วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /เพลงเพื่อชีวิต–จากเมื่อวานถึงวันนี้

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์   

เพลงเพื่อชีวิต–จากเมื่อวานถึงวันนี้

ใช่แต่เพียง ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ บันทึกอย่างสารคดีสำนวน ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ในหนังสือ “เงา–สีสันของแดด” ชีวิตของ “หงา คาราวาน” เท่านั้น

หนังสือประเภทวิชาการต่อมาเมื่อปี 2559 “วารสารวิชาการ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์” ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2559 ประยูร ลิ้มสุข อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาดนตรีสากล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ เขียนเรื่อง “ดนตรีเพื่อชีวิตวงคาราวาน” ไว้อย่างค่อนข้างละเอียด เป็นเรื่อง กำเนิด “ดนตรีเพื่อชีวิต” ของโลก และของไทย

(ใครที่อยากรู้จักเพลงเพื่อชีวิต โปรดหามาอ่าน หรือเปิดใน “กูเกิล”)

 

ประยูรให้ความหมายของเพลงเพื่อชีวิตไว้ว่า มีเป้าหมายให้เนื้อเพลงตีแผ่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงปลุกใจให้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม

ช่วงปี 2510-2514 สถานการณ์ด้านการเมืองเพิ่มความกดดันมากขึ้น นักแต่งเพลงได้เขียนเพลงเพื่อนำไปขับร้องแสดงออกถึงความทุกข์ของประชาชน มีวงดนตรีเกิดขึ้นเพื่อร้องเพลงเหล่านี้ เช่น วงคาราวาน โดยสุรชัย จันทิมาธร เป็นศิลปินที่รู้จักคุ้นเคย บทเพลงแต่งขึ้นเพื่อเรียกร้องทางการเมือง เป็นเพลงที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เพลงที่ได้รับความนิยมคือเพลงคนกับควาย

…เพลงเพื่อชีวิต เป็นเพลงที่เกิดจากความขัดแย้งทางความคิดของชีวิต เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม การปกครอง วรรณคดี ศาสนา สัจจะแห่งชีวิต ศิลปวัฒนธรรม การศึกษา และความไม่เท่าเทียมกันในสังคม จึงมีการเรียกร้องเพื่อจะเปลี่ยนแปลงสังคมโดยการขับร้องออกมาเป็นเพลง

(สุกรี เจริญสุข, 2538, น.29)

 

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แนวคิดเรื่องศิลปะเพื่อชีวิตได้แพร่กระจายสู่ประชาชนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มนิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไป

เพลงเพื่อชีวิตได้รับอิทธิพลจากเพลงประท้วง (Protest Songs) ในสหรัฐอเมริกา โดยพีท ซีเกอร์ ศิลปินนักดนตรีโฟล์กที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาเพลงสไตล์โฟล์กซองของอเมริกา ได้นำบทกวีของโฮเซ มาร์ตี้ และกวีชาวสเปนชื่อกวนตานาเมรา มาใส่ทำนองให้เป็นบทเพลงที่ระลึกถึงกวีของประชาชน โฮเซ มาร์ตี้ ชาวสเปน สมาชิกและมีบทบาทในขบวนการกู้ชาติปี 1955 ถูกจับกุมและถูกเนรเทศออกนอกประเทศ จึงได้อพยพไปประเทศสหรัฐอเมริกา…

พีท ซีเกอร์ ประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียงคือ Where have all the Flowers Gone, If had a Hammer. ฯลฯ

ช่วงทศวรรษที่ 1970 เกิดกระแสการต่อต้านเรื่องการเมืองและสันติภาพจากคนหนุ่ม-สาวชาวอเมริกัน ซึ่งมีสาเหตุจากการที่รัฐบาลอเมริกันได้ไปก่อสงครามในภูมิภาคทั่วโลก เพื่อแสดงถึงความเป็นผู้นำโลก หรือหัวหน้าของกลุ่มมหาอำนาจใหม่ที่นำหลักการประชาธิปไตยมาใช้ในการบริหารปกครองประเทศ จึงเกิดภาวะการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มประเทศที่นิยมระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยกับประเทศที่นิยมการปกครองแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ ทำให้เยาวชนและประชาชนชาวอเมริกันที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาลต่างพากันลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลอเมริกัน

เช่น การจัดแสดงดนตรีวู้ดสต๊อก (Woodstock) ในชื่อ The Woodstock Music and Art Fair ระหว่างวันที่ 21-23 สิงหาคม ค.ศ.1969 ที่ฟาร์มของแม็ก ยาสเกอร์ มีเยาวชนหนุ่ม-สาวเข้าร่วมงานประมาณ 450,000 คน เพื่อแสดงพลังสนับสนุนแนวคิดเรื่องสันติภาพ ความรัก โดยใช้ดนตรีเป็นสื่อในการสร้างสรรค์ ฯลฯ

ภาพยนตร์และการแสดงดนตรีครั้งนี้ได้นำไปฉายเผยแพร่ทั่วโลก ทำให้การแพร่กระจายไปสู่แนวคิดของนักศึกษาและปัญญาชนชาวไทย นำแนวคิดและวิธีการประท้วงตามแบบของชาวอเมริกันที่ใช้ต่อต้านรัฐบาล

 

สุชาติ สวัสดิ์ศรี และวิทยากร เชียงกูล ได้ติดต่อนำภาพยนตร์เรื่องนี้มาเผยแพร่ในกลุ่มนิสิต-นักศึกษาปัญญาชนหัวก้าวหน้าเพื่อศึกษาและสร้างความรู้สึกร่วมกันเรื่องการต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการของไทยที่สะสมมาตั้งแต่ พ.ศ.2500 และนำแนวคิดไปสร้างวรรณกรรมเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอ

สุรชัย จันทิมาธร นักเขียนอิสระได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ถึง 4 ครั้ง เป็นสาเหตุให้เกิดแรงจูงใจและนำแนวคิดไปใช้ในการประพันธ์เพลงเพื่อนำไปประกอบการประท้วงของนิสิต-นักศึกษา และเรียกเพลงประเภทนี้ว่า “เพลงเพื่อชีวิต”

ช่วงปี พ.ศ.2510-2515 สังคมไทยเกิดความกดดันทางการเมืองมากขึ้น ทำให้มีผู้ประพันธ์เพลงร้องเพื่อระบายความรู้สึกถึงความทุกข์ยากของประชาชนเกิดขึ้น สุรชัย จันทิมาธร วีระศักดิ์ สุนทรศรี นักดนตรีวง ท.เสนและสัญจร ร่วมกับมงคล อุทก ทองกราน ทานา นักดนตรีวงบังคลาเทศแบนด์ จากวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา ร่วมกันจัดตั้งวงดนตรีเพื่อชีวิต วงคาราวาน เพื่อแสดงร่วมกับการจัดกิจกรรมของนิสิต-นักศึกษาในการแสดงนิทรรศการ การเปิดเวทีอภิปราย และการจัดกิจกรรมประท้วงรัฐบาลทั้งช่วงก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516

สุรชัย จันทิมาธร มีพื้นฐานการเล่นดนตรีเป็นนักเป่าแคลริเน็ตในวัยเด็ก เมื่อเข้าเป็นสมาชิกชมรมพระจันทร์เสี้ยวได้เริ่มศึกษาและฝึกเล่นกีตาร์กับมโนภาพ เนาวรังษี ได้ฟังเพลงประท้วงของโจน บาเอช บ๊อบ ดีแลน ไซมอน แอนด์ การ์ฟังเกล และโดโนแวน เกิดความประทับใจทั้งเนื้อร้องและทำนอง จึงได้เริ่มฝึกและเล่นเพลงของศิลปินดังกล่าว และนำมาสร้างสรรค์ประพันธ์เพลงเพื่อชีวิตในเวลาต่อมา

วีระศักดิ์ สุนทรศรี พบกับสุรชัย จันทิมาธร ขณะเป็นสมาชิกกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว ใช้นามปากกาว่าสัญจร ขณะที่สุรชัย จันทิมาธร ใช้นามปากกาว่า ท.เสน แสดงดนตรีครั้งแรกในงานมหกรรมเพลงเพื่อชีวิต ณ หอประชุมธรรมศาสตร์ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจัดขึ้น ใช้ชื่อการแสดงว่า ท.เสนและสัญจร

ช่วงปี พ.ศ.2481-2490 นาถ ถาวรบุตร แบ่งเพลงไทยสากลเป็น 3 ประเภท… เพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึงการดำรงชีวิตของชาวชนบทมีวิถีทางแตกต่างกับคนในสังคมเมือง ความทุกข์ของชาวชนบทที่ถูกนายทุนเอารัดเอาเปรียบและความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้ภาษาเข้าใจง่าย เสียดสีบุคคลในระบบการเมืองการปกครอง เรียกว่า “เพลงเพื่อชีวิต”