คุยกับทูต : เอฟเรน ดาเดเลน อักกุน สัมพันธ์ไทย-ตุรกียุคนักการทูตหญิง ตอนจบ “ฮายาโซฟีอา-ความประทับใจ”

ในที่สุด ประเทศตุรกีก็ได้ประกาศปรับเปลี่ยนสถานะของฮาเกียโซเฟีย หรือฮายาโซฟีอา (Hagia Sophia) จากพิพิธภัณฑ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของฆราวาสนิยมอันมีชื่อเสียงให้กลับเป็นมัสยิดอีกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลสูงสุดที่ตัดสินเมื่อ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงทัดทานจากหลายฝ่าย

การประกาศเปลี่ยนแปลงสถานะดังกล่าวได้สร้างเสียงเตือนจากนานาชาติซึ่งไม่เห็นด้วยที่จะแปรสภาพพิพิธภัณฑ์ซึ่งถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก กลับมาเป็นสถานที่ปฏิบัติกิจของชาวมุสลิม

ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้ว ฮาเกียโซเฟียเป็นสถานที่เคารพของทั้งผู้ที่นับถือศริสต์และอิสลาม จึงไม่ควรถูกระบุสถานะเป็นของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

ประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน (Recep Tayyip Erdoğan) แห่งตุรกี กล่าวว่าเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมตามกฎหมายของรัฐบาลอังการา เพราะการเปลี่ยนอาคารโบราณทรงโดมซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างอายุเกือบ 1,500 ปี เป็นสถานที่จัดแสดงหรือเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อปี 1934 ในยุคแรกของตุรกีสมัยใหม่ภายใต้การนำของมุสทาฟา เคมัล อาทาทืร์ค (Mustafa Kemal Atatürk) ผู้ก่อตั้งตุรกีและประธานาธิบดีคนแรกนั้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

จึงทำให้ยูเนสโกประกาศต่อมาว่า จะทบทวนสถานะของฮายาโซฟีอาในฐานะมรดกโลกอีกครั้ง

 

ในโอกาสนี้ นางเอฟเรน ดาเดเลน อักกุน (H.E. Ms. Evren Dağdelen AkgÜn) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย ได้มาชี้แจงเพิ่มเติมว่า

“ฮายาโซฟีอา (Hagia Sophia) ถือเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ ทางสถาปัตยกรรมของโลกในยุคกลาง และยังเป็นอีกหนึ่งในพื้นที่ประวัติศาสตร์ของอิสตันบูล (Historic Areas of Istanbul) ที่ได้รับการจดทะเบียนขึ้นเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกปี 1985”

“เมื่อครั้งที่อิสตันบูลถูกครอบครองโดยสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 (Mehmed II หรือ Fatih Sultan Mehmet) หรือรู้จักในนาม “อัลฟาติฮ์” ซึ่งหมายถึง “ผู้พิชิต” (the conqueror) ในปี 1453 ฮายาโซฟีอามีสภาพถูกทำลายโดยผู้ที่อยู่นอกรีตในช่วงศตวรรษที่ 8 และ 9 อีกทั้งยังถูกทำลายในเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงศตวรรษที่ 9 และ 10 เช่นเดียวกับการรุกรานของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ในปี 1204 ที่ซึ่งพวกครูเซดได้ปล้นเมืองและปล้นฮายาโซฟีอา”

“ชาวเติร์กดูแลฮายาโซฟีอาด้วยความเคารพและไม่ได้เปลี่ยนชื่อ เพียงแต่เปลี่ยนการสะกดคำให้เป็นภาษาตุรกีเท่านั้น มีการก่อสร้างหอสูงยอดแหลมบนสุเหร่าจำนวนทั้งสิ้น 4 หอเพื่อให้เกิดความสวยงามและเพื่อป้องกันไม่ให้อาคารถล่ม”

“ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์ ฮายาโซฟีอาไม่ได้เป็นโบสถ์แต่เป็นมัสยิดเป็นเวลากว่า 5 ศตวรรษ ฮายาโซฟีอาเป็นมัสยิดสำหรับพิธีการที่สำคัญเป็นเวลาหลายศตวรรษ เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้พระราชวังโทพคาปึ (Topkap? Palace) ซึ่งเป็นที่ประทับของสุลต่านและราชสำนักของจักรวรรดิออตโตมัน ฮายาโซฟีอาเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของสุลต่านเมห์เหม็ด แห่งจักรวรรดิออตโตมันและได้บริจาคเพื่อเป็นมัสยิดเมื่อปี 1462”

“ฮายาโซฟีอา จึงเป็นสถานที่ที่มอบให้แก่รัฐอย่างถูกกฎหมาย”

“ตามกฎหมายของตุรกีเกี่ยวกับการบริจาคทรัพย์สิน (hayrat) ควรจะใช้เป็นหลักตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้เมื่อตอนรับมอบแล้วเท่านั้น (Waqfiye)”

“อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้ฮายาโซฟีอาเป็นพิพิธภัณฑ์ในปี 1934”

“ประเทศตุรกี เป็นประเทศสมาชิกที่มีบทบาทในองค์การยูเนสโก ศูนย์มรดกโลก และอนุสัญญาเกี่ยวกับการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก (อนุสัญญาปี 1972) มาตั้งแต่ปี 1983”

“ประเทศตุรกีมีสถานที่หลายแห่งที่อยู่ในรายชื่อมรดกโลก การที่ประเทศตุรกีมีสถานที่กว่า 18 แห่งที่ถูกจัดอยู่ในมรดกโลกนั้น ประเทศตุรกีตระหนักดีถึงความรับผิดชอบในช่วง 37 ปีที่ผ่านมา”

“อนุสัญญาปี 1972 และแนวทางปฏิบัติไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อสิทธิ์ในทรัพย์สินของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมรวมถึงการเปลี่ยนสถานะด้วย”

“คณะกรรมการกฤษฎีกาของตุรกีจึงได้ตกลงให้การตัดสินใจในการเปลี่ยนฮายาโซฟีอา เป็นพิพิธภัณฑ์โดยคณะรัฐมนตรีในปี 1934 นั้น เป็นโมฆะ”

“การกระทำนี้เป็นการกระทำที่ชอบโดยกฎหมาย และเราหวังว่า ทุกประเทศจะเคารพในการตัดสินใจของเราด้วย เพราะเราเชื่อในกฎหมาย ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการกำกับดูแล”

“ฮายาโซฟีอาอยู่ภายใต้การคุ้มครองไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด อันที่จริงจะต้องขอบคุณผู้ปกครองออตโตมันและตุรกีที่ดูแลรักษาสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างดี เพื่อชนรุ่นใหม่จะได้ชื่นชมความงาม ไม่ว่าจะมีภัยธรรมชาติมาทำลาย ฮายาโซฟีอา จะยังคงตั้งตระหง่านเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของทั้งชาวคริสเตียนและอิสลามสืบต่อไป”

“ประเทศตุรกีตระหนักถึงภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในบริบทของอนุสัญญาปี 1972 และแนวทางการดำเนินงาน รวมถึงความร่วมมือกับศูนย์มรดกโลกของยูเนสโก เพื่อรักษาคุณค่าสากล ความสมบูรณ์ และความเป็นเอกลักษณ์โดยแท้ของผลงานชิ้นเอกที่โดดเด่นแห่งนี้”

 

ท่านทูตเสริมว่า

“มัสยิดฮายาโซฟีอา ยังคงเปิดทำการเพื่อให้คนในพื้นที่และชาวต่างชาติเข้าชมฟรี”

โควิด-19 มีผลกระทบกับชีวิตครอบครัว

“ปัจจุบัน ประเทศตุรกีมีสถานทูตเป็นตัวแทนอยู่ในทุกประเทศในอาเซียน และสามีของดิฉันคือเอกอัครราชทูตตุรกีประจำประเทศบรูไน ดังนั้น สามถึงห้าปีที่ผ่านมา เราจึงพยายามเดินทางไปมาหากันระหว่างกรุงเทพฯ และกรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน (Bandar Seri Begawan) เมืองหลวงและเมืองท่าที่สำคัญของประเทศบรูไนดารุสซาลาม ประสบการณ์นี้ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับประเทศบรูไนและได้รู้จักเพื่อนในบรูไน รวมทั้งได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมบางอย่างที่สามีไปเริ่มต้นที่นั่น เช่น การยิงธนู”

“ก่อนหน้าที่เราจะมาประจำตำแหน่ง ก็คิดว่าเราจะได้พบกันบ่อยกว่าปกติ แต่นี่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราเลือก”

“สำหรับในประเทศไทย ดิฉันมักมีเหตุการณ์ที่ต้องไปเข้าร่วมด้วยบางโอกาสในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เมื่อกระทรวงการต่างประเทศของไทยจัดโครงการนำคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยและคู่สมรสทัศนศึกษา และมีครั้งหนึ่งที่สามีของดิฉันมาที่นี่และสามารถไปกับเราด้วย จึงเป็นเรื่องดีที่ได้เห็นเขาสนุกกับกิจกรรมทั้งหมดโดยเฉพาะกิจกรรมการปลูกข้าวในแปลงนา”

“อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดจากโควิด-19 ไม่ใช่สิ่งที่เราคาดหวังมาก่อน และเนื่องจากบรูไนเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่หยุดให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ ทำให้ดิฉันไม่ได้พบสามีมากกว่า 6 เดือนแล้ว”

แต่ท่านทูตอักกุนก็ไม่มีเวลาเหงาเลย เพราะมีเพื่อนมากมายที่ทำเนียบ

 

“ดิฉันมีแมวนับรวมทั้งหมด 13 ตัวแล้วในขณะนี้ ส่วนใหญ่เริ่มเลี้ยงดูหลังจากที่เรามาอยู่ที่นี่ มาถึงตอนนี้ เรากำลังเจรจาหาทางกันว่าจะนำกลับไปประเทศตุรกีกับเราได้มากน้อยเท่าใด แต่แน่นอนว่า เราไม่สามารถนำกลับไปได้ทั้งหมด เราคงจะต้องหาผู้รับไปเลี้ยงดูต่อในอีกไม่นานนี้”

“ดิฉันคิดว่า การมีคู่ครองที่อยู่ด้วยกันทำให้ชีวิตทางการทูตมีสีสันมากขึ้น โดยเฉพาะสามีของดิฉันเป็นคนที่น่าสนใจ ดิฉันมั่นใจว่า เขาจะได้ค้นพบสิ่งเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเทศไทย และคู่สมรสจะช่วยเสริมซึ่งกันและกันอย่างแน่นอน”

“ด้วยเหตุนี้ ดิฉันจึงอยากให้เพื่อนๆ ที่นี่ได้รู้จักกับสามีของดิฉันมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่ไม่อาจเป็นไปได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลา”

 


 

แผนงานในอนาคตอันใกล้นี้

“ดิฉันพยายามค้นหาวันที่ที่ตรงกันของกันและกันเพื่อให้สถาบันที่เกี่ยวข้องของเราได้ไปเยี่ยมชมประเทศของกันและกัน”

“สำหรับปีนี้ เรากำลังเตรียมวางแผนการเดินทางของสื่อต่างๆ ของทั้งสองประเทศ รวมทั้งการจัดนิทรรศการที่ถูกระงับไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากมองในแง่ดีก็คิดว่า ช่วงเวลานี้จะทำให้เราเกิดมีความคิดใหม่ๆ มาเพิ่มเติม ที่ดียิ่งขึ้นกว่าในแผนที่เคยวางไว้แล้ว”

ก่อนอำลา ท่านทูตเอฟเรน ดาเดเลน อักกุน ตอบคำถามสุดท้าย

“พูดถึงช่วงเวลาที่น่าจดจำในชีวิตของนักการทูตนั้น นับว่ามีมากมาย แต่ที่ประทับใจยากจะลืมเลือนสำหรับดิฉัน ในฐานะที่มาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตครั้งแรก คือวันที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานพระราชวโรกาสให้ดิฉันเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย ถือเป็นช่วงเวลาอันประทับใจที่มีค่าที่สุดสำหรับดิฉันเสมอ”

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)