E-DUANG : มาตรการ ปราบปราม อันเข้มขัน มาตรการ หลอกลวง อันยอกย้อน

กลยุทธ์ของผู้ครองอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นยุคของสตาลินแห่งสหภาพโซ เวียต ไม่ว่าจะเป็นยุคของฮิตเลอร์แห่งสาธารณรัฐเยอรมนี สามารถสรุปได้อย่างรวบรัดเป็น 2 แนวทางเสมอ

แนวทาง 1 เป็นการออกมาตรการ”หลอกลวง” แนวทาง 1 เป็นการออกมาตรการ “ปราบปราม”

มาตรการ”ปราบปราม” อาจสัมผัสได้อย่างเด่นชัด ไม่อ้อมค้อม

อย่างเช่นการงัดเอามาตรา 116 มาเป็นเครื่องมือ อย่างเช่นการต่ออายุพรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาเป็นเครื่องมือ หรือแม้กระทั่งพรบ.ความสะอาด พรบ.จราจร

อย่างเช่นการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองเข้าไปคุกคามจนถึงบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบ้านของเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าประกบพ่อแม่ ผู้ปกครอง

ที่สุดก็เข้าจับกุมผ่านกรรมวิธีคุกคามในแบบตำรวจ สร้างความ หวาดกลัว สร้างความปั่นป่วน วุ่นวาย

มาตรการ”หลอกลวง”มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งกว่า

 

อย่างเช่นเมื่อเห็นว่าถูกกดดันอย่างต่อเนื่องในเรื่องของรัฐธรรมนูญ จากที่เคยยืนกระต่ายขาเดียวว่าไม่แก้ไขอย่างเด็ดขาด ก็เริ่มสำแดงอาการผ่อนปรน

ถึงกับผลักดันผ่านญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลคล้ายกับมีเป้าเพื่อแก้ไขมาตรา 256 แต่ให้ทุกอย่างเข้าสู่”กระบวนการ”

เป็นกระบวนการที่ไม่เพียงแต่จะจำกัดกรอบและขอบเขต เริ่มตั้งแต่โครงสร้างในการเลือกสสร. ตามมาด้วยระยะเวลาที่ดำเนินไปอย่างเชื่องช้ายาวนานถึง 2 ปี

เป็น 2 ปีที่ยังเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เหมือนเดิม เป็น 2 ปีที่ 250 ส.ว.ยังมีอำนาจเหมือนเดิมอยู่ครบถ้วน เป็น 2 ปีที่รัฐบาลยังเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่แปรเปลี่ยน

กรรมวิธีเช่นนี้เพื่อลดทอนความร้อนแรงจากข้อเรียกร้องของ”เยาวชน/ประชาชนปลดแอก”ให้ค่อยๆเย็นลง

ภายใต้โครงสร้าง”รัฐสภา”เดิม สมาชิกรัฐสภาคนเดิม

 

มาตรการ”ปราบปราม”บั่นทอนกำลังและความต่อเนื่องของการเคลื่อนไหว มาตรการ”หลอกลวง”ยิ่งทำให้กระบวนการเคลื่อนไหว ดำเนินไปอย่างยอกย้อน

หากไม่มีจิตใจที่ยืนหยัดอย่างเพียงพอก็จะนำไปสู่ภาวะทิ้งกลางคัน การเคลื่อนไหวก็ค่อยๆฝ่อไป

ไม่ว่าจะเป็น”นักการเมือง” ไม่ว่าจะเป็น”เยาวชน”คนรุ่นใหม่

การทำความเข้าใจต่อมาตรการ”ปราบปราม” การทำความเข้าใจต่อมาตรการ”หลอกลวง”จึงมีความจำเป็น