คุยกับ “นิธิ” “ชาติ” ที่ไม่ใช่ของ “เรา” และ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่จะ “แรง-เร็ว”

สังคมไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 กำลังเผชิญหน้าความท้าทายทั้งในทาง “เศรษฐกิจ” และ “การเมือง”

ข่าวการปรับ ครม. โดยใช้ “ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่” ของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูจะไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนได้มากนัก

ขณะเดียวกับ “ม็อบเยาวชนปลดแอก” ที่กำลังจะขยายตัวเป็น “คณะประชาชนปลดแอก” ก็ผุดขึ้นทั่วประเทศ

ล่าสุดกระบวนการยุติธรรมก็กำลังถูกตั้งคำถามจากภาคประชาสังคมอย่างรุนแรง

ทั้งหมดส่งผลให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อภาครัฐทั้งกระบวนอย่างหนักหน่วง

เมื่อเร็วๆ นี้ทีมข่าวการเมืองมติชนทีวีได้สัมภาษณ์ “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ปัญญาชนอาวุโสคนสำคัญของประเทศ บทสนทนาครานั้นมีเนื้อหาครอบคลุมสารพันปัญหาข้างต้นโดยครบถ้วน

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

: การเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล จะช่วยแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจได้หรือไม่?

ไม่มีทางเลย หลายคนรู้และพูดกันอยู่เสมอว่าคนที่จะมาทำงานในทีมเศรษฐกิจ จะต้องสามารถบอกให้นายกฯ เงียบได้ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ทีมแรกจนถึงทีมสุดท้ายไม่มีใครสามารถบอกนายกฯ ให้เงียบแล้วฟังคนอื่น กลุ่มที่เข้ามาใหม่ก็เป็นความหวังในการที่จะบอกให้นายกฯ เงียบไม่ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมคิดว่าไม่มีทางเลย เพราะว่าการจะกู้ฟื้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ ต้องทำอะไรหลายอย่างที่มันอาจจะสร้างความไม่พอใจในทางการเมืองและอื่นๆ เยอะแยะมาก ไม่รู้ว่านายกฯ พร้อมที่จะรับความเสี่ยงหรือไม่

หมายถึงความเสี่ยงทางการเมือง เช่น เป็นต้นว่าแจกเงิน (ประชาชน) ต่อไปไม่มีประโยชน์แล้ว คนที่จะมาทำเรื่องเศรษฐกิจต้องบอกท่านนายกฯ ว่าให้หยุดการแจกเงิน แต่ให้รักษาการจ้างงาน ขยายการจ้างงาน จะเป็นผลดีมากกว่าการแจกเงิน

: ถ้ารัฐบาลประยุทธ์อยู่ยาวครบวาระ 4 ปี เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร?

ปัญหาของเศรษฐกิจไทยมีมาก่อนหน้าโควิด-19 ถึงไม่มีโควิด-19 ในระยะยาวอีก 5 ปี 10 ปี จะเห็นได้ว่าทุนทิ้งประเทศไทย เพราะว่าเป็นประเทศที่ให้กำไร ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าประเทศเช่นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย

เพราะฉะนั้น อย่าไปพูดถึงว่าคุณประยุทธ์อยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อ ไม่ว่าใครก็แล้วแต่จะประคองประเทศไทยให้ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ ต้องใช้เวลาที่นาน ต้องมีความยืดหยุ่น ความชำนาญในการทำการเมืองได้ดีด้วย

: จุดจบของรัฐบาลประยุทธ์อาจมาจากวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตการเมืองหลังโควิด-19?

ทั้ง 2 อย่าง จะเห็นว่าโควิด-19 มาช่วยคุณประยุทธ์ เมื่อนักศึกษาเคลื่อนไหวเอาไม่อยู่แล้ว ถ้าโควิด-19 ไม่มา ผมเชื่อว่าประชาชนจะเข้าร่วมกับนักศึกษาแน่นอน มากด้วย เพราะปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ผสมปนเปกัน

หันไปดูเรื่องของนักศึกษา ทำไมนักศึกษาต้องออกมาเคลื่อนไหว เพราะตัวเขาเองก็บอกอยู่ว่า (สถานการณ์ตอนนี้) ทำลายอนาคตเขา เมื่อเรียนจบแล้วไม่รู้จะไปหางานทำที่ไหน

: ถ้าโควิด-19 หยุดระบาดแล้ว รัฐบาลประยุทธ์อาจอยู่ต่อไม่ได้?

โรค (ยัง) ไม่สงบก็ได้ แต่เมื่อไหร่ที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (รัฐบาลจะลำบาก) อย่าลืมว่าเวลาที่นักศึกษาเคลื่อนไหวหรือกลุ่มต่อต้านเคลื่อนไหว สิ่งที่เขาต้องการเอาชนะไม่ใช่คุณประยุทธ์ แต่คือเอาชนะคนที่ยังไม่ออกมาเคลื่อนไหวด้วย

เขาต้องการทำให้คนที่ไม่ได้มาร่วมเคลื่อนไหวด้วยหรือประชาชนเห็นว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นไปด้วยความรับผิดชอบ ประชาชนต้องเห็นว่าการประท้วงครั้งนี้ไม่ได้เป็นการทำร้ายประชาชน

ฉะนั้น ผมคิดว่าโรคจะอยู่ก็ได้ เพราะคนที่ออกมาประท้วงมีวิธีการที่จะทำให้โรคไม่ระบาดจากตัวของพวกเขา

: ระยะยาวพรรคพลังประชารัฐจะเป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษนิยมได้หรือไม่?

ตอบยากอยู่เหมือนกัน เพราะผมเชื่อว่ากลุ่มอนุรักษนิยมในประเทศไทยคิดไม่ตกมองไม่ชัดในเวลานี้ว่าอนาคตจะเดินอย่างไร พรรคพลังประชารัฐไม่ได้บอกเหมือนกันว่าจะเดินหน้าอย่างไร และในพรรคก็มีทั้งอนุรักษนิยม ตรงกลาง แล้วก็พยายามก้าวหน้า

ถ้าอยากจะเป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษนิยมก็เป็นได้ แต่คำถามคือว่า แล้วจะเสนออนาคตอะไร ในขณะที่กลุ่มอนุรักษนิยมในประเทศไทยก็มองไม่เห็นเหมือนกันว่าตัวเองต้องการอนาคตอะไร

: มองการพยายามโยนหินถามทางเรื่องนิรโทษกรรมอย่างไร?

ผมคิดว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นข้อเสนอที่คาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนทางการเมืองจากทุกฝ่าย แต่จริงหรือไม่นั้นผมไม่ทราบนะ เพราะฉะนั้น จะถูกเสนอเป็นครั้งคราวอยู่ตลอดเวลา ด้วยความหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนทางการเมือง

: เอาเข้าจริง การนิรโทษกรรมจะลดความขัดแย้งในสังคมได้จริงหรือ?

สิ่งที่จะแก้ปัญหาเรื่องความแตกแยกในสังคมไทยได้ดีที่สุดคือความยุติธรรม คือกฎเกณฑ์ที่ถูกใช้อย่างยุติธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่เรื่องความไม่มีความขัดแย้ง มันจะมีหรือสังคมในโลกนี้ที่ไม่มีความขัดแย้ง

แต่เกิดความขัดแย้งแล้ว ถ้าละเมิดกติกาไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนต้องโดนลงโทษ ถ้าทำอย่างนี้มาตั้งแต่ต้น ผมเชื่อว่าความขัดแย้งถึงมีก็ไม่เป็นไร

ในทางตรงกันข้าม ถ้านิรโทษกรรมด้วยการบอกว่าเริ่มนับ 1 กันใหม่ แต่ยังทำแบบไม่ยุติธรรมต่อไป ความขัดแย้งเกิดขึ้นอีกแน่นอน การนิรโทษกรรมไม่ได้แก้ไขความขัดแย้งในสังคมได้ การจะแก้ความขัดแย้งได้คือกลับมาสู่มาตรฐานที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ไม่ไว้หน้าใคร ไม่ลูบหน้าปะจมูก

สิ่งเหล่านี้ต่างหากจะทำให้คนไทยขัดแย้งกันโดยไม่แตกแยกได้

ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายต่อฝ่ายประชาธิปไตยจะเคร่งครัดกว่า แต่เมื่อไหร่ที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย เมื่อนั้นต่อให้ละเมิดกฎหมายก็สามารถลอยนวลได้ ในประเทศไทย 10 ปีที่ผ่านมา มีการลอยนวลของคนที่ละเมิดกฎหมายไปเท่าไหร่ และการลงโทษคนที่ไม่ได้ละเมิดกฎหมายอีกเท่าไหร่

คนที่ถูกกล่าวหาว่าเผาศาลากลางในภาคอีสานติดคุก 3 ปี 4 ปี กว่าศาลจะยกฟ้อง สิ่งเหล่านี้อย่าทำ ใครทำผิดต้องลงโทษ ใครไม่ผิดอย่าไปรังแก

สังคมทุกสังคมในโลกมันถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแรงๆ อยู่เป็นครั้งเป็นคราวเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อไหร่ที่เกิดการเปลี่ยนแรงๆ หลังจากเปลี่ยนต้องประนีประนอม ปัญหาคือว่าถ้าปล่อยให้สังคมแตกแยก ถึงเวลาจะเปลี่ยนแทนที่จะประนีประนอมกัน แต่กลับพร้อมที่จะฆ่ากันเอง เลยนองเลือดไปใหญ่

: จุดเปลี่ยนการเมืองไทย จะได้เห็นเมื่อไหร่?

เห็นด้วยไหมว่าประเทศไทยจะอยู่อย่างนี้ต่อไปเกิน 2 ปีไม่ได้ ตอนที่มันจะเปลี่ยน มันจะเปลี่ยนแรงและเร็วแค่ไหน ในทัศนะผม แรงและเร็วอย่างที่เราไม่เคยเจอมาก่อน

ยิ่งกว่า 14 ตุลาคม 2516 ยิ่งกว่าพฤษภาคม 2535 และด้วยเหตุดังนั้น ผมคิดว่าถึงตอนนั้นต้องนับ 1 ใหม่ในหลายเรื่อง

ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนิรโทษกรรมทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ที่ผ่านมาเราอยู่ในประเทศที่คนจำนวนมากไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ซึ่งมันอยู่ไม่ได้ ต้องมีการรื้อใหญ่กระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องแน่นอนที่สุด

: การพยายามประนีประนอม ณ ตอนนี้ จะยับยั้งความรุนแรงได้หรือไม่?

ไม่มีทางเป็นไปได้ เวลานี้ประเทศเราหมดสิ้นแล้ว เพราะคนไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรม ไม่เชื่อในรัฐบาล เพราะฉะนั้น ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะอยู่ในสภาพนี้ไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ที่สังคมไหนจะอยู่ได้ในสภาพนี้ ในเวลาที่ไม่ศรัทธาอะไรสักอย่างแล้ว

: การเปลี่ยนแปลงในอีก 2 ปี จะนำไปสู่การจัดดุลยภาพใหม่ในสังคมไทยครั้งใหญ่?

จัดใหม่แต่ว่าไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนจัด และผมหวังว่าจะมีการจัดโดยประนีประนอมกัน แต่ที่เกรงก็คือว่า กว่าจะประนีประนอมกันได้จะนองเลือดเสียก่อน นองเลือดจนทุกฝ่ายเข็ดถึงจะประนีประนอมกันได้

: ข้อเสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาติเป็นไปได้ไหม?

ยิ่งฉิบหายใหญ่ คือเริ่มต้นจากชาติของเรา มันไม่ใช่ชาติในความหมายว่าประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ พอไม่จริง รัฐบาลแห่งชาติมันเลยเป็นของคนจำนวนยิ่งน้อยลง รัฐบาลธรรมดาที่ไม่เป็นแห่งชาติ ประชาชนเป็นเจ้าของมากกว่า

ปกติคำว่าแห่งชาติแปลว่าทุกคนเป็นเจ้าของ แต่คำว่าแห่งชาติของประเทศไทยไม่ใช่ มันตรงกันข้าม คนเป็นเจ้าของน้อยลง

: ทำไมประชาธิปไตยไทยยังล้มลุกคลุกคลานแม้จะมีอายุ 88 ปีแล้ว?

มีหลายสาเหตุ เรื่องชาติก็คืออีกหนึ่งเรื่อง เมื่อไหร่ที่เราพูดถึงชาติ เมื่อนั้นเรากำลังพูดถึงประชาชนที่เท่าเทียมกัน ความคิดประชาธิปไตยมันมากับชาติด้วยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ถ้ามีแต่ชาติโดยไม่มีความเสมอภาค มันไม่ใช่ชาติ

มันเป็นของมึง ไม่ใช่ของเรา