เกษียร เตชะพีระ | 80 ปีนิธิ เอียวศรีวงศ์ : #Old Question แต่ไม่ Out of Date (4)

เกษียร เตชะพีระ

เรียบเรียงจากคำอภิปรายของผู้เขียนในงานเสวนาจัดโดยมติชน, 3 กรกฎาคม 2563

3)การผสานชุมชนอำนาจนิยมทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเข้ากับอินดิวิด้วน : ความเป็นไทย

กล่าวในแง่ความคลี่คลายขยายตัวของสังคม ชาติเกิดขึ้นเมื่อคนเราออกจากหมู่บ้านชนบทเล็กๆ มาสู่สังคมเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้เราหลุดลอยจากรากเหง้าชุมชนพ่อ-แม่ พี่-น้อง ปู่-ย่า ตา-ยาย น้า-อา ญาติมิตรในหมู่บ้านของเรากลายมาเป็นอินดิวิด้วน/คนแปลกหน้าในเมืองใหญ่แทน

ศัพท์แสงที่ใช้อธิบายกระบวนการนี้ในวิชาสังคมวิทยาเป็นของนักสังคมวิทยาชาวเยอรมันชื่อ Ferdinand T?nnies (เฟอร์ดินานด์ เทินนีส์, ค.ศ.1855-1936) ผู้เรียกกระบวนการเปลี่ยนผ่านจาก [ชุมชนหมู่บ้าน -> สังคมเมือง] ว่าเป็นการเคลื่อนย้ายของคนเราจาก [Gemeinschaft -> Gesellschaft] หรือ [Community -> Society]

ผมขออนุญาตอธิบายขยายความตามที่เข้าใจ

คนเราชาย-หญิงที่สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาในสังคมเมือง ทั้งในแง่การประกอบอาชีพทำมาหาเลี้ยงตัวทางเศรษฐกิจและในแง่เอกลักษณ์ทางสังคมของตัวเองหรืออัตลักษณ์ (self-identity ไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์ในด้านฐานะชนชั้น ชาติพันธุ์ ท้องถิ่นบ้านเกิด เพศสภาพ ศาสนา อุดมการณ์การเมือง ฯลฯ) ล้วนแต่สร้างตัวเองในตลาดเสมอ

ตามนัยนี้ สังคมสมัยใหม่จึงเป็นแหล่งรวมซึ่งอัตลักษณ์จำนวนมาก (self-identities) มาชุมนุมกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นแหล่งรวมของปัจเจกบุคคลจำนวนมากซึ่งต่างเป็นคนแปลกหน้าต่อกันและกัน (individuals as strangers) แล้วมาอยู่ด้วยกัน

สถานการณ์อุปมาอุปไมยที่ใกล้เคียงที่สุดคือการจราจรบนท้องถนน ซึ่งคนขับรถ/ผู้โดยสารจำนวนมากมารวมตัวอยู่ข้างเคียงใกล้ชิดกัน โดยที่แต่ละคนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดไม่รู้จักมักจี่กัน ต่างเป็นคนแปลกหน้าร้อยพ่อพันแม่ ต่างบ้านเกิดต่างภาษาถิ่น ต่างอาชีพต่างศาสนา ต่างเพศสภาพต่างอุดมการณ์ต่อกันและกัน

ท่ามกลางปัจเจกบุคคลแปลกหน้าที่มารวมตัวกันในเมืองมากมายขนาดนี้ ความแตกต่าง ความขัดแย้ง การปะทะ ความไม่เป็นระเบียบ กระทั่งโกลาหลวุ่นวาย ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา

การที่คนแปลกหน้ามากมายเช่นนี้จะอยู่ด้วยกันได้โดยไม่ปะทะขัดแย้งพุ่งชนกันตลอดเวลาต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานบางอย่างร่วมกันรองรับประคับประคองไว้ เช่น สัญญาณร่วม (อาทิ ไฟจราจร ทางม้าลาย ป้ายบอกทาง เป็นต้น) กฎเกณฑ์กติการ่วม (อาทิ กฎจราจร) ภาษาร่วม การศึกษาร่วม ฯลฯ เพื่อให้สามารถคาดคะเนและเข้าใจพฤติกรรมของกันและกันได้

ในบริบทที่ว่านี้และโจทย์แบบนี้นี่แหละที่ “ชาติ” ปรากฏขึ้นเพื่อเป็นกุศโลบายช่วยทำให้ปัจเจกบุคคลแปลกหน้าทั้งหลายเหล่านี้กลายเป็น [เพื่อนร่วมชาติ พลเมืองร่วมประเทศ เพื่อนคนไทย] ของกันและกัน “ชาติ” ช่วยบันดาลสร้าง “ชุมชนในจินตนากรรม” (imagined community) หรือการติ๊งต่างว่าเป็นพวกเดียวกันขึ้นมาจากวัตถุดิบอันได้แก่ปัจเจกบุคคลแปลกหน้าร้อยพ่อพันแม่มากหลายดังกล่าว

จึงถึงแม้เราจะไม่เคยรู้จักมักคุ้นหรือเห็นหน้าค่าตาหรือแม้แต่ได้ยินชื่อเสียงเรียงนามคนแปลกหน้าเหล่านี้ส่วนใหญ่มาก่อนเลย แต่อย่างน้อยพวกเขาก็เป็น “เพื่อนร่วมชาติ” ของเรา ที่เราพึงต้องนับเป็นพวกเดียวกัน สังกัดกลุ่มเดียวกัน และสมควรได้รับความดูแลใส่ใจเอื้อเฟื้อช่วยเหลือมิตรไมตรีจากเราเหมือนญาติพี่น้องในฐานะ “เพื่อนคนไทย” ด้วยกัน

คําว่า “ชาติ” พูดให้ถึงที่สุดในทางปฏิบัติจึงเป็นเรื่องของเอกลักษณ์แห่งชาติ (national identity) เพื่ออำนวยการให้อัตลักษณ์ (self-identities) แปลกหน้าทั้งหลายนับเนื่องรวมตัวอยู่ด้วยกัน เอกลักษณ์แห่งชาติวางตัวเป็นเอกลักษณ์แม่บทที่ถือตนสำคัญเหนือกว่าและ/หรือตีกินตีกลืนผนวกรวมเอกลักษณ์รวมหมู่ (group/collective identities) อื่นๆ ไม่ว่าชาติพันธุ์ ถิ่นที่อยู่ เพศสภาพ ศาสนา อุดมการณ์การเมือง ฯลฯ มาไว้ภายใต้ตัว

และฉะนั้นการสร้างชาติที่สำคัญที่สุดจึงสร้างขึ้นในหัวของเรา

กล่าวคือ ต้อง imagine ความเป็นชุมชนชาติเดียวกันหรือ national community ที่ต่างหากจากชุมชนชาติอื่นๆ ขึ้นมาในหัวของเราให้จงได้

และหากสร้างชาติขึ้นมาในหัวของผู้คนเพื่อให้พวกเขา “คิดชาติ” (think nation) ไม่สำเร็จแล้ว ก็ต้องถือว่าสร้างชาติล้มเหลว

ต่อให้มีธงชาติ เพลงชาติ ค่านิยมของชาติ รัฐธรรมนูญแห่งชาติ รัฐสภาแห่งชาติ รัฐบาลแห่งชาติ กองทัพแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ ฯลฯ ก็ตาม

กล่าวในกรณีไทย งานวิจัยชิ้นใหญ่และสำคัญยิ่งของศาสตราจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง 10 ปัญญาชนสยาม (สองเล่มจบ, openbooks, พ.ศ.2557, รางวัลนักวิจัยยอดเยี่ยมจากนายกรัฐมนตรีปี พ.ศ.2552) ได้ชี้ข้อค้นพบเกี่ยวกับปัญญาชนอนุรักษนิยมไทยทั้งสิบผู้สร้างชาติไทยและความเป็นไทยทางการเมืองวัฒนธรรมไว้ว่า :

ชาติไทยถูกจินตนากรรมออกมาเป็นชุมชนที่รวมศูนย์อำนาจจากบนลงล่างและเหลื่อมล้ำกันโดยเหตุผลความชอบธรรมทางศีลธรรมและวัฒนธรรม หากกล่าวด้วยภาษาทื่อตรงแบบผมก็คือ :

“คนไทยไม่ควรมีอำนาจเท่ากัน คนไทยบางคนควรมีอำนาจมากกว่าคนไทยคนอื่น เพราะพวกเขามีความเป็นไทยมากกว่าและเป็นคนดีมีศีลธรรมยิ่งกว่าคนไทยคนอื่น และเมืองไทยนี้ดีแล้วที่เป็นเช่นนี้!”

= ชุมชนอำนาจนิยมทางศีลธรรมและวัฒนธรรมถูกผสานเข้ากับอินดิวิด้วน -> imagined uncommunity กลายเป็น “จินตนากรรมชาติที่ไม่เป็นชุมชน” หรือชาติที่ไม่ได้เป็นของคนไทยทุกคนเท่ากัน แต่มีบางคนอ้างอาญาสิทธิ์ผูกขาดความเป็นเจ้าของชาติในนามความเป็นไทยทางศีลธรรมและวัฒนธรรม แล้วผลักไสกีดกันคนอื่นออกไปเป็นผู้มาอาศัยอยู่ที่ไม่ไทย

และฉะนั้น “คนอื่น” จึงอาจถูกขับไสไล่ส่งทางจินตนากรรมออกไปได้เสมอหากมันผู้นั้นบกพร่องหรือฝ่าฝืนคุณสมบัติความเป็นไทยทางศีลธรรมและวัฒนธรรม

ปัญหาในปัจจุบันอยู่ตรงเรื่องเล่าทางศีลธรรมและวัฒนธรรมที่เคยรองรับค้ำจุน imagined uncommunity อยู่เสื่อมถอยลง นับวันคนเชื่อมันน้อยลงและไม่เชื่อมันอีกต่อไป

ผู้รับสมอ้างกระทำการแทนในนามชาติจึงหันไปใช้กำลังและอำนาจมารองรับค้ำจุนระเบียบอำนาจไทยแบบอำนาจนิยมนั้นแทน นำไปสู่สภาวะไม่สามารถเชื่อชาติได้อีกต่อไป หมดศรัทธาต่อชุมชนนั้นแล้วหรือ unimaginable community กล่าวคือ imagine ยังไงก็ไม่เป็นชุมชนขึ้นมาได้ เหลือวิสัยที่จะ imagine ให้เป็นชุมชนได้อีกต่อไป

ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่มีพลังทางปัญญา ศีลธรรมและวัฒนธรรมที่จะสร้างเรื่องเล่าใหม่มาฟื้นฟูและฟื้นชีพจินตนากรรมชาติที่ไม่เป็นชุมชนแห่งความเป็นไทยได้

เรามักได้ยินคำพังเพยแต่เดิมว่า “กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี” แต่ปัญหาคือกรุงรัตนโกสินทร์ยังเหลือคนดีอยู่อีกหรือไม่ต่างหาก?