เศรษฐกิจ / ‘ทีวีดิจิตอลไทย’ 8 ปียังลุ่มๆ ดอนๆ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ต้องฝ่าปม ‘เรียง-ไม่เรียง’ ช่องใหม่

เศรษฐกิจ

 

‘ทีวีดิจิตอลไทย’

8 ปียังลุ่มๆ ดอนๆ

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด

ต้องฝ่าปม ‘เรียง-ไม่เรียง’ ช่องใหม่

 

คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ เป็นคลื่นความถี่ที่บ้านเราใช้ในกิจการทีวีดิจิตอล

แต่ด้วยคุณสมบัติที่รองรับความครอบคลุมของสัญญาณเป็นบริเวณกว้าง เพราะเป็นย่านความถี่ต่ำ (โลแบนด์) หรือย่านความถี่ต่ำกว่า 1 กิกะเฮิร์ตซ์ ทำให้ในหลายประเทศนำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคม

ดังนั้น ประเทศไทยจึงอยู่ระหว่างการปรับปรุงคลื่นความถี่บางส่วน เพื่อใช้ในกิจการโทรคมนาคมเช่นกัน

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ตั้งโต๊ะแถลงแนวทางการปรับปรุงโครงข่าย โดยระบุว่า ระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2563 ทีวีดิจิตอลซึ่งมีจำนวนผู้ชมคิดเป็น 45-50% ของจำนวนผู้รับชมทีวีทั้งหมด จะไม่สามารถรับชมได้ในบางพื้นที่ กินเวลารวม 8 ชั่วโมง

โดยประชาชนต้องทำการปรับจูนกล่องรับสัญญาณ หรือเซ็ตท็อปบ็อกซ์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้กลับมารับชมได้อีกครั้ง

 

สําหรับพื้นที่ที่ต้องทำการปรับจูนกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ แบ่งเป็น พื้นที่ภาคใต้เริ่มเดือนกันยายน 2563

พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและบริเวณใกล้เคียง เริ่มวันที่ 5 ตุลาคม 2563

พื้นที่ภาคเหนือเริ่มเดือนตุลาคม 2563

พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มเดือนพฤศจิกายน 2563 และพื้นที่ภาคกลางเริ่มเดือนธันวาคม 2563 แต่พื้นที่ภาคกลางในต่างจังหวัดสามารถปรับจูนสัญญาณได้ตั้งแต่เวลา 17.00 น.

ส่วนกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ใกล้เคียง สามารถปรับจูนสัญญาณได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป

โดยขั้นแรกต้องตรวจสอบก่อนว่าที่บ้านรับสัญญาณดิจิตอลทีวีหรือไม่ ซึ่งการรับสัญญาณดิจิตอลทีวีจะใช้เสาก้างปลาหรือหนวดกุ้งในการรับสัญญาณไม่ได้ใช้จานรับสัญญาณสี จากนั้นทำการปรับจูน โดยมี 4 ขั้นตอนได้แก่

  1. กดเมนูบนรีโมต
  2. เลือกคำว่าตั้งค่าหรือติดตั้ง
  3. เลือกคำว่าค้นหาอัตโนมัติ

และ 4. เลือก OK หรือคำว่าค้นหา เมื่อสัญญาณกลับมาก็จะทำให้สามารถรับชมดิจิตอลทีวีได้อีกครั้ง

 

‘ทีวีดิจิตอล’ ตั้งแต่การประมูลเมื่อปลายปี 2556 ประสบความสำเร็จอย่างมาก สร้างรายได้จากการประมูลเป็นกระบุงโกยถึง 50,000 ล้านบาท

แต่ภาพบรรยากาศแห่งความยินดีหลังการประมูลไม่ทันจางหาย ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่หวังจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการเป็นเจ้าของช่องเอง ถึงกับเงิบเพราะประสบกับภาวะขาดทุน

เนื่องจากรายได้จากค่าโฆษณาที่เป็นรายได้หลักได้ถูกแบ่งไปให้กับแพลตฟอร์มอื่น เช่น เฟซบุ๊ก และยูทูบ เป็นต้น

อีกทั้งมีจำนวนทีวีดิจิตอลมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า และต่างเข้ามาแข่งขันเพื่อแย่งชิงเค้กค่าโฆษณาก้อนเดียวกันที่มีขนาดเล็กลงอีก กระทั่งผู้ประกอบการรวม 11 ราย ยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครอง และมีการยื่นข้อเรียกร้องต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เข้ามาแก้ไขปัญหาในที่สุด

โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกแพ็กเกจให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่ต้องการไปต่อ ได้ยกเว้นค่าไลเซนส์งวด 5-6 มูลค่า 13,622 ล้านบาท ทั้งสนับสนุนค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล (มักซ์) เต็มจำนวนตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลืออยู่ รวม 18,775 ล้านบาท และยังสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดทำข้อมูลค่าความนิยมเฉลี่ย (เรตติ้ง) โดยจะจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อวัดเรตติ้งที่ถูกต้อง และยุติธรรม เป็นเงินราวๆ 431 ล้านบาท ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ไปต่อ สามารถคืนไลเซนส์และหอบเงินกลับไปตั้งหลักได้

กระทั่งมีผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 7 ช่องยกธงขาว ได้แก่ ช่อง 3 แฟมิลี่ (ช่อง 13), เอ็มคอตแฟมิลี่ (ช่อง 14), สปริงนิวส์ (ช่อง 19), ไบรท์ทีวี (ช่อง 20), วอยซ์ทีวี (ช่อง 21), สปริง 26 (ช่อง 26 หรือช่องนาวเดิม) และช่อง 3 เอสดี (ช่อง 28) ทำให้ปัจจุบันเหลือทีวีดิจิตอล 15 ช่อง

 

แม้คู่แข่งหายไปทีเดียว 7 ช่องรวด แต่ใช่ว่าที่เหลืออยู่ 15 ช่องจะปลอดภัย

ผ่านไปปีกว่า ภายใต้การทำธุรกิจที่ลุ่มๆ ดอนๆ ก็ยังไม่วายมีเรื่องให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเดือดเนื้อร้อนใจซ้ำ

เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งว่า ประกาศเรียงช่องของ กสทช. ปี 2558 ที่ให้โครงข่ายการรับชมทีวีนอกจากทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน ทั้งทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี ต้องนำช่องทีวีดิจิตอลที่ผ่านการประมูลไปไว้ในโครงข่ายของตน และเรียงหมายเลขช่องตามผลการประมูลของ กสทช. เป็นประกาศที่ไม่ถูกต้อง

ทำให้โครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ไม่จำเป็นต้องเรียงหมายเลขช่องตามประกาศเดิม โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีขั้นอุทธรณ์

ซึ่งทาง ‘สมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล’ ก็หวั่นใจว่าหากผลการพิจารณาคดีเป็นไปตามชั้นต้น จะเกิดความสับสนกับผู้ชม

จึงพยายามกระทุ้งให้ กสทช.รีบออกประกาศเรียงช่องฉบับใหม่ เพื่อไปแก้ไขคำสั่งศาลปกครองกลาง

โดยเสนอให้โครงข่ายทั้งทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี สามารถจัดเรียงช่อง 1-10 แทนที่ทีวีดิจิตอลช่องสาธารณะที่ขยับไปอยู่ช่อง 11-15 ส่วนช่องทีวีดิจิตอลภาคธุรกิจตั้งแต่หมายเลข 16-36 ยังอยู่ในหมายเลขเดิม

อีกทั้งมีการจัดประชุมกลุ่มย่อย หรือโฟกัสกลุ่ม การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ (ครั้งที่ 2) ซึ่งมีผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเข้าร่วมอย่างนายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะวัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (ช่องวัน 31) นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) (ช่องจีเอ็มเอ็ม 25) รวมถึงนายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (ช่องไทยรัฐทีวี)

โดยนายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล เผยว่า การประชุมนี้ เป็นการแสดงจุดยืน และเสนอความคิดเห็นต่อ กสทช. ถึงผลกระทบต่อทีวีดิจิตอล หากดำเนินการตามที่ศาลปกครองกลาง

“สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ได้แสดงความคิดเห็นและถามไปยังรองประธาน กสทช. ว่า จะออกประกาศเรียงช่องฉบับใหม่เมื่อใด แจ้งว่าประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นบอร์ด กสทช. ฝั่งกิจการโทรทัศน์มีการจัดการประชุม แต่องค์ประชุมไม่ครบด้วยบางส่วนเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน จึงไม่สามารถออกประกาศได้”

“เราคิดว่าคนที่เข้าใจสถานการณ์ของผู้ประกอบการดีที่สุดน่าจะเข้าใจอุตสาหกรรม แต่กลับเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ถ้าศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นตรงกับศาลปกครองกลาง อุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบ”

 

แต่ดูเหมือนผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจะผีซ้ำด้ำพลอย เพราะนอกจาก กสทช.กว่าจะประกาศเรียงช่องฉบับใหม่ บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ที่แม้จะมีช่องทรูโฟร์ยู และช่องทีเอ็นเอ็นในทีวีดิจิตอลออกแถลงการณ์กรณีการจัดเรียงลำดับช่องดิจิตอลทีวีบนโครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ว่า ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของประกาศการจัดเรียงลำดับช่องดิจิตอลทีวีบนโครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกยังคงเป็นปัญหาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

ดังนั้น การเร่งรัดออกประกาศฉบับใหม่โดยไม่รอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีก็มีแต่จะทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกเกิดความสับสนกับการจัดเรียงลำดับช่องดิจิตอลทีวีรูปแบบใหม่

ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจำใจยกการ์ด หาก กสทช.ไม่รีบดำเนินการจะยื่นหนังสือร้องทุกข์ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ฟาก กสทช.แง้มว่า จะนำการรับฟังความคิดเห็นการประชุมกลุ่มย่อย เข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จะมีการประชุมในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 จากนั้นกลางเดือนกันยายน 2563 จะนำข้อสรุปเข้าที่ประชุม กสทช. ส่วนจะออกประกาศเรียงช่องฉบับใหม่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับบอร์ด กสทช.

            งานนี้จะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง หรือเศร้าเคล้าน้ำตา ต้องติดตาม


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)