‘ไอติม’ ชี้ ยกเลิก ม.272 เป็นข้อเรียกร้องพื้นฐานสุด ย้ำไม่ยันหลัก 1 คน 1 เสียง อย่าเรียกตัวเองมีปชต.

วันที่ 10 กันยายน 2563 พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า

การกำจัด มาตรา 272 ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ “ก้าวหน้า” แต่เป็นข้อเรียกร้องที่ “พื้นฐานที่สุด”

เป็นเรื่องน่าหดหู่เป็นอย่างมาก ที่ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราต้องมานั่งลุ้นกันในทุกๆวัน ว่าจะมี ส.ส. สักกี่คน หรือ พรรคการเมืองสักกี่พรรค ที่จะร่วมสนับสนุนให้กำจัด มาตรา 272 ใน รัฐธรรมนูญ 2560 และเป็นเรื่องน่าผิดหวังมาก ที่มี ส.ส. หรือพรรคการเมืองหลายคนและหลายพรรค ที่ลังเลไปลังเลมาหรือเปลี่ยนจุดยืนเกี่ยวกับประเด็นนี้
.
การกำจัดมาตรา 272 ไม่ควรถูกมองว่าเป็นประเด็นที่ “ก้าวหน้า” หรือ ประเด็นที่เป็น “ข้อโต้แย้ง” (controversial)
.
แต่การกำจัดมาตรา 272 เป็นประเด็นที่ควรได้รับ “ฉันทามติ” จากทุกพรรคการเมือง เพราะเป็นขั้นพื้นฐานหรือขั้นต่ำที่สุดของการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
.
การประเมินความเป็นประชาธิปไตยของระบบใดระบบหนึ่งมีหลายมิติ – ดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) ของ The Economist Intelligence Unit เองมีการพิจารณาและคำนวณความเป็นประชาธิปไตยของแต่ละประเทศจากทั้งหมด 60 ด้าน – แต่หลักสากลพื้นฐานที่ขาดไม่ได้เลยจากระบบที่กล้าเรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย คือการที่ทุกคนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียง เท่ากันในการกำหนดอนาคตประเทศ
มาตรา 272 ขัดกับหลักการตรงนี้อย่างชัดเจนใน 2 ด้าน
.
1) ให้อำนาจ ส.ว. 250 คน มาร่วมลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี
.
ถ้าคิดด้วยคณิตศาสตร์ เราจะเห็นชัดว่าทำไมตรงนี้ถึงขัดกับหลัก 1 สิทธิ์ 1 เสียง
.
750 คน มีสิทธิ์เลือกนายก
500 ส.ส. รวมกันมีค่าเสียงเท่ากับ 500 / 750 = 67%
250 ส.ว. รวมกันมีค่าเสียงเท่ากับ 250 / 750 = 33%
.
500 ส.ส. เลือกมากจาก ประชาชน 38 ล้านคน ที่ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง
250 ส.ว. เลือกโดย คณะกรรมการสรรหา 10 คน ที่ คสช. แต่งตั้ง
.
ค่าเสียงของ ประชาชน 1 คน = 67% / 38 ล้าน = 0.0000017%
ค่าเสียงของ กรรมการสรรหา ส.ว. 1 คน = 33% / 10 = 3.3%
.
3.3% / 0.0000017% = 2 ล้าน
.
ผลลัพธ์ของระบบนี้คือการทำให้ คณะกรรมการสรรหา ส.ว. 1 คน มีเสียงมากกว่า ประชาชน 1 คน ถึง 2 ล้านเท่า
.
เหตุที่ผมต้องคิดเลขออกมาให้เห็นแบบนี้ เพราะผมอยากให้ใครที่ยังไม่เห็น ได้เห็นอย่างชัดๆถึงความวิปริตของระบอบปัจจุบัน และเพราะผมต้องการหาวิธีอธิบายสิ่งนี้อย่างไร้อคติและไร้อารมณ์ที่สุด กับใครที่ยังเชื่อว่าประเทศเรา “เป็นประชาธิปไตย” แล้วเพียงเพราะมีการเลือกตั้งไปเมื่อปีที่แล้ว
คณิตศาสตร์ไม่เคยโกหกใคร และไม่ว่าท่านจะมีความคิดทางการเมืองอย่างไร 1+1 ก็ยังเท่ากับ 2 สำหรับทุกคน
.
2) เปิดช่องทางให้ “นายกฯ คนนอก”
.
เวลาเราพูดถึง “นายกฯ คนนอก” เราต้องเข้าใจว่า “นายกฯ คนนอก” มี 2 รูปแบบ
.
แบบที่หนึ่ง คือ “นายกฯ นอกสภา” ซึ่งเป็นแบบที่ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน
.
แบบนี้อาจถูกมองว่าเลวร้ายนอกว่า เพราะอย่างน้อยก็ยังมีชื่อปรากฎในบัญชีผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯของแต่ละพรรคการเมืองในวันที่ประชาชนไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ “นายกฯนอกสภา” ก็เป็นหลักคิดที่ขัดกับระบบรัฐสภาสากล เพราะทำให้ (i) นายกฯมีความจำเป็นที่ต้องเข้าประชุมสภาหรือตอบคำถามฝ่ายค้านน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น ในเมื่อไม่ใช่สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ และ (ii) รัฐบาลขาดเสถียรภาพจากการที่นายกฯไม่สามารถบริหารพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำรัฐบาลได้ ในเมื่อไม่ใช่หัวหน้าพรรค (การที่เราเห็นรัฐมนตรีจากโควต้าส่วนตัวของนายกฯ ลาออกเป็นว่าเล่น ก็เป็นสัญญาณของปรากฏการณ์นี้)
.
แบบที่สอง คือ “นายกฯ นอกบัญชี” ซึ่งเป็นแบบที่ถูกเปิดช่องไว้ด้วยมาตรา 272
.
แบบนี้มีความเลวร้ายยิ่งกว่า เพราะอาจทำให้เกิดสถานการณ์ที่ประเทศเรามีนายกฯ ที่ไม่เคยมีชื่อปรากฏในบัญชีผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งหมายความว่าเราอาจมีผู้นำที่ไม่มีประชาชนคนไหนรู้จักหรือได้มีโอกาสพิจารณาถึงความเหมาะสม ณ วันเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
.
อย่าว่าแต่ 1 สิทธิ์ 1 เสียง แต่ตรงนี้หมายความว่า ประชาชนไม่ได้มีสักเสียงเลยในการเลือกบุคคลคนนี้เข้ามา
.
แน่นอนว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการได้รัฐธรรมนูญที่มี “เนื้อหา” หรือ “ผลลัพธ์” ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมี “ที่มา” และ “กระบวนการ” ที่เป็นประชาธิปไตยด้วย เพราะจะเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของทุกคนในประเทศ และทำให้ทุกคนได้รู้สึกเป็น “หุ้นส่วน” หรือ “เจ้าของ” ของประเทศนี้อย่างแท้จริง
.
แต่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ซึ่งอาจใช้เวลาเกือบ 1-2 ปี เพราะอาจต้องมีประชามติถึง 2 ครั้ง และ การเลือกตั้ง ส.ส.ร. อีก 1 ครั้ง) ไม่ควรถูกใช้เป็นเหตุผลในการไม่กำจัดมาตรา 272 ควบคู่กันไปตั้งแต่วันนี้ เพราะการกำจัดมาตรา 272 สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านประชามติ
.
ถึงการกำจัดมาตรา 272 เพียงอย่างเดียว ไม่ได้จะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ แต่ประเทศไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยได้ หากยังมีมาตรา 272 อยู่
.
ถ้าคุณไม่ร่วมกำจัดมาตรา 272 แสดงว่าคุณรับได้กับการที่กรรมการสรรหา ส.ว. มีอำนาจมากกว่าประชาชน 2 ล้านเท่า
.
ถ้าคุณไม่ร่วมกำจัดมาตรา 272 แสดงว่าคุณรับได้กับการที่เราอาจมีนายกรัฐมนตรี ที่ไม่มีประชาชนสักคนเลือก
.
ถ้าคุณไม่ร่วมกำจัดมาตรา 272 แสดงว่าคุณรับได้กับการที่ประเทศเราไม่เป็นประชาธิปไตย
.
ตราบใดที่ยังมีมาตรา 272 อยู่ อย่าไปเขียนในตำราเรียนเลยครับ ว่าประเทศเราปกครองด้วย “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เพราะมันไม่เป็นความจริง
.
.
.
(ป.ล. ใครที่จะโต้แย้งด้วยเรื่องคำถามพ่วงในประชามติ พ.ศ. 2559 เดี๋ยวผมจะกลับมาเขียนต่อว่าทำไมผมถึงไม่เห็นด้วยกับข้อโต้แย้งนี้ครับ)