ศัลยา ประชาชาติ : รัฐบาลเดินเครื่องอัดฉีด ช่วยเอกชนจ่ายเงินเดือน สู้ศึกวิกฤต “คนว่างงาน”

ผลกระทบจาก “โควิด-19” ทุบเศรษฐกิจไทยทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ในไตรมาส 2 ดิ่งลึกถึง -12.2% และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ประเมินปี 2563 ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวอยู่ที่ -7.5%

หนึ่งในปัญหาสำคัญและเร่งด่วนของปัญหาเศรษฐกิจไทยเวลานี้ก็คือปัญหาคน “ว่างงาน”

โดยที่สภาพัฒน์รายงานสถานการณ์คนว่างงาน ณ ไตรมาส 2/2563 มีจำนวน 7.5 แสนคน จากไตรมาสแรกมีจำนวน 3.9 แสนคน เรียกว่าเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และยังมีกลุ่มเสี่ยงตกงานในช่วงครึ่งปีหลังอีก 1.7 ล้านคน อันเนื่องจากที่บริษัทปิดกิจการชั่วคราวอาจจะไม่สามารถกลับมาเปิดได้ ทั้งจะมีกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดแรงงานปีนี้อีก 4-5 แสนคน

เนื่องจากปัญหา “คนตกงาน” หรือ “ว่างงาน” จะมีผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลง และปัญหาสังคมตามมา

แต่จากที่ทั่วโลกก็ตกอยู่ในภาวะวิกฤต มาตรการแบบเดิมหรือการกระตุ้นการจ้างงานของภาครัฐอย่างเดียวคงไม่เพียงพอกับการดูดซับจำนวนคนว่างงาน

ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการพิเศษในการแก้ปัญหาที่ไม่เหมือนเดิม

 

ขณะนี้ทีมเศรษฐกิจจึงมีแนวคิด “รัฐบาลช่วยจ่ายเงินเดือน” ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนที่มีการ “จ้างงานใหม่”

จริงๆ แล้ววิธีการนี้ก็มีหลายประเทศที่เอามาใช้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เช่นกรณีรัฐบาลสิงคโปร์ช่วยจ่ายเงินเดือนแทนนายจ้าง 25-75% ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจเป็นระยะเวลา 9 เดือนเพื่อที่จะช่วยป้องกัน “เลิกจ้าง”

แต่สำหรับแนวคิดของประเทศไทยที่กำลังศึกษาอยู่นั้น จะเป็นการช่วยจ่ายเงินเดือนแทนนายจ้างสำหรับ “การจ้างงานใหม่” เพื่อดูดซับคนว่างงาน โดยเฉพาะบัณฑิตจบใหม่ปีนี้ราว 4-5 แสนคน

นี่คือเป้าหมายแรก เพราะคณะทำงานมองว่า “คนตกงาน” ที่เคยมีงานทำมาก่อน อย่างน้อยตอนนี้ก็ยังมีเงินชดเชยจากสำนักงานประกันสังคมหรือจากนายจ้าง ที่สามารถประคองตัวไปช่วงหนึ่ง

แต่สำหรับเด็กจบใหม่ไม่มีรายได้ ยังเป็นภาระของพ่อ-แม่ผู้ปกครอง รวมทั้งอัตราค่าจ้างก็ไม่สูง และสามารถที่จะไปเรียนรู้งานได้อย่างเต็มที่

สอดรับกับที่ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะกรรมการ “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19” (ศบศ.) ครั้งแรกเมื่อ 19 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า

“ในการแก้ปัญหาว่างงาน จะมีมาตรการจูงใจเอกชนให้มาร่วมมือกับรัฐบาลในรูปแบบ Co-payment ขณะนี้อยู่ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหารือและจัดทำรายละเอียด”

สำหรับคนตกงานจำนวนหนึ่งจะมีมาตรการภายใต้เงินงบประมาณปี 2564 และมาตรการภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ดังนั้น เชื่อว่าจะสามารถรวบรวมตำแหน่งงานได้หลักล้านตำแหน่ง เป็นการว่าจ้างในระยะสั้นช่วง 12 เดือนหลังจากนี้ แต่ก็ต้องมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมโครงการกันด้วย

“โดยจะมีการประชุมหารือกันว่า จะสนับสนุนคนละเท่าไหร่ จะครึ่งหนึ่ง จะกี่พัน เขาจะไปทำการบ้าน เช่น ถ้าไปทำงานในบริษัทเอกชน รัฐจะร่วมจ่ายครึ่งหนึ่ง หรือไม่เกินจำนวนเท่าไหร่ ไม่ใช้วิธีหักภาษีเหมือนที่เคยทำเพราะช้า”

พร้อมกันนี้รองนายกฯ “สุพัฒนพงษ์” ก็ยังนำทีมเดินสายพบปะบริษัทยักษ์ใหญ่ เพื่อขายไอเดียและเรียกร้องให้บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่ยังมี “กำลัง” และ “กำไร” ให้ร่วมด้วยช่วยกันกับรัฐบาล

 

“วันนี้เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคคลี่คลาย บางคนกลับสู่สภาพเดิม บางคนกลับใกล้เคียงสภาพเดิม แต่บางคนยังลำบากอยู่ และบริษัทที่มีกำไรได้ แต่ท่านลืมคนกลุ่มหนึ่งไปหรือเปล่า เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่เคยเป็นลูกค้าเราด้วยซ้ำไป วันนี้ก็ยังลำบากอยู่ ดังนั้น บริษัทเอกชนจะเข้ามาร่วมในกิจกรรมของรัฐบาลอย่างไรได้บ้าง เพราะบริษัทจะมีกำไรหรือเติบโตไม่ใช่ตัวเอง แต่ต้องมีลูกค้า ต้องมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้อง ดังนั้น วันนี้ต้องหันกลับไปดูสิ่งเหล่านี้กันใหม่ เป็นวาระของทุกคน เป็นวาระของประเทศ” รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์กล่าว

และธุรกิจพลังงานและโรงไฟฟ้าซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจคุ้นเคยและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรองนายกฯ และรัฐมนตรีพลังงานที่ชื่อ “สุพัฒนพงษ์” จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกของการพบปะ ไม่ว่าจะเป็น ปตท. และบริษัทในเครือ รวมถึงบริษัทธุรกิจไฟฟ้าต่างๆ

โดยในการพบปะกันเมื่อ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา รองนายกฯ ก็ย้ำถึงเรื่องการให้ธุรกิจยักษ์พลังงานและไฟฟ้าช่วยกันแก้ปัญหาว่างงานว่า

“อยากให้ภาคเอกชนที่ยังพอมีกำไรอยู่บ้าง เข้ามาร่วมในมาตรการที่รัฐบาลเสนอเรื่องของการจ้างงาน หรือการพัฒนาอะไรต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการจ้างบัณฑิตจบใหม่”

แม้ว่ามาตรการให้ “รัฐช่วยจ่ายเงินเดือน” จะยังไม่เข้า ครม.สัญจรที่จังหวัดระยองช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยจะมีการนำรายละเอียดเข้าที่ประชุม ศบศ.อีกครั้ง ก่อนนำเข้าที่ประชุม ครม.

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานอธิบายว่า นโยบายการอุดหนุนการจ้างงานของภาคเอกชนในลักษณะ Co-payment ที่รัฐบาลจะช่วย “จ่ายเงินเดือน” แทนนายจ้างให้กับแรงงานที่ “จ้างงานใหม่” โดยเฉพาะในกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ประมาณ 4 แสนคน โดยจากที่มีการประชุมหารือในคณะทำงานมีข้อเสนอตัวเลขการอุดหนุนระหว่าง 5,000-7,500 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 12 เดือน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะก็ยังมีข้อถกเถียงว่าตัวเลขไหนเหมาะสม

“ในกรณีการรับบัณฑิตจบใหม่เข้าทำงานเงินเดือน 15,000 บาท รัฐบาลอาจช่วยจ่าย 5,000 บาท และเจ้าของธุรกิจจ่าย 10,000 บาท หรือจะเป็นการแบ่งจ่ายคนละครึ่ง คือ 7,500 บาท ซึ่งก็มีข้อคิดเห็นที่ต้องพิจารณาหลายด้าน จากตัวเลขดังกล่าวประเมินคร่าวๆ จะต้องใช้เม็ดเงินประมาณ 24,000-36,000 ล้านบาท สำหรับการดูดซับแรงงานจบใหม่ ประมาณ 4 แสนคน ในช่วงระยะเวลา 1 ปี”

แต่บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ “รัฐช่วยจ่ายเงินเดือน” ก็ต้องมีเงื่อนไขต่างๆ เช่น ไม่ได้มีการปลดพนักงานเพื่อมารับพนักงานใหม่ รวมถึงต้องมีการจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะต่างๆ ให้ด้วย เป็นต้น เพราะก็อาจมีคำถามจากสังคมว่า รัฐบาลเอาเงินไปช่วยอุดหนุนธุรกิจขนาดใหญ่

สิ่งที่ต้องอธิบายคือ โครงการนี้ต้องให้ธุรกิจช่วยให้เกิดการจ้างงาน เพราะจากภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ ทุกองค์กรมองแต่เรื่องของการลดคน ลดต้นทุนเป็นหลัก

แน่นอนว่าเมื่อรัฐบาลโหมโรงขนาดนี้ ภาคธุรกิจเอกชนยักษ์ใหญ่ต่างประกาศขานรับ ส่วนหนึ่งเพราะแนวคิดนี้ก็เป็นข้อเสนอของเอกชนมาตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญก็คือวิธีการจัดการและเงื่อนไข ที่จะต้องไม่ทำให้สังคมเกิดคำถามว่าเป็นมาตรการที่เอื้อประโยชน์เฉพาะกับธุรกิจยักษ์ใหญ่เท่านั้น

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)