“รุก” ในถอย / ฉบับประจำวันที่ 4-10 กันยายน 2563

จุดเด่นหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ก้าวสู่อำนาจจากการรัฐประหาร และดำรงในอำนาจต่อเนื่องผ่านรัฐธรรมนูญ ปี 2560
นั่นคือ ไม่แข็งทื่อ นำไปสู่การแตกหัก เหมือนผู้นำที่ก้าวมาจากทหารอื่นๆ
ตรงกันข้าม มีความพยายามยืดหยุ่นตามสถานการณ์
บางเรื่องสามารถกลับลำ ถอนกลับดื้อๆ โดยมีชุด “เหตุผลหนึ่ง” อธิบาย ฟังขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้าง
แต่ก็ยอมเสียหน้าด้วยการถอย
และใช้การถอยนั้น เป็นช่องทำให้สามารถเอาตัวรอดจาก “วิกฤต” และ “ปัญหา” ที่รุมเร้าได้
ยิ่งกว่านั้น ยังสามารถ “รุก” กลับได้
จนถือเป็นยุทธวิธีรุกในถอย ที่น่าสนใจ และต้อง “รู้ทันประยุทธ์”

อย่างประเด็นร้อน เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำจากรัฐบาลจีน แม้พล.อ.ประยุทธ์ก็ตัดสินใจถอย
โดยให้กองทัพเรือไปเจรจากับจีนเพื่อขอยืดเวลาการชำระค่างวดออกไป 1 ปี
ทำให้ความร้อนแรงลดลงทันที
ถามว่า นี่เป็นการถอยกรูดๆ เลยหรือไม่
คำตอบก็คือ ไม่
พล.อ.ประยุทธ์ยังยืนยันว่าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ วงเงิน 2.25 หมื่นล้านบาท ยังคงอยู่
“จะไปหยุดได้อย่างไร เพราะเป็นแผนการพัฒนาของกองทัพ”
ท่าทีและจุดยืนดังกล่าว ย้ำให้เห็นว่า โครงการเรือดำน้ำยังอยู่ และเดินหน้าต่อไป
เพียงแต่ยอม “เสียฟอร์ม” หลบคลื่นลม เพื่อที่จะเดินหน้าต่อไปในปีหน้า
ซึ่งถ้าหากคลื่นลมการเมืองอาจจะสงบลง ทำให้สามารถ “ลุ้น” เดินหน้าเรือดำน้ำต่อไปได้

อีกเรื่องหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมถอย
นั่นก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะรู้ดีว่าการแก้ไขดังกล่าว จะลิดรอนอำนาจและความได้เปรียบของฝ่ายตนเอง
แต่เมื่อเผชิญกระแสกดดันทั้งจากในและนอกสภาอย่างหนักหน่วง
ก็ยอมถอย
ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ก็แฝงเงื่อนไขไว้หลายเรื่อง
เช่นมิใช่ยื่นในนาม “รัฐบาล” โยนให้เป็นเรื่องพรรคร่วม
เพื่อพล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลจะได้ไม่ต้อง”ผูกมัด” ตนเอง
เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีแนวโน้ม”ทะลุเพดาน” จำเป็นต้องคว่ำ โดยอาจต้องอาศัยเสียงวุฒิสภา
รัฐบาลก็สามารถลอยตัว ไม่ต้องรับผิดชอบ โยนให้เป็นเรื่องของพรรคร่วมไป
นอกจากนี้ การถอยเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ มีระยะไกลยิ่ง
อย่างน้อยการตั้ง ส.ส.ร.และร่างรัฐธรรมนูญ ต้องใช้เวลา 90+240 วัน ยังไม่รวมจะต้องให้รัฐสภาเห็นชอบ และระยะเวลาลงประชามติในกรณีไม่เห็นชอบสามารถ “ยื้อเวลา” ออกไปได้ยาวนานมาก
เรื่องร้อนก็กลายเป็นเย็น
แถมยังดึง “เงื่อนไข” นอกสภา เข้ามาอยู่ใน “สภา” ที่สามารถควบคุมและกำกับได้มากกว่า
นี่ก็ถือเป็นการรุกในถอย อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม

จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลจะตกในภาวะ “ถอย”
แต่เราก็เห็นความพยายามที่จะหายุทธวิธี “รุกในถอย”
เพื่อไม่ให้อยู่ในสถานการณ์ถอยกรูดๆ หรือถูกกระทำฝ่ายเดียว
ดังที่เราเห็นในเกมซื้อเรือดำน้ำ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
รวมอาจถึงกรณี “บอส อยู่วิทยา” ที่พัวพันกลไกในยุค คสช.
ไม่ว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เป็นช่องทางสำคัญในการกรุยทาง “สั่งไม่ฟ้อง”
และลากโยงไปถึงความล้มเหลวในการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม
สร้างความไม่พอใจให้กับคนในสังคมอย่างรุนแรง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ไปโต้แย้ง คัดง้าง ยอมถอยด้วยการใช้อำนาจนายกฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ที่ผลการสอบวนออกมาแล้วค่อนข้างตรงใจประชาชน
จน พล.อ.ประยุทธ์น่าจะใช้เป็นเกมรุกคืน โดยสามารถเคลมว่านี่คือความพยายามฟื้นความยุติธรรมกลับมาได้อย่างสบายๆ

แต่กระนั้นดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์มีดาวเคราะห์ “ร้าย” เล็งอยู่ตลอดเวลา
ทำให้มีเรื่องต้องหาทางถอย เข้ามาต่อเนื่อง จนแทบโงหัวไม่ขึ้น
ไม่ว่ากรณีการอาจเสียค่าโง่เหมืองทองอัครานับหมื่นล้าน
และสดๆ ร้อนๆ คือการถอยของนายปรีดี ดาวฉาย จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งที่เข้ามาทำงานไม่ถึงเดือน
ย่อมจะดึงให้ พล.อ.ประยุทธ์ถดถอยทางการเมืองไปด้วย
โดยไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีแรง “รุก” ในถอย จากนานากรณีเหล่านี้อย่างไร!!