ไทยมองไทย : ครูวิจารณ์ให้การบ้าน (5)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เวทีแสดงผลการดำเนินงานโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาปีที่ 4 ดำเนินมาถึงช่วงเวลาสำคัญ หลังการแสดงชุดผีเสื้อของนักเรียนโรงเรียนไพรบึงวิทยาคม จ.ศรีสะเกษ สะท้อนความเป็นจริงทางการศึกษาไทยได้อย่างลึกซึ้ง กินใจจบลง พิธีกรเรียนเชิญองค์ปาฐก ครูใหญ่แห่งวงการการศึกษาไทยอีกท่านหนึ่งก้าวขึ้นสู่เวที

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ประธานมูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ฯ ผู้ติดตามการขับเคลื่อนโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทยมาอย่างต่อเนื่อง เดินทางลงพื้นที่ไปดูความเปลี่ยนแปลงที่โรงเรียน ครู นักเรียน และชุมชนต่างๆ เสมอมา

ก่อนเปิดประเด็นภายใต้หัวข้อ ข้อเรียนรู้จากโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเพื่อนโยบายการศึกษาสำหรับคนไทย 4.0 ครูวิจารณ์ถ่อมตัวตั้งแต่ต้นว่า ที่จริงแล้ว เรื่องเล่าต่างๆ และละครเวทีที่ทุกคนสะท้อนออกมาได้ดีกว่า ครบถ้วนกว่าที่ผมจะพูดเสียอีก ที่สำคัญน่าจะสนุกกว่า

ด้วยข้อจำกัด 2 ประการคือ “ผมไม่มีพื้นฐานทฤษฎีทางการศึกษา กับเวลาที่มีในการพูดเพียง 30 นาทีสำหรับสิ่งที่อยากร่วมแสดงความคิดความเห็นกับโครงการนี้”

ครูพูดถึงประสบการณ์ แนวคิดของครูปัญญาทีปกร 24 ท่านในหนังสือรอยจารึกบนเส้นทางครูเพาะพันธุ์ปัญญา ล้วนเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ สร้างความรู้ใส่ตัว ตามแนวทาง ทำแล้ว สะท้อนคิดคือเรียน เขียนคือคิด ถามคือสอน

ครูไม่เพียงชวนให้อ่านความคิด ความในใจของครูปัญญาทีปกรทุกคนเท่านั้น แทบทุกครั้งครูจะแนะนำให้อ่านหนังสือดีๆ หรือไม่ก็นำเอาเรื่องราว สาระดีๆ ที่ครูอ่านพบในหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่ามาเล่าให้ฟัง

 

คราวนี้ ครูบอก 2 เล่มที่ไม่ควรพลาด หนึ่งในนั้นคือ Finnish Lessons 2.0 เขียนโดย Pasi Sahlberg ชื่อภาษาไทยคือ ปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ บทเรียนแนวใหม่จากฟินแลนด์ แปลเป็นไทยโดย วิชยา ปิดชามุก

ปาสิ ชอห์ลเบิร์ก เป็นนักการศึกษาชั้นนำของฟินแลนด์ ผู้สะท้อนคิด เหตุใดเยาวชนฟินแลนด์ที่ใช้เวลาในห้องเรียนน้อยและแทบไม่ต้องแข่งขันทำข้อสอบมาตรฐาน กลับมีผลการสอบเป็นเลิศติดอันดับต้นๆ ของโลก

ครูวิจารณ์บอกต่อว่า ครูในศตวรรษที่ 21 มีความสำคัญยิ่งกว่าสมัยก่อนๆ เพราะการเรียนรู้สมัยใหม่ซับซ้อน “การเรียนรู้ที่ไม่ผ่านความยากลำบาก ไม่ผ่านช่วงวิกฤต ไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริง”

ก่อนชี้ถึง 6 ประเด็นทางการศึกษาที่อยากพูดถึงคือ 1.นิยามการศึกษา 2.ผลลัพธ์ของการศึกษา 3.หน้าที่ของครู 4.หน้าที่ของโรงเรียน 5.การพัฒนาครูตามแนวทางเพาะพันธุ์ปัญญา และ 6.หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ

“นิยามการศึกษา คนเข้าใจคำว่าการเรียนรู้ผิด คิดว่าเรียนคือรับการถ่ายถอดอย่างสำเร็จรูปจากครู ฟังครูสอน ซึ่งจริงๆ แล้วครูมีค่ามากกว่านั้น มากกว่าการสอนวิชา แต่เรียนคิด ไม่ใช่เรียนจำ สะท้อนให้เห็นจากบันทึกความคิดของครูอรุณีในหนังสือรอยจารึก ถ้ายังคงทำอย่างเดิม ไทยแลนด์ 4.0 ไม่เกิด เกิดไม่ได้แน่” ครูเน้น

โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ พื้นที่ของความเป็นกัลยาณมิตร พื้นที่ของความปลอดภัย โรงเรียนที่เด็กเรียนนั่นแหละคือโรงเรียนฝึกหัดครูที่แท้จริง

 

ครูเล่าต่อถึงสิ่งที่ผ่านพบในหนังสือเล่มหนึ่ง เด็กประถมปีที่ 2 เรียนคณิตศาสตร์ ไม่ได้เรียนมุ่งแต่บวก ลบ คูณ หาร แต่เขาเรียนวิธีคิด คำตอบที่ผิดมีความหมาย คำตอบที่ถูกต้องคือคิดอย่างไร ไม่ใช่การหาคำตอบที่ถูกเท่านั้น สิ่งสำคัญคือเส้นทางที่นำไปสู่คำตอบเหล่านั้นต่างหาก คือการคิด ก็คือหัวใจ

ครูพูดถึงแนวคิด แนวทางการพัฒนาตน 7 ด้านของนักคิดนามว่า Chickering ได้แก่ 1.สมรรถนะ 2.การจัดการอารมณ์ 3.การเป็นตัวของตัวเองและร่วมกับผู้อื่น 4.ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น 5.อัตลักษณ์ 6.เป้าหมายในชีวิต 7.มั่นคงในคุณธรรม

ผู้เกี่ยวข้องในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ต้องช่วยกันหาคำตอบว่า ข้อค้นพบจากโครงการอธิบายได้ด้วยทฤษฎีอะไร ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทางด้านจิตปัญญา ทักษะชีวิตชัดเจน แต่ผลลัพธ์ทางด้านความรู้ ผลทางการเรียนวิชาเป็นอย่างไร ความเข้าใจในตัววิชาของนักเรียนดีขึ้นแค่ไหน นักเรียนอธิบายทฤษฎีนั้นๆ จากประสบการณ์อะไรของพวกเขา โครงการไม่ได้ย้ำถึงเรื่องนี้ เป็นประเด็นที่ท้าทายต่อการทำต่อในอีก 2 ปี

“ครูเรายังตั้งคำถามน้อยไปหรือไม่ ทักษะในการตั้งคำถามจะพัฒนาอย่างไร สังเกตได้จากเวลาในการเรียนการสอน 50 นาที ใครพูดมาก ครูยังพูดมากกว่าเด็ก”

 

ครูวิจารณ์สะท้อนต่อไปถึงโครงการพัฒนาครูที่กำลังเป็นที่สนใจติดตามของครู จากงบฯ พัฒนาครูหัวละหมื่น ว่า ยังคงเอาเรื่องวิทยฐานะ นับเวลาการฝึกอบรม มาเป็นเกณฑ์หลัก ทำให้เกิดคำถามว่า ครูอบรมเยอะแล้วลูกศิษย์ได้อะไร ทำตามแบบที่กำลังทำอยู่นี้ ถ้าคุณภาพการศึกษาไม่ดีขึ้น ใครรับผิดชอบ

“โรคร้ายของระบบการศึกษาไทย คือบูชาสิ่งสำเร็จรูปตายตัว ไม่มีทางสร้างมนุษย์แห่งศตวรรษที่ 21 ไทยแลนด์ 4.0 ได้ ข้อเสนอแนะคือไม่ต้องการกระทรวงศึกษาธิการแบบในปัจจุบัน ควรลดขนาดลง”

ต่อด้วยข้อคิดเห็นสำหรับครูและโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา

1. ครูฝึกตั้งคำถามให้นักเรียนสะท้อนคิดเข้าหาทฤษฎี

2. ใช้หลักการปฏิบัติ สังเกต เก็บข้อมูล

3. เรียนทฤษฎีจากการปฏิบัติกล้าตั้งทฤษฎีเอง

4. ทำทั้งโรงเรียน ซึ่งยังไม่เห็น

5. บูรณาการสู่ทุกสาระการเรียนรู้ตามปกติ

6. ใช้หน่วยการเรียนรู้ครอบคลุมหลายสาระวิชา หาวิธีการขยายผลอย่างไร ปรับอย่างไร ลงสู่การเรียนปกติ ทุกชั้น ทุกวิชา

 

ฟังครูคุณหมอวิจารณ์สะท้อนถึงระบบการศึกษาไทยและแนวทางการเรียนรู้แบบเพาะพันธุ์ปัญญา เท่าที่ผมถ่ายทอดแบบรวบรัดภายใต้พื้นที่จำกัดแล้วยังไม่จุใจ ถ้าจะให้ได้เนื้อหาครบถ้วน ได้บรรยากาศ มีอรรถรส ไม่ตกหล่น ติดตามจากเว็บไซต์เพาะพันธุ์ปัญญา หรือยูทูบ ได้เลยโดยตรง

จากนั้นค่อยตามหาอ่าน รอยจารึกความในใจของครูแกนนำเพาะพันธุ์ปัญญา ที่ได้รับยกย่องให้เป็นครูปัญญาทีปกรกันต่อ

เปิดเล่มด้วย ครูวิเชียร ไชยโชติ โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม จ.ศรีสะเกษ ยามมืดมนจากความกลัวครูคือไฟฉายส่องทางกล้า ยามที่โดดเดี่ยวครูคือมิตร ยามที่ต้องการพิชิตการเรียนรู้ครูคือแม่ทัพ

ครูวิเชียรเลยได้ชื่อว่า ครูผู้เป็นทั้งครูและมิตรในเวลาเดียวกัน

ครับ เริ่มต้นบทแรกของครูปัญญาทีปกรคนแรกแล้ววางไม่ลง ต้องเปิดหน้าใหม่ถึงครูคนต่อไป