สารถึงคนรุ่นใหม่ จาก “ย้ง ทรงยศ” “รุ่นพี่ของคนอกหัก”

อันที่จริงการเปิดรับนักศึกษามาฝึกงานในบริษัทไม่ใช่เรื่องแปลก

แต่การที่ผู้บริหารระดับกรรมการผู้จัดการ เขียนจดหมายด้วยลายมือ ถึง “ผู้ไม่ได้รับเลือก” เพื่อส่งสารที่เต็มไปด้วยถ้อยคำให้กำลังใจ ระบุถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพ และกระตุ้นให้พยายามต่อ อย่างที่ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ แห่งบริษัทนาดาว บางกอก ทำต่างหากคือสิ่งที่ไม่ค่อยได้เห็น

“อาจจะเป็นเพราะผมเคยอกหักมาก่อน” คือคำอธิบายเคล้าเสียงหัวเราะ

โปรเจ็กต์รับเด็กฝึกงาน ซึ่งเขาใช้คำว่า “เป็นการแลกโอกาสระหว่างกัน” ด้วยฝั่งเขามีโอกาสจะได้พบคนมีความสามารถ ที่อาจกลายมาเป็นทีมงาน-ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง

ขณะที่ฝั่งของนักศึกษาก็จะได้ความรู้และประสบการณ์จากการทำงานจริง

อีกทั้ง “เป้าหมายเราคืออยากหาคนทำงานรุ่นต่อไป” เขาจึงตั้งใจคัดกรองคนตั้งแต่ด่านแรก โดยให้ผู้สมัครส่งทั้งประวัติ คำแนะนำตัว และผลงาน

บอกด้วยว่า ตอนคิดกันกับปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร โปรดิวเซอร์ของค่าย ก็นึกเพียงว่าจะรับมาฝึกในทีมเขียนบท 5 คน ทีมกำกับฯ อีก 5 คน และ “ถ้ามีคนสมัครสัก 20-30 คน ก็หรูแล้ว”

แต่กลับกลายเป็นว่า มีผู้สมัครถึง 300 คน

ทำให้เริ่มกังวลว่า “ซวยแล้ว”

ที่รู้สึกอย่างนั้น เพราะแต่ละคนส่งทุกอย่างมาแบบจัดเต็ม

“แล้วจะดูไม่ละเอียดก็ไม่ได้ คือถ้าได้อ่านใบสมัคร อ่านที่เขาแนะนำตัว จะรู้สึกว่าน้องเขาตั้งใจ ดูเอาจริง ไม่ใช่อยากจะมาทำเล่นๆ มันมีความฝัน ความอยากจะไปให้ถึง จึงมีความรู้สึกว่าถ้าไม่ดู จะรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง”

แต่ครั้นดูแล้ว “ก็กังวลใจกับน้องๆ ที่ไม่ผ่านเข้ารอบ”

“เพราะรู้สึกว่าเขาคงเสียกำลังใจแน่ๆ”

“จริงๆ เขาก็ดูมีวี่แววว่าจะโตไปเป็นคนทำงานตรงนี้ได้ดีนะ เลยไม่อยากให้เขาท้อแท้”

“อยากบอกน้องๆ ว่า จริงๆ มันไม่ได้จบแค่นี้ฮะ ไม่ใช่แค่ครั้งหนึ่งที่เราแนะนำตัวมา แล้วไม่ได้โอกาสนั้น ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่มีโอกาสในครั้งต่อไป ถ้าเขายังไม่หยุดเดิน พัฒนาตัวเองต่อไป ก็มีโอกาสที่วันหนึ่งเราจะได้เจอกัน และทำงานร่วมกัน หรือน้องเขาอาจจะเติบโตและแข็งแรงในการทำงานด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องกลับมาหาเราแล้วก็ได้”

เขายังเล่าอีกว่า ก่อนหน้านี้เขาเคยเปิดรับสมัครนักแสดง แล้วก็เจอฟีดแบ็กของการมาสมัครแล้วไม่ได้อย่างมากมาย ซึ่งบอกเลยว่า เป็นห่วง

“เขามีท่าทีของการสิ้นหวัง ถอดใจ คือเด็กๆ ทุกวันนี้จะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับสิ่งโน้นสิ่งนี้เต็มไปหมด”

“เคยเจอน้องที่ไดเร็คต์แมสเสจมาหาหลังไอจี คือผมก็เข้าใจ เหมือนเราสมัครงานแล้วไม่ได้ เอนทรานซ์แล้วไม่ติด ก็อกหัก บางคนเสียใจแล้วไม่รู้จะระบายความรู้สึกยังไง ก็เขียนลงไดอารี แล้วก็แชร์ให้ผมอ่าน”

“ไดเร็กต์แมสเสจผมจึงมีคนมาแสดงความรู้สึกเต็มไปหมด ได้ ไม่ได้ ผิดหวัง เสียใจ อยากเป็นนักแสดง อยากเป็นผู้กำกับฯ เลยรู้สึกว่าในวันที่เราประกาศอยากให้เขาสมัคร แล้วเราตัดสินใจให้โอกาสบางคน แต่มีอีกกลุ่มใหญ่มากๆ ที่ไม่ได้รับโอกาสนั้น ก็อยากเชียร์อัพให้อย่าเพิ่งยอมแพ้”

“มันเหมือนเราจะเห็นตัวเองตอนที่เป็นเด็ก ตอนไปสมัครงาน ตอนที่อยากทำตามความฝัน อยากจะแชร์ในฐานะรุ่นพี่ที่อกหักมาหลายรอบ”

บอกแล้วเจ้าตัวก็หัวเราะ

“ผมก็เป็นหนึ่งในเด็กในยุคสมัยที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้วเอ็นทรานซ์ไม่ติด เคยไปสมัครงานในหลายๆ ที่ แล้วก็ไม่ได้ เคยมีความผิดหวังตอนยื่นฝึกงานในบริษัทที่ตัวเองอยากฝึก แล้วไม่ได้รับเลือก รับรู้กระบวนการอกหักมาหลายครั้งมากๆ”

“แต่ในระหว่างที่ไม่ได้โอกาส เราก็ไม่ได้แค่นั่งรอ แต่พยายามพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา แปลว่าจริงๆ เราน่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ น่าจะมีโอกาสดีขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งมันอาจจะมีที่ที่เหมาะสมกับเรา แล้วเราได้ไปทำตรงนั้นจริงๆ คือเหมือนผมจะรู้สึกว่าตัวเองก็เป็นรุ่นพี่ของน้องๆ ที่อกหักนี้เหมือนกัน”

“ก็เลยอยากบอกว่า การที่เขาสมัครมา หรือส่งหนังสั้นเข้าประกวด หรือการที่เขาไม่ได้ถูกรับเลือก มันไม่ได้แปลว่าชีวิตหรือความฝันของเขามันจบลงที่ตรงนี้ ถ้าเขายังไม่หยุด เขาต้องไม่หยุด ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา”

ย้ง ทรงยศ ผู้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในวันนี้ บอกอย่างนั้น