประหาร

และ พล.อ.อภิรัชต์ต้องสั่งการให้ทีมโฆษก ทบ.ออกมาสยบข่าวลือ พร้อมสั่งให้ใช้สื่อของ ทบ.ในการทำความเข้าใจกับประชาชน

และสยบข่าวลือรัฐประหาร

 

แต่เพราะที่ผ่านมา ก่อนรัฐประหารมักมีข่าวลือมาก่อน และมักจะกลายเป็นจริงในอดีต จึงไม่สามารถจะสยบข่าวลือได้

แม้ พล.อ.อภิรัชต์จะออกมาสยบข่าวลือรัฐประหารด้วยตนเอง ด้วยการระบุว่า “ไม่ต้องกังวล มันจะไม่เกิดขึ้นอีก” ก็ตาม

แต่นั่นคงหมายถึงในห้วงเวลาที่ พล.อ.อภิรัชต์เป็น ผบ.ทบ.เท่านั้น ที่ก็เหลือเวลาอีกแค่ 2 สัปดาห์ก็จะเกษียณแล้ว

ทำให้ต้องมีการจับตามองไปที่ ผบ.ทบ.คนใหม่อย่าง พล.อ.ณรงค์พันธ์ กับสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้น ทั้งการชุมนุม และการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก

จนฝ่ายความมั่นคงมองว่า เป็นแผนที่จะบีบให้ทหารออกมา แต่จะยืดเยื้อจน พล.อ.อภิรัชต์เกษียณ หรือจะเร่งปฏิกิริยาให้จบในกันยายน

จึงไม่แปลกที่ท่าทีของ พล.อ.อภิรัชต์จะเหมือนไม่ค่อยชัดเจน เพราะรู้กันดีว่าการรัฐประหารในยุคนี้ไม่ใช่จะเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะโครงสร้างกำลังรบของ ทบ.ปรับเปลี่ยนไปแล้ว ผบ.ทบ.ไม่สามารถสั่งการใช้กำลังบางหน่วยของ ทบ.ได้

ดังนั้น พล.อ.อภิรัชต์จึงย้ำคำว่าเกษียณ และต้องการให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ตนเองจะไม่ทำรัฐประหาร

 

แต่ยิ่งใกล้วันชุมนุมใหญ่ 19 กันยายน กระแสข่าวลือรัฐประหารยิ่งถูกโหมกระพือหนัก

ฝ่ายรัฐบาลว่า ฝ่ายต่อต้านปล่อยข่าว เพื่อปลุกคนให้มาร่วมการชุมนุม 19 กันยายนให้มากที่สุด

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็มองว่า ฝ่ายทหารปล่อยข่าว เพื่อให้ผู้ชุมนุมและ น.ศ.กลัว

ยิ่งโผทหารออกช้า ก็ทำให้ยิ่งลือกันอีกว่า พล.อ.อภิรัชต์จะไม่เกษียณ

แต่ทั้งนี้เพราะโผทหารในครั้งนี้มีการเปลี่ยนขั้นตอนใหม่ ด้วยการให้ 7 เสือกลาโหมลงนามในคำสั่งโยกย้าย เป็นขั้นตอนสุดท้าย หลังทูลเกล้าฯ ที่คาดกันว่าจะประกาศในกลางเดือนกันยายน

พล.ร.ท.ธีรกุล กาญจนะ

ส่วนกองทัพเรือ ในโผนี้จะเห็นได้ว่า บิ๊กลือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. วางตัวนายทหารเรือที่จะขึ้นมาเป็น ผบ.ทร.ต่อจากบิ๊กอุ้ย พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผช.ผบ.ทร. ที่จะขึ้นเป็น ผบ.ทร. 1 ตุลาคมนี้ และเกษียณ 30 กันยายน 2564

เพราะมีการดันนายทหารระดับเจ้ากรม ขึ้น 5 ฉลามทัพเรือเลย ไม่ต้องผ่านรอง เสธ.ทร. เพราะรู้ว่าเจ้ากรมเป็นคนทำงานโดยตรง

ทั้งบิ๊กโต๊ะ พล.ร.ท.ทรงวุฒิ บุญอินทร์ (ตท.22) เจ้ากรมกำลังพลทหารเรือ เป็น ผช.ผบ.ทร. มีอายุราชการถึงกันยายน 2565

บิ๊กโต้ง พล.ร.ท.ธีรกุล กาญจนะ (ตท.21) ปลัดบัญชีทหารเรือ เป็น เสธ.ทร. และมีอายุราชการถึง 2566

บิ๊กปู พล.ร.ท.สุทธินันท์ สมานรักษ์ (ตท.22) ผบ.ทัพเรือภาคที่ 1 เป็น ผบ.กองเรือยุทธการ และมีอายุราชการถึง 2566

ที่คาดกันว่า ทั้ง พล.ร.ท.ทรงวุฒิ พล.ร.ท.ธีรกุล และ พล.ร.ท.สุทธินันท์ จะทำงานแข่งกัน และชิง ผบ.ทร.กันในปีหน้า เมื่อบิ๊กอุ้ยเกษียณราชการ 2564

โดยทั้ง 3 คนนี้เป็นนายทหารที่ พล.ร.อ.ลือชัยประทับตราว่า เป็นนายทหารเรือคนดี คนทำงาน และเป็นที่รักของเพื่อนพี่น้อง

โดยใน 5 ฉลามมีบิ๊กแก๋ง พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม เสธ.ทร. เพื่อน ตท.20 ของบิ๊กอุ้ย ขึ้นรอง ผบ.ทร.

และบิ๊กแมว พล.ร.อ.สมชาย ณ บางช้าง เพื่อนรัก ตท.20 อีกคน เป็นประธานที่ปรึกษา ทร.ตามเดิม

พล.ร.ท.สุทธินันท์ สมานรักษ์
พล.ร.ท.สุทธินันท์ สมานรักษ์

ภาพของกองทัพเรือในปลายปีหน้า ก็จะเป็นการผ่องถ่ายอำนาจจาก ตท.20 หรือนายเรือ 77 ที่เกษียณราชการ ก็จะมาสู่ยุคของ ตท.21 (นายเรือ 78) และ ตท.22 (นายเรือ 79) ที่จะทำงานเพื่อชิงดำเก้าอี้แม่ทัพเรือ

แม้ว่าจะยังเหลือเตรียมทหาร 20 อีกคน อย่างบิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย รองปลัดกลาโหม ที่เกษียณ 2565 แต่ถูกส่งไปนอกทัพเรือ เป็นปีที่ 2

ด้วยอาวุโสที่กลาโหม พล.ร.อ.สมประสงค์ที่ครองอัตราพลเรือเอกพิเศษ หรืออัตราจอมพลเดิม สามารถขึ้นเป็นปลัดกลาโหมต่อจาก พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ที่จะเกษียณ 30 กันยายน 2564 นี้ได้ เพราะในระดับรองปลัดกลาโหม เกษียณราชการหมด

แต่ด้วยเพราะเก้าอี้ปลัดกลาโหมถูกยึดเป็นโควต้าของทหารบกมาตลอด นานๆ จะยอมให้เหล่าทัพอื่นบ้าง แต่ก็นานมากแล้ว เพราะเคยมีบิ๊กตึ๊ง พล.อ.อ.สุวิช จันทประดิษฐ์ เป็นปลัดกลาโหม ที่มาจากทหารอากาศ ตั้งแต่ตุลาคม 2534-กันยายน 2537

อีกทั้งมีการวางตัวบิ๊กหน่อย พล.ท.วรเกียรติ รัตนานนท์ รอง เสธ.ทบ. ที่จะขึ้นเป็น พล.อ. ตำแหน่ง เสธ.ทบ.ในโผนี้ ข้ามไปเป็นปลัดกลาโหมในตุลาคม 2564 ต่อจาก พล.อ.ณัฐ เพื่อน ตท.20 เช่นกัน

ระหว่างนายทหารเรือคนสุดท้อง กับทหารบกคนสุดท้อง ของ ตท.20 ที่เกษียณ 2565 จึงส่อเค้าว่าปลัดกลาโหมคนต่อไปจะเป็นทหารบก

ทั้งนี้ ในการโยกย้ายครั้งนี้มีความพยายามจะส่ง พล.ร.อ.สมประสงค์กลับกองทัพเรือ แต่ทว่าตำแหน่งที่เป็นอัตราพลเรือเอกพิเศษนั้นเต็ม เพราะมี พล.ร.อ.สมชายเป็นประธานที่ปรึกษา ทร.อยู่แล้ว และ พล.ร.อ.สิทธิพรก็ขยับขึ้นรอง ผบ.ทร. ซึ่งทั้ง 3 คนก็ล้วนเป็นเพื่อน ตท.20 ด้วยกัน

เมื่อถึงเวลานั้น ตุลาคม 2564 ตท.20 ด้วยกัน ก็คงบริหารจัดการกันเองได้ เพราะก็เกษียณกันจะหมดกองทัพแล้ว

แต่ยิ่งโผโยกย้ายทหารออกช้า ข่าวลือก็กลับมาถาโถมเรื่องของการแก้โผอีกครั้ง ทั้ง ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ.

เพราะทหารเรือยังคงลุ้นบิ๊กช่อ พล.ร.อ.ช่อฉัตร กระเทศ รอง ผบ.ทร. ถูกหยิบขึ้นมาเป็น ผบ.ทร.กันอยู่

แม้จะมีรายงานยืนยันว่า โผโยกย้ายจบที่ พล.ร.อ.ชาติชายเป็น ผบ.ทร.ตั้งแต่ต้น ไม่มีเปลี่ยนแปลงแล้วก็ตาม

พล.อ.ท.ชานนท์ มุ่งธัญญา

ขณะที่กองทัพอากาศ ทุกอย่างสงบนิ่ง เมื่อทุกคนรู้ว่า ผบ.ทอ.คนใหม่ คือ บิ๊กแอร์ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ แน่นอนแล้ว

สร้างประวัติศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ.คนที่ 2 ที่ได้เป็น ผบ.ทอ.

ด้วยการเสนอชื่อของ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ. ที่แน่วแน่ มั่นคง แม้จะเจอแรงต้านอย่างหนัก จากทั้งพี่เพื่อนน้อง และอดีตนายก็ตาม

เพราะทุกคนรู้กันแล้วว่า พล.อ.อ.แอร์บูลมีชื่อเป็น ผบ.ทอ.ด้วยเหตุผลใด นอกเหนือจากความรู้ความสามารถที่มีเป็นทุนเดิม แต่ไม่มีโอกาส และไม่ได้อยู่ในสายกริพเพ่น ที่ล้วนได้ขึ้นเป็น ผบ.ทอ.ต่อเนื่องมาหลายคน

กองทัพอากาศในยุค พล.อ.อ.แอร์บูลจึงน่าจับตามองยิ่ง ทั้งตัว พล.อ.อ.แอร์บูลเอง และการชิงเก้าอี้ ผบ.ทอ.คนต่อไป

เสมือนมาเป็น ผบ.ทอ.ขัดตาทัพ 1 ปี เพื่อเปลี่ยน loop ใน ทอ.ใหม่ ไม่ให้เป็นไปตามการวางทายาททัพฟ้าในอดีต แต่ยึดความสามารถและคุณสมบัติ 6 ประการ และ 10 Q ของ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ.

เพราะได้วางหมากที่จะให้ เสธ.หนึ่ง พล.อ.ท.ชานนท์ มุ่งธัญญา (ตท.23) รอง เสธ.ทอ. นายทหารอากาศที่เก่ง ฉลาด ครบเครื่อง นักบิน F16 “Cannon” ขึ้นเป็น เสธ.ทอ. ขึ้นเป็น ผบ.ทอ.ต่อจากบิ๊กแอร์

แต่ยังมีบิ๊กตั้ว “Stallion” พล.อ.อ.สฤษดิ์พงศ์ วัฒนวรางกูร (ตท.21) หัวหน้าคณะนายทหารฝ่าย เสธ.ประจำ ผบช. ที่ลุ้นเก้าอี้ ผบ.ทอ.อยู่ด้วย ยังได้อยู่ ทอ. และมีสิทธิ์ชิงเก้าอี้ ผบ.ทอ.ในปลายปีหน้า เพราะเกษียณกันยายน 2565 กับ เสธ.ชานนท์

        จนกล่าวกันว่า ทุ่งดอนเมืองไม่เคยเสื่อมอาถรรพ์นั่นเอง