จักรกฤษณ์ สิริริน : ก้าวสู่โลกยุค “โทรจิต”

แม้ช่วงนี้ข่าวคราวเกี่ยวกับ COVID-19 ในบ้านเราดูเหมือนจะซาลงไปเล็กน้อย แต่สำหรับในต่างประเทศแล้ว เรื่องราวของ COVID ยังเป็นประเด็นใหญ่ในหน้าสื่ออย่างมากครับ

ในยุค “ชีวิตวิถีใหม่” หรือ New Normal แบบนี้ หน่วยงานต่างชาติหลายแห่งได้พากันคิดค้นและออกมาตรการใหม่ๆ เพื่อหวังบรรเทาเบาบางสถานการณ์การแพร่เชื้อไวรัส COVID-19

ดังเช่น สายการบิน Delta ที่ได้นำระบบ Biometric ผ่านเทคโนโลยี Scan จับภาพใบหน้าผู้โดยสารเพื่อยืนยันบุคคล แทนการใช้ Boarding Pass (ใบผ่านขึ้นเครื่อง) ทั้งเที่ยวบินในประเทศ และเที่ยวบินระหว่างประเทศ

โดย Delta Air Lines ได้ลงทุนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ที่ Atlanta ซึ่งติดตั้งระบบ Biometric และใช้เทคโนโลยี VeriScan แบบ 100% ซึ่งนับเป็นสายการบินแห่งแรกของสหรัฐที่ใช้ระบบนี้เลยทีเดียว

นี่คือตัวอย่างสำคัญของการนำ “เทคโนโลยีไร้สัมผัส” มาให้บริการในอุตสาหกรรมการบินยุค COVID-19 ครับ

 

นอกจากสายการบิน Delta แล้ว ท่าอากาศยานนานาชาติ Dallas/Fort Worth หรือ DFW ได้ร่วมมือกับสายการบิน American ทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ เน้นไปที่มาตรการ Self-service หรือการให้ลูกค้าทำธุรกรรมต่างๆ ด้วยตนเองเช่นกัน

Sean Donohue ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ DFW บอกว่า ปัญหาที่ DFW ได้รับเรื่องร้องเรียนจากลูกค้าเข้ามามากที่สุดก็คือ เรื่องความสะอาดของ “ห้องน้ำ”

“ทาง DFW เราจึงได้ออกนโยบายเร่งด่วน ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการในห้องน้ำใหม่ทั้งหมดให้เป็นระบบไร้สัมผัส โดยกำหนดให้ระบบเสร็จสิ้นสมบูรณ์และพร้อมให้บริการแบบ 100% ในราวต้นเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.2020” Sean กระชุ่น

ส่วนระบบ Check-in และการโหลดสัมภาระนั้นจะเป็นเฟสต่อไป ที่ทาง DFW ได้ร่วมมือกับ American Airlines ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง Sean ระบุ

Sean Donohue กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากห้องน้ำ ระบบ Check-in และการโหลดสัมภาระแล้ว ทาง DFW กำลังทำการทดสอบเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะนำมาช่วยในการให้บริการแก่ผู้โดยสารด้วย

“เรากำลังทำการประเมินอย่างเร่งด่วนในเรื่องของการนำเอารังสีอัลตราไวโอเลต หรือ UV (Ultra Violet) ที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ เข้ามาใช้ให้มากที่สุด โดยเฉพาะระบบดักจับและทำลายเชื้อโรค ก่อนที่พวกมันจะไหลเวียนเข้าไปในระบบ HVAC” Sean บอก

โดยระบบ HVAC นั้น ย่อมาจาก H หรือ Heating (ระบบทำความร้อน) V หรือ Ventilation (ระบบระบายอากาศ) AC หรือ Air Conditioning (ระบบปรับอากาศ) ครับ

Sean Donohue กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมา DFW ได้ลงทุนงบประมาณไปมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ สำหรับการนำ “เทคโนโลยีไร้สัมผัส” มาให้บริการในยุค COVID

“โดยเฉพาะระบบการรักษาความสะอาดทุกจุดภายในสนามบิน ซึ่งทางเราได้สั่งระงับโครงการอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น พร้อมลดต้นทุนการดำเนินงานในครึ่งปีหลังของ ค.ศ.2020 ลงไปอีกประมาณ 20% เพื่อรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19” Sean กล่าว และว่า

ที่สำคัญที่สุดก็คือ การนำ “เทคโนโลยีไร้สัมผัส” สำหรับการตรวจวัดอุณหภูมิพนักงานของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเน้นเป็นพิเศษเช่นกัน Sean Donohue สรุป

 

จากตัวอย่างที่ยกมาของท่าอากาศยานและสายการบินชั้นนำของโลก ที่ได้นำเอา “เทคโนโลยีไร้สัมผัส” มาปรับประยุกต์ใช้ในยุค COVID นี้

ทำให้ผมนึกเปรียบเทียบไปถึงการสื่อสารที่หลายคนคิดว่า มันคงเป็นเพียงเรื่องราวในจินตนาการ นั่นก็คือ “โทรจิต” หรือ Telepathy

คำว่า Telepathy นี้ เป็นศัพท์ที่ Frederic William Henry Myers นักวิชาการชื่อดังแห่ง Society for Psychical Research เป็นผู้บัญญัติขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1882 ครับ

Frederic อธิบายว่า Telepathy หรือ “โทรจิต” คือการส่งข้อมูลจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง โดยไม่ผ่านประสาทสัมผัส หรือมีปฏิกิริยาทางกายใดๆ ต่อกันเลย

การนำ “เทคโนโลยีไร้สัมผัส” อาทิ ระบบ Biometric มาใช้แทนการแสดง Boarding Pass ก่อนเข้า Gate ที่สนามบินก็ดี

การใช้ Mobile Banking หรือโทรศัพท์มือถือพ่วงกับบัญชีธนาคาร ยิง Barcode เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการโดยไม่ต้องใช้มือจับเงินก็ดี

หรือการใช้เสียงสั่งการ และไถ่ถามปัญหาต่างๆ กับ Siri ใน iPhone ก็ดี

ทั้งหมดนี้ ดูเหมือนว่า ต่างก็เป็นการนำ “เทคโนโลยี” มาเป็นสื่อกลางแทนการแสดงออกทั้งทางร่างกายและทางความคิดทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี Functional Neuroimaging หรือการเชื่อมประสานสมองเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ (Brain-Computer Interface) เพื่อแสดงภาพ “กระบวนการประมวลข้อมูลของสมอง”

โดยใช้วิธีการแปลงคลื่นสมองให้ออกมาเป็นข้อมูล เพื่อถ่ายทอดความคิดของบุคคลหนึ่ง ที่ส่งตรงไปยังอีกบุคคลหนึ่ง

 

ข้อมูลหลายแหล่งชี้ตรงว่า ขณะนี้อาจมีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้สำหรับการ “อ่านใจคน” แล้ว!

กรณีนี้ เคยมีตัวอย่างทางรูปธรรม ที่ Washington University ได้เคยประกาศความสำเร็จจากการทดลอง “ส่งกระแสจิต”

โดยให้บุคคลต้นทางจัดแจงสวม “หมวกวิเศษ” ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เมื่อบุคคลต้นทาง “คิด” ว่า “จะขยับนิ้วมือ”

คลื่นสมองของเขาก็จะถูกส่งผ่านระบบอินเตอร์เน็ตไปยังบุคคลปลายทาง ส่งผลให้บุคคลปลายทาง “ขยับนิ้วมือ” พิมพ์ตัวอักษรลงไปบนแป้นคีย์บอร์ด “ตามความคิดที่บุคคลต้นทางต้องการ”

ใช่หรือไม่ว่า ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น ล้วนเป็นภาพแสดงแทนว่าโลกของเราใบนี้กำลังก้าวเข้าสู่ยุคทองของ “โทรจิต”

 

อีกรูปธรรมหนึ่ง ซึ่งน่าจะยืนยันความชัดเจนของการเปิดโลกสู่ยุค “โทรจิต” ก็คือ โครงการ Silent Speech System ของ Facebook

Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook บอกว่า ขณะนี้เรากำลังเร่งพัฒนาระบบ “พูดไร้เสียง” หรือ Silent Speech System กันอย่างเต็มกำลัง

Silent Speech System ทำงานโดยอาศัย Sensor รับสัญญาณจากคลื่นสมองของบุคคลต้นทาง จากนั้นนำมาถอดรหัส และแปลงคลื่นสมองนั้นออกมาเป็นข้อความ หรือ Text โดยแสดงผลผ่านระบบ AR (Augmented Reality) และส่งไปยังอุปกรณ์ของบุคคลปลายทาง

ในฝั่งของบุคคลปลายทาง ก็จะมี Sensor เพื่อใช้สำหรับรับข้อมูลเช่นกัน แต่จะเป็น Vibrotactile Sensor หรือ “Sensor แบบสั่น” ที่ต้องทำการฝัง Sensor ลงไปใต้ผิวหนัง

หน้าที่ของ Vibrotactile Sensor คือสร้างความสั่นสะเทือนหลายแบบ โดยกำหนดเป็นความถี่ต่างๆ คล้ายกับการทำหน้าที่ของ “หูชั้นใน” จากนั้นก็จะทำการส่งสัญญาณให้สมองรับรู้ถึงคำ หรือ Text ที่บุคคลต้นทางสื่อสารผ่านมา

Mark กระชุ่นว่า หากทาง Facebook พัฒนา Silent Speech System จนเสร็จสิ้น มันจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้พิการทางการได้ยินและผู้พิการทางสายตา ให้สามารถรับรู้และสื่อสารได้ แทน Function การได้ยิน หรือการมองเห็นแบบเก่าของมนุษย์

นอกจากนี้ Mark Zuckerberg ยังมองไกลถึงการต่อยอด Silent Speech System ไปสู่ Mind-Reading Machine หรือ “เครื่องอ่านใจ”

ที่เปิดกว้างให้ผู้คนต่างชาติต่างภาษาสามารถส่งผ่าน “ความคิด” สู่กันและกัน โดยที่ไม่ต้องเอื้อนเอ่ยอะไรออกมาแม้แต่คำเดียว!

ที่สำคัญที่สุดก็คือ คนเหล่านั้นสามารถสื่อสารกันรู้เรื่อง แม้จะไม่ได้ใช้ภาษาเดียวกันก็ตาม!