“แชมป์ กรวีร์-แบด ภราดร” อดีตนายก อมธ.-ปธ.สภา นศ.มธ. ลูกชาย “เฮียตือ” คนเดือนตุลา นำทัพสภาคุยนิสิต-นักศึกษา

กระแสการชุมนุมแฟลชม็อบของนิสิต-นักศึกษา เริ่มต้นจากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ “ทหารอียิปต์” ที่ จ.ระยอง ในการชี้ถึงความบกพร่องของรัฐบาล และการคุมตัว 2 นักศึกษาที่ถือป้ายประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ขณะลงพื้นที่ จึงเกิดกระแสในโซเชียลขึ้นมา

นำมาสู่การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในนามกลุ่มเยาวชนปลดแอก จึงเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ระยองเอฟเฟ็กต์” เปรียบเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่ทำให้ไฟลามทุ่ง เกิด “แฟลชม็อบ” ที่ดาวกระจายไปทั่วประเทศ

นำมาสู่กลไกในรัฐสภาในการ “นำฟืนออกจากกองไฟ” ให้ ส.ส.ได้อภิปรายในเรื่องนี้ จนนำมาสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ขึ้นมา

ทว่าเกมนี้ฝ่ายค้านไม่ร่วมสังฆกรรมใน กมธ.ชุดดังกล่าว เพราะมองว่าเป็นการ “ยื้อเวลา-เตะถ่วง” และไม่ต้องการเป็น “นั่งร้าน” ให้กับรัฐบาล อีกทั้งต้องการให้นายกฯ ไปรับฟังนิสิต-นักศึกษาบนถนนด้วยตัวเอง ไม่ใช่ผ่านสภา

แต่ด้วยรัฐบาลครองเสียงข้างมากจึงสามารถตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าวขึ้นมาได้ เพื่อลดอุณหภูมิบนถนนลงไป โดยมีกรอบการทำงาน 90 วัน แต่ทาง กมธ.ระบุว่า หากดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายใน 30-45 วัน ก็จะเป็นเรื่องที่ดี

นอกเหนือการรับฟังความเห็นคนรุ่นใหม่แล้ว ทาง กมธ.จะเชิญตัวแทนหน่วยงานความมั่นคงเพื่อหารือในเรื่องการดูแลความปลอดภัยนักเรียน-นักศึกษาที่มาแสดงความคิดเห็น

รวมทั้งเชิญผู้ที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองในเหตุการณ์สำคัญร่วมหารือด้วย

ในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลเสนอชื่อในโควต้าของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “คนรุ่นรอยต่อ” ระหว่าง “คนรุ่นใหม่” กับ “คนรุ่นผู้ใหญ่” โดยมี “แบด” ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน กมธ. หากย้อนโปรไฟล์พบว่าเคยเป็นอดีตแกนนำนักศึกษาสมัยเรียนคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในตำแหน่งประธานสภานักศึกษา มธ. ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

อีกคนที่รับหน้าที่ “โทรโข่ง” ให้กับ กมธ. คือ “แชมป์” กรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งหากย้อนดูแนวคิดของคู่พี่น้อง “แบด-แชมป์” จะพบว่าออกตัวชัดเจนในจุดยืนสนับสนุนการออกมาของกลุ่มนิสิต-นักศึกษา

ซึ่ง “แชมป์ กรวีร์” สมัยเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นนายกองค์การนักศึกษา หรือ อมธ. มาก่อน

แน่นอนว่าในช่วง 20 ปี สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย มีเหตุการณ์รัฐประหาร 2 ครั้ง ใช้รัฐธรรมนูญรวม 3 ฉบับ เทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาขึ้น สงครามสีเสื้อ ระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ กับ นปช. ล้วนมีผลต่อแนวทางเคลื่อนไหวทางการเมืองของ “คนรุ่นใหม่” ยุคปัจจุบัน

“แชมป์ กรวีร์” เล่าว่า สมัยตนเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ได้ขึ้นเป็นนายก อมธ. ช่วงปี 2545 ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร การเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษายุคนั้น หากเปรียบเทียบกับยุคนี้ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีมากกว่าในอดีต

โดยประเด็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษายุคนี้มีความกล้าหาญมากกว่าในยุคนั้น ที่พูดถึงเรื่องการยุบสภาและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รวมพลังขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วผ่านโซเชียลมีเดีย ที่ทำได้ง่ายและกว้างขวาง ส่งผลทำให้การมีส่วนร่วมเกิดขึ้นมากตามไปด้วย

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าพลังโซเชียลคือ “สำนึกของนักศึกษา” ในยุคนี้ ที่มากกว่าในอดีต

“แชมป์ กรวีร์” เล่าอีกว่า ในสมัยที่ตนเป็นนายก อมธ. การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นเพียงเรื่องภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น

เช่น กรณีการย้ายการเรียนการสอนจากศูนย์ท่าพระจันทร์มายังศูนย์รังสิต, การเลือกอธิการบดีและสภามหาวิทยาลัย ที่เป็นเพียงการสลับกันเกาหลัง เป็นต้น

อีกทั้งบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป โดยในขณะนั้นอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ที่เพิ่งใช้มาได้ไม่กี่ปี

รวมทั้งยังไม่มีกระแสการเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ หรือความไม่เป็นประชาธิปไตย

เพราะในขณะนั้นถือว่ามีประชาธิปไตยมาก

เห็นได้จากฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลที่มีอำนาจเด็ดขาด

ส่วน “แบด ภราดร” มองว่า กระบวนการต่อสู้ของนักศึกษามีมาทุกยุคทุกสมัย แล้วแต่สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นเป็นอย่างไร

แต่ในสมัยตนสถานการณ์อาจจะไม่ค่อยรุนแรงเหมือนสมัยนี้ มีเพียงการต่อสู้เรียกร้องที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย เช่น การย้ายหรือไม่ย้ายจากศูนย์ท่าพระจันทร์ไปศูนย์รังสิต เราก็มีการชุมนุมเรียกร้องตามสิทธินักศึกษาควรจะทำ

โดยทั้ง “แชมป์ กรวีร์” และ “แบด ภราดร” เป็นลูกชาย “เฮียตือ” สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ซึ่งเป็น “คนเดือนตุลา” ที่ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ทว่าลูกชายทั้ง 2 คนกลับไม่ได้รับ “อิทธิพลทางความคิด” มาทั้งหมด ซึ่ง “เฮียตือ” ทำเพียงการเล่าเรื่องในอดีตให้ฟังเท่านั้น

“แชมป์ กรวีร์” เล่าว่า คุณพ่อเล่าเพียงประสบการณ์ในอดีตให้ฟังเท่านั้น เช่น การไฮด์ปาร์กและหนีเข้าป่า โดยในยุคนั้น เป็นยุคเผด็จการ นักศึกษามองว่าที่มานายกฯ ไม่ถูกต้อง โดยตนกับคุณพ่อไม่ได้พูดคุยในรายละเอียดเท่าใดนัก

ส่วนจุดยืนเรื่องประชาธิปไตยของบ้านปริศนานันทกุลนั้น “แบด ภราดร” มองว่า “ผมคิดว่าพวกเราเข้าใจในเจตนารมณ์ของน้องๆ และเข้าใจในบริบทของสังคม และบ้านเราไม่เคยที่จะบังคับขู่เข็ญกัน คุณพ่อไม่เคยบอกให้ทำแบบนู้นแบบนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ติดตัวในเรื่องสิทธิ เรื่องเสรีภาพ ที่เป็นเรื่องสำคัญ และควรให้โอกาสอย่างเท่าเทียมกัน”

ส่วนได้รับอิทธิพลทางความคิดจากคุณพ่อหรือไม่ “แบด ภราดร” บอกว่า “จะพูดแบบนั้นก็น่าจะพูดได้ เพราะคุณพ่อก็เป็นนักเคลื่อนไหวในยุคเดือนตุลาทั้ง 2 ครั้ง ก็อาจมีการส่งผ่านทางวิธีการอบรมสั่งสอนหรือการพูดคุยในประเด็นการเมือง”

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า “เฮียตือ สมศักดิ์” ไม่ได้มีอิทธิพลทางความคิดกับลูกชายทั้ง 2 คนมากนัก แต่สิ่งที่ “แบด-แชมป์” ได้ กล่าวคือบริบททางการเมืองช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนแปลงอย่างมาก การเมืองของนิสิต-นักศึกษาไม่ได้เป็นเพียงเรื่องในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น

แต่สิ่งที่บีบให้ “พลังคนหนุ่ม-สาว” หรือคนรุ่นใหม่ออกมานั้น ต้องยอมรับว่าบริบททางการเมืองเป็นแรงบีบสำคัญ เช่น ความชอบธรรมของรัฐบาลในยุคนั้นๆ โดยเฉพาะยุคที่ปกครองโดยทหารหรือเป็นผลพวงการจากสืบทอดอำนาจ เช่น ยุคเดือนตุลา กระแสเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เรื่อยมาถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เป็นต้น

ทั้งนี้ “คนรุ่นใหม่” ยุคนี้ เติบโตผ่านเหตุการณ์รัฐประหารอย่างเด่นชัด 2 ครั้งคือ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557 ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสีเสื้อที่ยาวนานนับสิบปี เกิดการสลายการชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งเห็นภาพการเมืองแบบเก่าๆ ในสภา เป็นต้น

อีกทั้งจุดตัดสำคัญของการเกิดขึ้นของแฟลชม็อบ คือการยุบพรรคอนาคตใหม่และการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา ที่ถูกมองว่าเป็น “มวยล้มต้มคนดู” ที่ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่มองว่าการต่อสู้ในสภาเป็นไปได้ยาก ตามมาด้วยเหตุการณ์ “วีไอพีโควิด”

ต่อด้วยเหตุการณ์ “กระทิงทองหล่อ” ที่ยิ่งตอกย้ำเรื่องความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ภายใต้ “สังคมอภิสิทธิ์ชน” นั่นเอง

แน่นอนว่า พล.อ.ประยุทธ์เห็นถึง “สัญญาณเปราะบาง” นี้ดี จึงไม่ใช่เพียงใช้กลไกสภาตั้ง กมธ.รับฟังความเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษาฯ เท่านั้น แต่ได้สั่งการในที่ประชุม ครม. ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเตรียมจัดเวทีรับฟังความเห็นในเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีสภาพัฒน์เป็นเจ้าภาพหลัก

ทั้งหมดนี้จึงเป็นกลไกควบคู่ระหว่างสภาและรัฐบาลในการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้สะท้อนความคิดออกมา

ซึ่งงานนี้ถือเป็นบทพิสูจน์ของ “แบด ภราดร” ในฐานะแม่ทัพฝั่งสภา จะมีบทสรุปอย่างไร

ท่ามกลางคำครหาตั้งแต่เริ่มต้นว่า “ปาหี่ซื้อเวลา” เท่านั้น อีกทั้งเรื่อง “ความชอบธรรม” ของ กมธ.ชุดนี้ด้วย เพราะไม่มีฝ่ายค้านเข้าร่วม

รวมทั้งบทบาทของ “แชมป์ กรวีร์” ในฐานะโฆษก กมธ. ที่ได้นำทีมลงพื้นที่ไปรับฟังความเห็นแฟลชม็อบในพื้นที่ต่างๆ แล้ว รวมทั้งเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์ด้วย

ถือเป็นงานใหญ่ของ 2 พี่น้อง “บ้านปริศนานันทกุล” ที่ต้องจับตาให้ดี เพราะอยู่ในกลุ่ม ส.ส.ที่ถูกจับตาอนาคตทางการเมืองด้วย

โดยเป็นกลุ่ม ส.ส.คนรุ่นใหม่จากหลายพรรคที่รวมตัวกันแนบแน่น ซึ่งหลายคนในกลุ่มนี้ก็ได้รับมอบหมายหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญทั้งในสภาและพรรคการเมือง

เรียกได้ว่า งานนี้ใช้คนตรงกับงาน!!